SHORT CUT
ปีนี้น้ำมาก ปีที่แล้วน้ำน้อย? องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยว่า ปี 2023 ระดับน้ำในแม่น้ำทั่วโลกแห้งต่ำเป็นประวัติการณ์ เหตุผลมาจากภัยแล้งรุนแรง
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยว่า ปี 2023 คือปีที่แม่น้ำทั่วโลกแห้งแล้งมากที่สุดในรอบ 33 ปี ประกอบกับข้อมูลทรัพยากรน้ำโลก ได้ระบุเช่นกันว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำทั่วโลกต่ำกว่าปกติ
เหตุผลหลัก ๆ มาจากปัญหาภัยแล้ง สำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป ยืนยันว่า ปี 2023 คือปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา ซึ่งรุนแรงมากขึ้นเพราะผลกระทบจาก Climate change นอกจากนี้ ปีที่แล้ว โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนมนุษย์เริ่มเผาเผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 1.48 องศาเซลเซียส
ผลพวงจากภัยแล้งดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเหือดแห้งลง โดยพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ปริมาณน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ ลดระดับลงเป็นประวัติการณ์
ขณะที่แม่น้ำแอมะซอนก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน มีการรายงานถึงสัตว์น้ำที่เกยตื้นเสียชีวิต บ้านเรือนของชนเผ่าพื้นเมืองที่ลอยเท้งเต้งเหนือพื้นดิน เพราะระดับน้ำมันแห้งผาก
ฟากเอเชียก็แล้งไม่ต่างกัน แม่น้ำคงคา พรหมบุตร หรือ แม่น้ำโขง ล้วนมีระดับน้ำที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในกรณีของแม่น้ำโขงอาจมีส่วนมาจากเขื่อนกั้นน้ำของจีนเป็นหนึ่งในสาเหตุ ตามการศึกษาจากสหรัฐฯ
แต่เรื่องนี้ก็มีมุมกลับของมันเช่นกัน เมื่ออุณหภูมิโลกสูงชนิดทำให้แม่น้ำแห้งผากได้ นับประสาอะไรกับธารน้ำแข็งขั้วโลก รายงานจาก WMO ได้ยืนยันอีกว่า ปี 2023 โลกสูญเสียปริมาณธารน้ำแข็งมากที่สุดในรอบ 50 ปี กระทบชิ่งไปถึงเมืองริมชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง และมีบางพื้นที่ที่จมใต้บาดาลไปเป็นที่เรียบร้อย
หากมองในแง่นี้ จะเห็นว่าเพียงแค่หนึ่งปี โลกเจอภัยพิบัติครบทุกชนิด อย่างปีนี้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เจอภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นช่วงต้นปี ไฟป่าในสหรัฐฯ ซึ่งปีที่แล้ว เรายังเจอภัยแล้งกันอยู่เลย นี่เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลทั่วโลกว่าจะรับมือกับภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนเร็วอย่างนี้ได้อย่างไร
เพราะถ้าขืนปล่อยไว้ และไม่คิดหาวิธีป้องกัน รวมถึงการรับมือที่มีประสิทธิภาพ หากเป็นเช่นนั้นคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนแรก ๆ คือ ประชาชน อย่างไรก็ดี ขอจบบทความด้วยข้อมูลจาก UN ที่ประกาศเตือนว่า หากทั่วโลกไม่แก้ปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม ในหนึ่งปี เราจะเจอภัยพิบัติกว่า 500 ครั้ง ส่วนปีเราเจอไปแล้วกี่ครั้งกัน?
ที่มา: Euro News, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง