ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ทรงพลัง สามารถสร้างแผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางในประเทศได้ พาดผ่านจังหวัดไหนบ้าง จังหวัดไหนเสี่ยงสุด เช็กเลย!
แม้น้อยครั้ง ที่ไทยจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนอกประเทศ แต่ส่งผลกระทบถึงไทย เฉกเช่น เหตุการณ์ล่าสุดคือแผ่นดินไหวในไทยที่เกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2568 อันเป็นผลมาจากรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งพาดผ่านอยู่ในประเทศเมียนมา
แม้อยู่ไกล แต่แรงคลื่นของแผ่นดินไหวก็สามารถส่งผลต่อกรุงเทพมหานครได้ แต่ที่น่าห่วงกว่าคือ แล้วถ้าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยล่ะ จะรุนแรงแค่ไหน?
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี เผยว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในพื้นเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวระดับปานกลาง เนื่องจากมีรอยเลื่อนพาดผ่าน ซึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้ก็ยังทรงพลังเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวได้ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อนที่ทรงพลัง ได้แก่
รอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุด จัดอยู่ในระดับสีแดง
รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ เชียงใหม่
รอยเลื่อนเจดีย์องค์สามยอด พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี
รอยเลื่อนที่มีพลังระดับสีส้ม (ระดับปานกลาง-สูง)
รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย
รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์
รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง จ.แพร่
รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ จ.เลย
รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก จ.กำแพงเพชร
รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน
รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.พังงา
รอยเลื่อนระดับสีเหลือง (ระดับปานกลาง)
รอยเลื่อนคลองมะรุ่น พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา จ.ภูเก็ต
รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี จ.ตาก
รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง
รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย
รอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย
รอยเลื่อนเวียงแหง พาดผ่าน จ.เชียงใหม่
รอยเลื่อนระดับสีเขียว (ระดับต่ำ)
รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
รอยเลื่อนดังกล่าว พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน ซึ่งจากการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวโบราณกาล พบว่า รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย เคยก่อแผ่นดินไหวขึ้นในอดีตสูงสุดขนาด 7 จัดเป็นแผ่นดินไหวค่อนข้างใหญ่ (Strong Earthquake) เพียงแต่มีรอบการเกิดประมาณทุก ๆ 1,000 ปี แต่อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะท่ามกลางสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเช่นนี้
แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายเวลา สถานที่ และความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น ประชาชนจะจึงต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดแผ่นดินไหว และวิธีการเอาตัวรอด เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้