svasdssvasds

ไฮไลต์ ศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่ มีอะไรที่ต้องจับตาบ้าง ?

ไฮไลต์ ศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่ มีอะไรที่ต้องจับตาบ้าง ?

3 ไฮไลต์ประเด็นที่ต้องจับตา จากทั้งหมด 13 ญัตติ ในศึกแก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่ วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน แม้บางประเด็น มีโอกาสผ่านวาระแรกได้น้อยมาก แต่ก็คาดว่า จะถูกอภิปรายอย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อสร้างความบอบช้ำให้ฝั่งตรงข้าม

หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วของทุกฝ่าย ถูกคว่ำไปในวาระที่ 3 แต่การแก้รัฐธรรมนูญก็กลับมาอีกครั้ง โดยจะมีการประชุมสภา ในวันที่ 23 -24 มิถุนายนนี้

โดยครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ เป็นฝ่ายเปิดเกมเอง ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แบบเป็นแพ็คเกจ หลายประเด็น ใน 1 ญัตติ

ส่วนพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ใช้วิธีเสนอแตกย่อยเป็นหลายญัตติ เพราะถ้าเสนอแบบมัดรวมกันดังที่พลังประชารัฐทำ อาจจะถูกตีตกทั้งหมดตั้งแต่ด่านแรกได้

ทำให้การเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีมากถึง 13 ญัตติด้วยกัน แต่ญัตติที่เป็นไฮไลต์ ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ มี ดังต่อไปนี้

1. แก้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540

เป็นเรื่องที่ถือว่าเซอร์ไพร์สเป็นอย่างมาก ที่พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เปิดประเด็นนี้เอง ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีแตกต่างกันบ้างในรายรายละเอียดปลีกย่อย

ซึ่งคาดว่า ประเด็นนี้ของพรรคพลังประชารัฐ และญัตติของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จะได้รับการโหวตให้ผ่านในวาระแรกได้อย่างไม่ยากนัก

รัฐสภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. แก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185

เป็นประเด็นที่ 5 และ 6 ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ โดยเสนอให้แก้ไขมาตรา 144 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการกำหนดโทษ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่แปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ

และแก้ไขมาตรา 185 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

ทั้ง 2 มาตรานี้ มีการหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในช่วงไม่กี่วันมานี้เอง ว่าจะเป็นเปิดช่องให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปล้วงลูก ล้วงงบฯ เปิดช่องเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นแบบมโหฬารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าทางพรรคก้าวไกลที่เป็นผู้จุดประเด็น จะเตรียมข้อมูลมาถล่มอย่างเต็มที่ในสภา

และด้วยเป็นประเด็นในญัตติที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ก็คาดว่า น่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรก ไปได้เช่นกัน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

3. แก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ

มาตรานี้ มีการเสนอและร่วมลงชื่อสนับสนุน ทั้งในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย รวมถึง พรรคฝ่ายค้านอิสระ อย่างพรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

มาตรานี้เคยมีการเสนอให้แก้ตั้งแต่ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบที่แล้ว แต่ก็ถูกตีตกไปตั้งแต่ในวาระแรก ซึ่งความยากในการแก้ก็คือ จะต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เห็นชอบด้วย นอกจากเสียงของ ส.ส. ดังนั้นแม้จะมีเสียงโหวตให้แก้เกินครึ่งของรัฐสภา แต่ถ้า ส.ว.ยกมือให้ไม่ถึง 84 คน ญัตตินี้ก็จะถูกตีตกไปโดยปริยาย

และคาดว่า ในศึกแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ญัตตินี้จะถูกตีตกตั้งแต่วาระแรกอีกเช่นกัน แต่ ส.ส. โดยเฉพาะในฟากฝั่งพรรคฝ่ายค้าน จะใช้โอกาสนี้ถล่มความไม่ชอบของมาตรา 272 กันอย่างเต็มที่ ดังปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญรอบที่แล้ว

related