สจล. ผนึกกำลังเขตลาดกระบังและพันธมิตร ลงนาม MOU เดินหน้าโครงการ “ลาดกระบังไม่เทรวม” ตั้งเป้าลดขยะ 30% ภายในปี 2568
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตลาดกระบัง (คคพ.) เครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ และบริษัท เวสท์บาย เดลิเวอรี่ จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร “ลาดกระบังไม่เทรวม” ณ สำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMUTL Lifelong Learning Center: KLLC) โดยตั้งเป้าลดปริมาณขยะให้ได้ 30% ภายในปี 2568
พิธีลงนามได้รับเกียรติจาก นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา (ดร.จอห์น) ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานและมอบนโยบาย “บ้านนี้ไม่เทรวม” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกรุงเทพมหานครที่มุ่งส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมด้วย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล., ผศ. ดร.ชดชนก อัฑฒพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สจล., ดร.บำรุง ตั้งสง่า ประธาน คคพ., นายธราพงษ์ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง และ ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ผู้บริหารจากบริษัท เวสท์บาย เดลิเวอรี่ จำกัด ร่วมในพิธี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน
.
นาย สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ผ่านร่างข้อบัญญัติใหม่ ที่เพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะเป็น 60 บาทต่อเดือน สำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ โดยข้อบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ปลายเดือนกันยายน 2568 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ได้แก่ ขยะเปียก ขยะแห้ง และลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน BKK Waste pay หรือแจ้งผ่านสำนักงานเขต จะยังคงชำระค่าธรรมเนียมเพียง 20 บาทเท่าเดิม โดยทางสภากรุงเทพมหานครจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกเขตอย่างครอบคลุม
ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการ บริษัท เวสท์บาย เดลิเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการโดยให้บริการรับซื้อขยะรีไซเคิลถึงบ้าน (Wastebuy Delivery) พร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการคัดแยกขยะ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน อรวรรณ พิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการสำนักข่าวสปริง (SPRiNG) ในเครือบริษัทเนชั่น กรุ๊ป ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อว่า SPRING มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยจะใช้พลังของสื่อออนไลน์ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจและแรงบันดาลใจแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมกระตุ้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการแยกขยะและการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน
ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.ให้ความสำคัญกับแนวทาง Green University มุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาดและการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของสจล.ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้กับนักศึกษาและบุคลากร เรามุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งและพัฒนาระบบไบโอแก๊ส การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ และการส่งเสริมให้ภาคีเครือข่าย ชุมชนและผู้ประกอบการในตลาดสดสามารถนำไปใช้ได้จริงในชุมชน เพื่อให้ตลาดสดนั้นเป็นต้นแบบของเมืองที่ยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่ ผศ. ดร.ชดชนก อัฑฒพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สจล. กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการบริหารจัดการขยะครบวงจร “ลาดกระบังไม่เทรวม” โดยมีแนวทางสำคัญ ประกอบด้วย สนับสนุนกิจกรรมคัดแยกขยะต้นทาง โดยเป็นต้นแบบในการแยกขยะในหอพักนักศึกษาภายในสถาบันและขยายเครือข่ายบริหารจัดการแยกขยะไปในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ มีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการ จำนวน 188 แห่ง และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 189 ท่าน โครงการฯ จะดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี (2568-2570) จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต