svasdssvasds

ช็อก! สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน

ช็อก! สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน

ชวนตระหนักอันตรายของฝุ่น PM2.5 ย้อนไปดูภาพรวมในปี 2565 พบว่า 365 วันคนกรุงเทพฯ มีวันอากาศดีเพียงแค่ 49 วัน และต้องสูดฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่มากถึง 1,224 มวน

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นปัญหาที่คนกรุงต้องเผชิญทุกปีซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่งฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย ส่งผลกับโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจภาพรวมสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในปี 2565 ว่า ฝุ่น PM2.5 หายไปจริงไหม

กรุงเทพฯ และ ฝุ่น PM2.5 ในปี 2065

จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ

พบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี  ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี  และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี 

ช็อก! สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน

จากข้อมูลยังพบว่า ปี 2565 เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุด คือเมษายน โดยมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง 3 วัน และเป็นเพียงเดือนเดียวที่มีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง สูงสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2565 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2563 และ 2564 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM2.5 มากที่สุด คือเดือนมกราคม ขณะที่ปี 2565 กลับเป็นเดือนเมษายน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด
นอกจากเมษายนจะเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด และมีวันที่สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงเพียงเดือนเดียวในปี 2565 แล้ว "เมษายนยังเป็นเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดโดยมีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดอีกด้วย" โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเพียง 2 วัน สีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน สีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 3 วัน

สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน รองลงมาคือธันวาคม โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 11 วัน

ถัดมาคือเดือนมกราคม ซึ่งไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย และมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน

จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 แตกต่างจากในปี 2563 และ 2564 ที่มีสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดคือเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์

สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 มคก./ลบ.ม. = บุหรี่ 1 มวน ปี 2022 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน
จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2565 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า

ในปี 2565 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,224.77 มวน เฉลี่ยวันละ 3.35 มวน ลดลง 37 มวนจากปี 2564 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน 

สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 127.77 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน โดยลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด ที่คิดเป็นจำนวน 163.68 มวน  

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 อย่างกรกฎาคม คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศดีที่สุดเช่นเดียวกัน ที่คิดเป็นจำนวน 64.86 มวน

ไปดู 3 เดือนที่มีอากาศดีที่สุดกันบ้าง 
เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2065 ก็คือกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งเดือนต่ำที่สุด โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 11 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน 

รองลงมาก็คือกันยายน โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 13 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 17 วัน และเดือนสิงหาคม โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 7 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 24 วัน 

ช็อก! สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2566

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่งจะเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จากปี 2565 นำมาปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดมาตรการต่างๆ เป็น 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ ซึ่งทั้ง 7 แนวทางมีดังนี้

  1. เร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน และสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
  2. ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต เป็นต้น
  3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา
  4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับ ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์ม หรือช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
  5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ พัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ
  6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน
  7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

ในวาระที่ฝุ่น PM2.5 กลับมาเยือนอีกครั้ง คงต้องรอดูว่าแนวทางจากภาครัฐในปี 2566 นี้ ซึ่งหลายแนวทางก็ยังคงเป็นแนวทางเดิมจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 2562 ว่าจะสามารถจัดการหรือทุเลาปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ 

related