SHORT CUT
ปรากฎการณ์หายาก ภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA เผยให้เห็น ทะเลทรายซาฮาราเปลี่ยนเป็นสีเขียว หลังพายุพัดผ่าน ทำให้พืชพรรณเติบโตท่ามกลางพื้นที่แห้งแล้ง นักวิทย์ชี้เพราะโลกร้อน
“ซาฮารา” พื้นที่ที่ขึ้นชื่อว่าแห้งแล้งที่สุดในโลก กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียว อันเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้พืชพรรณเติบโตในพื้นที่ที่หลายคนเชื่อว่า ต้นไม้สักต้นก็อยู่ไม่ค่อยรอด
An extratropical cyclone over the Sahara Desert drenched parts of Morocco and Algeria – bringing up to a year’s worth of rain to some areas. 🌧️ @nasa’s Terra satellite captured floodwaters and some Saharan lakes, usually dry, filled with water. https://t.co/cuS1c73RoA pic.twitter.com/m8Ga8G0FgO
— NASA Earth (@NASAEarth) September 17, 2024
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA แสดงให้เห็นถึงพื้นที่สีเขียวที่โผล่ขึ้นกลางทะเลทรายซาฮารา หลังจากพื้นที่ดังกล่าวเผชิญหน้ากับพายุไซโคลนนอกเขตร้อนปกคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาเมื่อวันที่ 7-8 กันยายนที่ผ่านมา
ผลทำให้ภูมิประเทศที่ไร้ต้นไม้ในโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีฝนตก ขณะนี้ได้มีชีพจรของพืชพรรณงอกขึ้นมา โดยเห็นได้จากนอกโลก
แต่ปีเตอร์ เดอ เมโนคัล (Peter de Menocal) ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล เผยว่า ถ้ามองไปยังอดีต เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ราวๆเมื่อ 11,000-5,000 ปีที่แล้ว ภูมิภาคนี้เคยมีพืชปกคลุมถาวร มีทะเลสาบมากมาย จึงไม่แปลก ถ้ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก พืชต่างๆก็จะตอบสนองทันที แต่เชื่อว่าพืชจะเติบโตในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์และก็หายไปเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของมันบ่งชี้ว่า โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการที่ทะเลทรายซาฮาราเกิดฝนตกหนักจนพืชผุดขึ้นเยอะแบบนี้ มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก คือ
การเปลี่ยนจากเอลนีโญเป็นลานีญามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนตัวของร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร (Intertropical Convergence Zone : ITCZ) ไปทางเหนือในฤดูร้อน จากร้อนแล้งสลับไปฝนฉ่ำสุดขั้ว หรือบางครั้ง ลานีญาที่ว่าชุ่มชื้นก็อาจจะให้ผลตรงกันข้าม
ร่องความกดอากาศต่ำแถบเส้นศูนย์สูตรเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากขึ้นเพราะอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนมิถุนายนเผยว่า การเคลื่อนตัวไปทางเหนือจะเกิดบ่อยขึ้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เนื่องจากระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นจะทำให้โลกร้อนขึ้น
ผลจากทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตรเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากกว่าปกติ ทำให้พายุพัดเข้าซาฮาราตอนใต้ เป็นผลให้ทะเลทรายซาฮาราปีนี้เปียกมากกว่าที่ควรจะเป็น 2-6 เท่า
แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ ประชาชนกลุ่มเปราะบางในประเทศกำลังพัฒนาของแอฟริกา สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้บางประเทศฝนตกน้อยกว่าปกติ เกิดความแห้งแล้งและความหิวโหย ในขณะที่พื้นที่อีกด้านหนึ่งได้รับปริมาณน้ำฝนมากกว่า 400% จนทำให้เกิดอุทกภัย เช่น ประเทศชาด มีประชาชนเกือบ 1.5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้และมีอย่างน้อย 340 คนเสียชีวิตจากน้ำท่วมหนักเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม Karsten Haustein นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกในเยอรมนี เผยว่า เมื่อโลกอุ่นขึ้น โลกจะสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่การเกิดมรสุมได้ง่ายขึ้น เป็นต้นเหตุของน้ำท่วมรุนแรง เช่นที่เกิดในช่วงนี้ และใช่ เพราะโลกร้อนมากขึ้น จึงทำให้ความผิดปกติแบบนี้มีให้เห็นบ่อยขึ้น
ที่มาข้อมูล