svasdssvasds

ก้าวไกล ชำแหละแก้ร่างรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐ เปิดช่องให้คอรัปชั่น

ก้าวไกล ชำแหละแก้ร่างรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐ เปิดช่องให้คอรัปชั่น

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชำแหละแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ในมาตรา 144 และมาตรา 185 เป็นการเปิดช่องให้สามารถคอรัปชั่นได้

เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Pary โพสต์ถึงกรณีการแก้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในมาตรา 144 และ มาตรา 185 ชี้ว่าเป็นการเปิดช่องให้สามารถคอรัปชั่นได้ โดยมีเนื้อความดังต่อไปนี้

ก้าวไกล ชำแหละแก้ร่างรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐ เปิดช่องให้คอรัปชั่น

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ โดยศิริกัญญาบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นอกจากปัญหาต่างๆ ที่สังคมได้พูดกันแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ยังพูดถึงกันน้อยคือการแก้ไข มาตรา 144 และ 185 ที่จะเปิดช่องให้ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการและการจัดสรรงบประมาณได้ "โดยไม่มีโทษตามกฎหมาย"
.
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการแก้ไข มาตรา 144 ของไพบูลย์ คือยังคงห้ามไม่ให้ ส.ส. - ส.ว. และ กมธ. ของร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี, ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณกลางปี, รวมถึงร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณฯ แปรญัตติในเชิงการขอเพิ่มงบประมาณ และยังคงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตัดส่วนที่เป็นบทกำหนดโทษ และกลไกในการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการให้ข้าราชการทำหนังสือแจ้งเมื่อพบการกระทำความผิด การให้อำนาจ ป.ป.ช. มีอำนาจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งส่วนที่ว่าด้วยการเรียกเงินคืน
.
"3 ปีที่ผ่านมา ที่บทบัญญัติมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ แสดงให้เราเห็นแล้วว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งที่ไม่ชัดว่า 'อะไรคือการกระทำที่มีผลต่อการเพิ่มงบประมาณ' ที่ผ่านมาก็มีกรรมาธิการก็สามารถลงมติเพื่อเพิ่มงบให้หน่วยงานอยู่ แน่นอนว่าเราแปรญัตติไม่ได้ แต่การแสดงความคิดเห็นว่างบสวัสดิการประชาชนควรเพิ่มขึ้น เราทำได้หรือไม่? ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำให้เกิดการตีความกฎหมายอย่างไม่มีขีดจำกัด และเป็นเครื่องมือในการโจมตีกันทางการเมือง อย่างที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลโดนในช่วงหลังการอภิปรายงบประมาณที่ผ่านมา"
.
"แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้แก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาตรงนี้ ส่วนที่เป็นปัญหายังคงอยู่ แต่เลือกไปตัดส่วนบทกำหนดโทษ และบทที่ว่าด้วยกลไกการตรวจสอบแทน ส่วนนี้ทำให้ดิฉันเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ของนายไพบูลย์เป็นการแก้เพื่อเอื้อให้พวกของตนมีช่องในการแทรกแซงงบประมาณเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องรับผิดมากกว่า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ศิริกัญญาบอกว่าเรามองการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาตรา 144 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ที่เดิมกำหนด ห้าม ส.ส. และ ส.ว. เอาไว้ 3 เรื่อง คือ
.
1) ห้ามแทรกแซงการทำงานในหน้าที่ของราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
.
2) ห้ามทำให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือมีส่วนในการเห็นชอบโครงการของหน่วยงานรัฐ
.
3) ห้ามแทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ
.
ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคพลังประชารัฐกำลังจะแก้ไขนี้ ตัด 2 ข้อแรกออก เหลือเพียงการห้ามแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเพียงข้อเดียว
.
"จะเห็นว่าสิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐแก้ไข จะบอกว่าแก้เพราะต้องการทำลายภาพความไม่ไว้ใจนักการเมืองที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คงจะไม่ใช่ เพราะการแก้ทั้ง 2 มาตราไม่ได้แก้ที่สาระสำคัญของความไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลย แต่เป็นการแก้เพื่อทำลายกลไกการตรวจสอบ และข้อห้ามที่ทำให้ตนเองแทรกแซงข้าราชการและงบประมาณยากเท่านั้น"
.
สุดท้าย ศิริกัญญาตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน มีส่วนแผนงานฟื้นฟูฯ ที่เป็นเหมือน "เช็คเปล่า" ให้รัฐบาลเอาไปใช้ได้ในปีงบประมาณหน้าอีกประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จะมีการตั้งงบประมาณโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานรากที่เป็นโครงการระดับจังหวัดราว 4.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการเปิดให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้ามาแทรกแซงการเริ่มทำงบประมาณของปี 2566 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า น่าสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจจะเป็นการเปิดทาง "หาเงินเลือกตั้ง" สำหรับนักการเมืองบางกลุ่ม

"ประเด็นเรื่อง ส.ส. เข้าไปมีส่วนในการผลักดันโครงการพัฒนาในพื้นที่หรือไม่ รวมทั้งเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญบนฐานความไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันในเชิงหลักการ และการถกเถียงก็ยังไม่จบ แต่ชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ไม่ได้แตะต้องส่วนที่เป็นหัวใจของข้อถกเถียงเหล่านั้น"
.
"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ คือการยอมรับว่านักการเมืองไม่น่าไว้วางใจ และทิ้งส่วนที่มีปัญหาเอาไว้แบบเดิม แต่ไปแก้ไขส่วนที่เป็นกลไกตรวจสอบเพื่อให้นักการเมืองสามารถกระทำผิดได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องรับโทษ"
.
"ถ้าพรรคพลังประชารัฐอยากแก้ไขปัญหาจริงๆ ก็ควรแก้ไขเนื้อความที่ไม่ไว้ใจนักการเมือง และทำให้กลไกการผลักดันงบประมาณลงพื้นที่ที่ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ทำอย่างโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ ไม่ใช่ปกปิดสิ่งที่พวกท่านทำกันเป็นปกติเอาไว้ให้อยู่นอกระบบ แล้วไปตัดกลไกการตรวจสอบที่จะยิ่งทำให้การผลักดันงบประมาณยิ่งไม่มีการตรวจสอบ และเปิดช่องให้เกิดการคอรัปชั่นง่ายขึ้นไปอีก" ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

related