SPRiNG สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เจาะลึกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งที่มา ปัญหา และความเป็นไปได้ในการแก้ไข เพราะตราบใดที่กติกา ยังไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ก็ยากที่คลี่คลายปมความขัดแย้งต่างๆ ได้
จากกรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกคว่ำไปในการโหวตวาระ 3 ทำให้หลายคนรู้สึกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมมันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน พร้อมกับคำถามว่า แล้วยังมีหนทางอื่นๆ อีกไหม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว. (บทเฉพาะกาล) 250 คน ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้
SPRiNG สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเข้มข้น เจาะลึก โดยเขาได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหารัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คือการออกแบบให้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสืบทอดอำนาจ
หลังจากการรัฐประหาร ในปี 2557 ที่หัวหน้าคณะฯ ยืนยันว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจอย่างแน่นอน แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ไม่มีการสืบทอดอำนาจจริงหรือ ?
“ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เราคาดหวังการเมืองที่ดีกว่าก่อนการยึดอำนาจ แล้วท่านนายกฯ เอง ก็สัญญากับประชาชนว่า ความสุขจะกลับคืนมา
“5 สิงหาคม 2559 ก่อนลงประชามติ (รัฐธรรมนูญ ปี 2560) 2 วัน ท่านนายกฯ ก็พูดว่า คสช. จะไม่สืบทอดอำนาจ แล้วท่านก็บอกว่า จะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และคำถามพ่วง
“หากถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีการสืบทอดอำนาจไหม ? อันนี้ผมคิดว่าคนที่ติดตามการบ้านการเมืองพอสมควรคงจะเห็น เพราะปกติเนี่ย ระบบประชาธิปไตยที่เราคาดหวังว่ามันจะกลับคืนมา ประชาชนจะชอบพรรคไหน จะเป็นฝ่ายใด หรืออยากให้ใครเป็นนายกฯ 1 คน 1 เสียง จะยากดีมีจน การศึกษาสูงต่ำ ก็ 1 คน 1 เสียง
“จะชอบลุงตู่ หรือไม่ชอบลุงตู่ จะเป็นฝ่ายม็อบ หรือไม่ใช่ฝ่ายม็อบ ทุกคนก็มี 1 เสียง หย่อนลงหีบบัตรไป แล้วก็จะกลายเป็นรัฐบาลในการบริหารบ้านเมือง มันก็มีที่มาแบบนี้ และรัฐบาลต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้ ตั้งคำถามได้ เรียกร้องได้ มีการถ่วงดุล มีความโปร่งใส ประชาธิปไตยมันคือตรงนี้ไงครับ”
ผศ.ดร.ปริญญา เล่าย้อนไปถึง รัฐธรรมนูญปี 2534 หลังการยึดอำนาจของ รสช. ว่า มีความพยายามที่จะให้ ส.ว. สามารถเลือกนายกฯ ได้ แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ก็เป็นคนเดียวกับประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560
“คณะรัฐประหารทุกชุด จะมี ส.ว.ที่ตัวเองเป็นคนเลือกไว้ทั้งสิ้น เพื่อให้ช่วงหลังเลือกตั้ง ส.ส. ยังสามารถคุมการเมืองต่อไปได้ หรือหนักกว่านั้นก็คือ เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจ เพราะหลังเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมี ส.ว. ที่คณะรัฐประหารเขาเลือกเอาไว้อยู่
“แต่ว่าไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ที่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ได้ ซึ่งมีความพยายามที่จะทำมาแล้วแต่ล้มเหลวไป ผมขอเท้าความไปยังปี 2534 บังเอิญผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 กับ 2560 ก็เป็นคนเดียวกัน นั่นก็คือ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์
“ตอนนั้นอาจารย์มีชัยก็จะให้ ส.ว.ที่ รสช. แต่งตั้ง มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ แต่ถูกนักศึกษาประชาชนประท้วง เลยยอมถอย เพราะถ้าเดินหน้าต่อ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะไม่ผ่าน
“รัฐธรรมนูญ 2534 ส.ว. จึงเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกฯ เพราะเขาเอาไปซ่อนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ให้ประธาน รสช. เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ
“แม้ว่า ส.ว.จะเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่คนทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ คือหัวหน้าคณะรัฐประหาร บรรดานักการเมืองที่อยากเป็นรัฐบาล อยากได้เก้าอี้ ก็ต้องสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้เป็นนายกฯ นี่คือกลไกที่ซ่อนไว้”
การที่ ส.ว. 250 คน (บทเฉพาะกาล) ที่ คสช. แต่งตั้ง มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ได้ ทำให้แต้มต่อการแข่งขันในการเลือกตั้งไม่เท่ากัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ ?
“รัฐธรรมนูญปี 2560 ในร่างแรก ก็ไม่ได้ระบุให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ คือ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้ง ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่มันมาในคำถามพ่วงที่ว่า ภายใน 5 ปีแรก ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากที่ประชุมสภา
“ฟังดูปลอดภัย แต่คำถามที่แท้จริงคือ เห็นด้วยหรือไม่ที่ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะ ส.ส. เนี่ยเลือกนายกฯ อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า การสืบทอดอำนาจ
“เพราะถ้าเอาตัวเลขมาพูดกัน พรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ ส.ส.แค่ 116 คน จาก 500 คน มติของประชาชนที่แสดงออกเมื่อวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คืออะไรครับ ถ้าประสงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เสียงต้องท่วมท้นกว่านี้ หรือทะลุเกินครึ่งไปเลย แต่ได้แค่ 116 ไม่ถึง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำไป
“แต่ที่พรรประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลด้วยจนเสียงผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงครึ่ง เพราะอะไรครับ เหตุผลที่ 1 เพราะมี ส.ว. 250 คน เมื่อบวกกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรเล็กอื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว”
จะว่าไปแล้ว แม้จะผ่านมากว่า 2 ปี แต่ทุกวันนี้หลายคนยังมึนตื้บกับสูตรการคำนวณ ส.ส. พึงมี ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ในสมัยที่ 2
“แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ สูตรคำนวณผลการเลือกตั้ง ที่สื่อมวลชนเรียกว่า สูตรคำนวณพิสดาร ระบบเลือกตั้งก็ประหลาด เพราะมี ส.ส.แบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ประชาชนมีแค่คะแนนเดียว คือคะแนนเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ปัญหามันมีเยอะมากเลย เพราะประชาชนมี ส.ส. 2 แบบ แต่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว
“เราอยากได้พรรคนี้ แต่ผู้สมัครของพรรคนี้เราไม่ชอบ ทำไงครับ เราอยากได้ผู้สมัครพรรคนี้เป็น ส.ส. แต่ไม่ชอบพรรคของเขา ทำยังไงครับ ถ้ามีบัตร 2 ใบ มันก็จบ บัตรใบหนึ่งเลือกพรรค อีกใบเลือกเขต
“แต่ทีนี้มันมีบัตรเดียว แล้วเอาคะแนนแบ่งเขต มาคิดคำนวณ ส.ส.พึงมี มันก็เลยเกิดปัญหาตามมาอีกข้อหนึ่งคือ บรรดาคนที่อยากเป็น ส.ส.ก็ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเป็นเบอร์ 1 ของปาร์ตี้ลิสต์ แล้วก็ส่งผู้สมัครให้มากที่สุด เอาคะแนนรวมมาให้ตัวเอง เพื่อจะได้เป็น ส.ส.
“ตัวเลขผู้สมัคร ส.ส. ปี 2554 มีแค่ 2,400 คน แต่การเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผู้สมัคร 11,100 คน เพิ่มมาตั้งเกือบ 5 เท่า เพราะอะไรครับ เพราะต้องส่งคนให้มากที่สุด เพื่อเอาคะแนนมาคิดคำนวณที่นั่ง
“ที่นี้ประเด็นคือ ถ้าคำนวณตามรัฐธรรมนูญเนี่ย เขาจะเอาคะแนนทั้งประเทศมารวมกัน แล้วเอา 500 หาร คือจำนวน ส.ส. ได้ผลลัพธ์ 71,000 คะแนน คือค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน
“(ถ้าเป็นไปตามนี้) ผลลัพธ์ คือ พรรคที่ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ ส.ส. 255 คน แปลว่า พล.อ.ประยุธ์ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มี ส.ส.ถึงครึ่งได้ เพราะต่อให้รวมทั้งหมด ก็ได้แค่ 245 คน ถึงแม้จะเป็นนายกฯ ได้ แต่กฎหมายจะไม่ผ่าน เพราะมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ (ส.ส.) ร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี ก็จะไม่ผ่าน
“แล้วเรื่องลงมติไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องของ ส.ส.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. ฉะนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียง ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
“แต่ทำอย่างไรล่ะครับ ตามสูตรตามรัฐธรรมนูญที่ว่าไป พรรคที่ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ มี 255 คะแนนแล้ว ที่เหลืออยู่ยังไงก็ไม่ถึงครึ่ง ก็เลยเป็นที่มาหรือเปล่า ผมใช้คำว่า หรือเปล่า ของสูตรคำนวณแบบพิสดาร ที่ทำให้คะแนนของพรรคร่วมฝ่ายค้านหายไปทันที 10 คน เหลือ 245 คน
“ความเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นความเป็นไปได้ขึ้นมา ทำให้ฝั่งที่ประกาศเอา พล.อ.ประยุทธ์ มี ส.ส. เกินครึ่งในสภา และเนี่ยคือจุดเปลี่ยน ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย หันมายกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยกมืออย่างมีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สัญญาไว้”
องค์กรอิสระ เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ที่ผ่านหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรอิสระ กลับถูกตั้งคำถามมากมายในการทำงาน ว่ามีความเป็นอิสระจริงหรือไม่ ?
“แล้วบรรดาองค์กรอิสระ ผมถาม อิสระจริงหรือเปล่า เราต้องการการถ่วงดุล ต้องการรการตรวจสอบที่โปร่งใส ไม่มีใครที่เป็นเจ้าของอำนาจเบ็ดเสร็จ ทุกคนต้องถูกถ่วงดุลได้ ตรวจสอบได้
“ถามว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ใครครับเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ? คำตอบก็คือ สนช. แล้วถามต่อไปว่า ใครเลือก สนช. ? คำตอบก็คือ คสช. (แล้วต่อมา คสช. ก็เลือก ส.ว.)
“ส.ว. (บทเฉพาะกาล) ไม่ได้มีอำนาจแค่เลือกนายกฯ นะครับ แต่เลือกองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วใครเลือก ส.ว. ครับ ? คำตอบก็คือ คสช.
“นี่หรือครับ การเมืองที่เราคาดหวังว่ามันจะดีขึ้น นี่หรือครับปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้ได้การเมืองที่ดีกว่าสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือสมัยคุณทักษิณ แล้วที่ประกาศว่า ไม่สืบทอดอำนาจในวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 มันคืออะไรล่ะครับ ”
ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คือ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ ซึ่งถ้าหากไม่มีการแก้ไข โดยเฉพาะในมาตราที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่จบสิ้น
“ผมคิดว่า มันเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ทำให้เราไม่มีการเมืองที่ตรวจสอบได้ การเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เพราะ ส.ว. เป็นผู้กำหนดว่า ใครได้เป็นนายกฯ
“ฉะนั้นผมคิดว่า เนี่ยเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ผู้คนคิดว่า มันไม่ไหว ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่ร่างโดยอาจารย์มีชัย ก็จบลงด้วยเหตุการณ์ปี 2535 ที่เราเรียกว่า พฤษภาทมิฬ สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ถูกแก้ไข
กระทั่งปี 2539 มี ส.ส.ร. ขึ้นมา ร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็เลยกลายเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 2534 มันล้มเหลว มันสืบทอดอำนาจให้กับ รสช. แล้วนำไปสู่การนองเลือด จึงต้องร่างใหม่ แล้วถามว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มันต่างอะไรกันครับ ก็สืบทอดอำนาจ แล้วมันหนักกว่าด้วยซ้ำ
“ผมฟันธงเลยครับว่า มันหนักกว่าในเรื่องการสืบทอดอำนาจ ทำไมรู้ไหมครับ ปี 2534 มันยังไม่มีองค์กรอิสระ ไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา เรามีองค์กรอิสระ และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คสช. สามารถจะแทรกแซง ผมใช้คำว่าสามารถนะครับ จะไปแทรกแซงองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการ ได้มากกว่าเดิม
“เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ปปช. กกต. ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามีแล้วอิสระ ก็ย่อมที่จะดี เพราะมันจะเกิดการตรวจสอบรัฐบาล
“แต่ประเทศใดก็ตาม ถ้ารัฐบาลควบคุม หรือแทรกแซงองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการได้ องค์กรหรือฝ่ายตุลาการประเทศนั้น จะไม่ตรวจสอบรัฐบาล แต่จะตรวจสอบฝ่ายค้าน ผมถามว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วหรือยัง แล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีปัญหายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2534
“รัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่ร่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในตอนนั้นว่าแย่แล้ว ก็ยังไม่แย่เท่ากับฉบับปี 2560 ที่คนร่างก็เป็นคนเดียวกัน มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน
“รัฐธรรมนูญ ปี 2534 จบลงด้วยการนองเลือด แล้ว รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ล่ะ ก็มีคนเรียกร้องขอให้ร่างใหม่ ไปทำโพลดูก็ได้ คนก็เห็นว่าต้องร่างใหม่ บางคนบอกว่ามันผ่านประชามติมา คำถามคือประชามติคราวนั้นมันเป็นประชามติที่สมบูรณ์ไหม ? เป็นประชามติที่จะนำมาอ้างกันได้หรือไม่ ?”
ผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มักอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความชอบธรรม เพราะผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การทำประชามติครั้งนั้น มีเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะผู้คัดค้านรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
“ปกติการทำประชามติ หลักการมันง่ายมาก คือทุกฝ่ายจะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูด สนับสนุน หรือคัดค้านอย่างเท่าเทียมในกรอบของกฎหมาย แต่ถามว่า ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเนี่ย มีโอกาสได้พูดเต็มที่หรือไม่ โห คดีเพียบเลย ขณะที่นายกฯ สามารถพูดสนับสนุนรัฐธรรมนูญได้
“และถามว่า ตอนทำประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เรารู้ไหมครับว่า ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะเกิดอะไรขึ้น ? จะใช้ฉบับไหน ? แล้วจะเกิดอะไรต่อไป ? จะมีรัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้งหรือไม่ ? เราไม่รู้เลย
“มันเป็นความดำมืด ที่ไม่เห็นอนาคตข้างหน้าของบ้านเมือง ฉะนั้นคนจำนวนมากจึงลงประชามติรับ โดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างใน แล้วไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า มีกลไกสืบทอดอำนาจอะไรบ้าง เพราะอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แล้วให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ
“ยิ่งท่านนายกฯ ท่านให้สัญญากับประชาชน คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจ เป็นการชี้ชวนว่า มันปลอดภัย ให้รัฐธรรมนูญผ่านไปเถอะ บ้านเมืองจะได้กลับสู่สภาวะปกติ คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจ
“สรุปคือ ประชามติในการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันบกพร่องอย่างยิ่ง แล้วก็ชนะมาเพียงแค่ 61 % เกินครึ่งมา 11 % เอง ยิ่งคำถามเพิ่มเติมที่ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้แค่ 57 % มันเอามาอ้างอิงอะไรไม่ได้หรอกครับ”
กติกา ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพียงใด แต่กติกานั้น ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าชอบธรรม ซึ่งในบางกรณีปัญหาไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่กติกา
“ผมคิดว่า กติกาปกครองบ้านเมือง ที่เรายอมรับ ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้ง ความแตกต่าง จะมีสีมีข้าง มีฝ่าย ไม่เป็นไร เห็นต่างกันได้ แต่เรายอมรับอยู่ร่วมกันภายใต้กติกา อันนี้เป็นหลักการของประชาธิปไตย
“ดังนั้น กติกามันต้องเป็นที่ยอมรับเสียก่อน แต่ตอนนี้กติกาไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะรู้สึกว่ากติกามันเอาเปรียบ หมายถึงว่า คสช. เอาเปรียบ นายกฯ เอาเปรียบประชาชนตาดำๆ ประชาชน 71,000 เลือก ส.ส.ได้ 1 คน แต่ท่านนายกฯ ได้ ส.ว. 250 คน มันเอาเปรียบ มันไม่แฟร์ แล้วองค์อิสระ อิสระจริงหรือเปล่า ? ถ่วงดุลจริงหรือไม่ ?”
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นฉบับที่แก้ยากมาก โดยเฉพาะการกำหนดว่า ต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน เห็นชอบด้วย ส.ว. จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560
“พอรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ มันก็ไปต่อไม่ได้ ก็มีการสัญญิงสัญญาว่า เอาแหละ เราจะมาแก้รัฐธรรมนูญ หรือร่างใหม่เลยดีกว่า เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจแบบนี้ ยังไงมันจบด้วยการร่างใหม่อยู่แล้ว
“รัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัย จะต้องจบด้วยการร่างใหม่ ผมทำนายไว้นะครับ จะช้าจะเร็ว เพราะมันคือชะตากรรมที่มันเคยเกิดกับรัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัย ฉบับปี 2534 แต่คราวนี้ที่สำเร็จก็เพราะมี ส.ว.ที่นายกฯ เลือกเอาไว้ มาขวาง
“และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่การแก้รัฐธรรมนูญมันยากมาก ทุกครั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสภา ก็แก้ได้แล้ว คราวนี้บอกว่า ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 มีเพื่ออะไรครับ เพื่อป้องกันไม่ให้แก้ไง ถ้า คสช. ไม่ต้องการให้แก้มาตราใด ไม่มีทางแก้ได้สักเรื่อง”
ผศ.ดร.ปริญญา เคยแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียล ก่อนที่จะมีการโหวตแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 กรณีมติศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต่างฝ่ายต่างตีความไปคนละทาง โดยอาจารย์ได้ยืนยันว่า ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สามารถโหวตให้ผ่านวาระที่ 3 ได้
แต่แล้วก็เกิดการพลิกเกมในสภา และการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถูกคว่ำ ด้วยมีจำนวนผู้เห็นชอบน้อยกว่าจำนวนที่กำหนด โดยเฉพาะในส่วนของ ส.ว. ที่ต้องอาศัยเสียง 84 คน แต่มีผู้เห็นชอบแค่ 2 คน
“ดังนั้น เมื่อร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ ก็ต้องกลับมาแก้รายมาตรา ซึ่งในข้อนี้ผมเห็นต่างนะครับ ที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ทำ ความจริงศาลรัฐธรรมนูญท่านบอกแล้วว่า ทำได้ ถ้าทำประชามติก่อนเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
“ถ้าสมมติ การแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ถูกคว่ำ ตามรัฐธรรมนูญ 256 (8) จะต้องมีการทำประชามติ พอประชาชนเห็นชอบ ถึงจะนำไปสู่การนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อทรงโปรดเกล้า จึงจะมีผลให้แก้รัฐธรรมนูญ ที่จะมีผลให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. พอมี ส.ส.ร. ปุ๊บ ถึงจะเริ่มต้นการร่างรัฐธรรมนูญ
“แต่ถ้าประชามติ ไม่ผ่าน ก็ไม่เกิดการเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญ จะไม่เกิดการทูลเกล้าเพื่อให้มี ส.ส.ร. ที่ทำมามันก็ถูกต้องแล้วไง คือถามประชาชนก่อน เห็นด้วยหรือไม่ ถึงจะเริ่มต้นร่าง ก็ถูกแล้ว
“แต่สิ่งซึ่งที่คนเสียความรู้สึกก็เพราะวาระ 1 ก็โหวตผ่านมาแล้วด้วยเสียงข้างมากของรัฐสภา ผ่านโหวตวาระ 2 จนมีที่มาของ ส.ส.ร.หน้าตาชัดเจน มี 200 คน มาจากการเลือกตั้ง
“แล้วทำไมวาระ 3 อยู่ดีๆ มาเบี้ยว เบี้ยวเพราะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ทำ ! ก็ศาลฯ บอกทำได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนนำไปสู่การทำประชามติ แล้วถึงเกิด ส.ส.ร. แล้วจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญ
“ผมสรุปได้อย่างเดียวครับ เป็นเจตนาที่จะเบี้ยว ไม่รู้จะสรุปอย่างอื่นได้อย่างไร แต่ว่าเอาล่ะ หนทางก็ไม่ได้ตันหรอกนะครับ ก็ต้องกลับมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา”
ผศ.ดร.ปริญญา แสดงความคิดว่า ในการแก้รายมาตรา มี 2 เรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน หนึ่งในนั้นก็คือการแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ
“ถามว่าทำไมต้องแก้รายมาตรา เพราะการแก้รายมาตราเนี่ย คนแก้ คนโหวต คือ ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้นก็แปลว่า สามารถคุมได้หมดว่าจะแก้ หรือไม่แก้อะไร
“และถ้าเรื่องใด ไม่เอา แค่ ส.ว. เห็นด้วยไม่ถึง 84 คน ก็ตกหมดทุกเรื่อง ขณะที่ถ้ามี ส.ส.ร. มันหลุดมือไปเลย ไม่รู้เลยว่า 200 คน เขาจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร แล้วถ้าร่างเสร็จ ก็ขึ้นทูลเกล้าเลย ไม่กลับมาที่รัฐสภาอีก
“ฉะนั้นเนี่ย เขาต้องการให้อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญ อยู่ในมือของสภา ซึ่งต้องการ ส.ว. อย่างน้อย 84 คน ถึงจะแก้ได้ แปลว่าอะไรครับ คสช. ก็จะคุมการแก้รัฐธรรมนูญได้หมด เขาถึงดีด ส.ส.ร. ทิ้ง เพราะเขาต้องการคุมการแก้รัฐธรรมนูญ
“ผมจึงเห็นว่าตอนนี้ มันต้องมาในเรื่องแก้รายมาตรา แล้วการแก้รายมาตรา มันควรจะแก้อะไร ผมว่าเรื่องแรกเลยครับ ส.ว.จะมีหรือไม่ หรือถ้ามีจะมาอย่างไร ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องคุยกันเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มมีการเรียกร้องแล้ว ขอเป็นสภาเดี่ยว ไม่เอา ส.ว.แล้ว เพราะรู้สึกว่า มี ส.ว. แบบนี้ ไม่มี ส.ว.ดีกว่า
“เรื่องที่ผมเสนอก่อนเลยคือ เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ครับ เอาเรื่องนี้ก่อนเลย”
แต่ท่าทีของ ส.ว. ที่ผ่านมา รวมถึงการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่มี ส.ว. เห็นชอบเพียง 2 คน จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า จะเป็นไปได้หรือ ในการแก้มาตราที่ให้ ส.ว. ตัดอำนาจตัวเองในการเลือกนายกฯ
“เป็นไปได้ซิครับ คำถามง่ายๆ คือ เราสามารถหา ส.ว.ได้ถึง 84 คนไหม ได้โปรดเถิด ท่านเสียสละได้ไหม ท่านอยู่มา 3 ปี ท่านเลือกนายกไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ขอได้ไหม อำนาจนี้คืนให้ประชาชน เพราะมันคือความเป็นธรรม ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่ากันใช่ไหมครับ แต่นี่คือ คสช. เลือกผู้โหวตเลือกนายกฯ ได้ 250 คน มันไม่แฟร์
“แล้ว ส.ว.ยังไงก็หนีข้อครหาไม่พ้น ว่าเป็นพวก คสช. เพราะ คสช. เลือกเข้ามา หนทางที่ดีที่สุดคือเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ แล้วปัญหาที่มีทั้งหมด มันจะหายไปครึ่งหนึ่ง มันจะเบาไปเลยครึ่งหนึ่ง
“ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่า สังคมสามารถกดดัน ส.ว. ได้ ว่าคุณมาจากการเลือกของ คสช. ซึ่ง คสช.บอกจะไม่สืบทอดอำนาจ แล้วเขาก็สืบทอดอำนาจ โดยท่านทั้งหลาย (ส.ว.) เป็นคนยกมือให้เขา
“ที่เขาเลือกมา เพื่อให้ท่านมาเลือกเขาเป็นนายกฯ ท่านคือเครื่องมือของ คสช. วิธีการเดียวที่ท่านจะปลดเปลื้องภาระนี้ไป ท่านต้องตัดอำนาจเลือกนายกฯ ทิ้ง
“ฟังดูเหมือนยาก แต่เชื่อไหมครับ มี ส.ว. จำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกว่าอยากจะตัดเรื่องนี้ทิ้ง เพื่อแลกกับการได้อยู่ต่อจนครบวาระ และแลกกับการไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม”
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ที่ ผศ.ดร.ปริญญา เห็นว่าต้องได้รับการแก้ไข นั่นก็คือระบบการเลือกตั้ง
“ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งมี ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ แต่มีคะแนนเดียว (บัตรใบเดียว) มันต้องเลิก ปัญหามากเหลือเกิน ระบบเลือกตั้งมันต้องเป็นธรรมกว่านี้
“ส่วนเรื่อง ส.ว. ชุดต่อไป ผมว่ามีเวลาให้มาหารือกัน อาจจะเลิกไปเลยไหม หรือถ้ามีอยู่ก็ต้องเลือกตั้งโดยตรง แต่เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ กับเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเร่งทำ เพราะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
“และเผลอๆ การแก้รายมาตรา 2 เรื่องนี้ จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาด้วยซ้ำไป ถ้าพูดแบบการเมืองเลยนะ เพราะถ้าหากต้องการให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ และให้ ส.ว. เลือกนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง มันก็ต้องทำก่อนจะไปแก้รัฐธรรมนูญ
“ซึ่งผมคิดว่าแก้รายมาตรา ไม่ได้ยากมากนะครับ รัฐธรรมนูญ ปี 2534 เคยถูกแก้รายมาตราทั้งฉบับมาแล้ว ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เลย แต่ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป ให้ใช้ข้อความใหม่แทน
“โดยการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านวาระ 3 และผ่านประชามติเนี่ย ก็จะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 พูดง่ายๆ ถ้ามี ส.ส.ร. ขึ้นมา ก็จะแก้รัฐธรรมนูญได้ เท่าที่ปี 2538 เคยทำน่ะแหละ เพราะปี 2538 หมวด 3 เป็นต้นไป ให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้ แทนเลย
“ความแตกต่างมันมีแค่ว่า ถ้ามี ส.ส.ร. มันคือการเลือกตั้งใหม่จากประชาชน แล้ว ส.ว. ซึ่ง คสช. เลือกไว้ไม่เกี่ยวข้องเลย นี่คือความแตกต่าง ระหว่างแก้รายมาตรา กับการแก้มาตรา 256 ที่เปิดทางให้มีการเลิก ส.ส.ร.
“ผมอธิบายไปแล้วว่าเขารังเกียจ ส.ส.ร. การแก้รายมาตรา จึงมีโอกาสสำเร็จ มาตรานี้ไม่สำเร็จ มาตรานั้นอาจสำเร็จ เรื่องนี้ยอม เรื่องนี้ไม่ยอม แต่ถ้ามี ส.ส.ร. เขาไม่ยอม เพราะอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญมันจะหลุดพ้นจากเขาไปหมดเลย
“ฉะนั้น เราต้องวิเคราะห์ตรงนี้ให้ออก ที่เขาคว่ำไปเพราะต้องการให้อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในมือเขา และเขายอมได้บางเรื่อง”
สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวสรุปถึงปัญหาการเมืองไทย พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย รัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกแก้ไขทั้งฉบับ เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2534
“ประชาธิปไตยคือการปกครองตัวเองของประชาชน ซึ่งความล้มเหลวที่เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ การปฏิวัติ 13 ครั้ง เหตุการณ์นองเลือดอย่างน้อย 5 ครั้ง เป็นบทเรียนว่า ที่ผ่านมาเราผิดพลาดเพราะอะไร
“คำถามคือเราสรุปสาเหตุของความล้มเหลว จากอะไร รัฐธรรมนูญไม่ดี หรือว่าเราปกครองตัวเองกันไม่เป็น และรัฐธรรมนูญต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่เล่นกันตามกติกา มันก็ล้มเหลวอีก
“ผมเปรียบเทียบนะครับ การอยู่ร่วมกันในระบบประชาธิปไตย ความขัดแย้ง ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เหมือนการแข่งกีฬา เหมือนเตะฟุตบอล เราขัดแย้งกัน แต่เราก็เตะบอลร่วมกันได้
“ปัญหาคือ นักบอลไม่ค่อยเล่นตามกติกา กรรมการบางคนก็ไม่ตัดสินตามกติกา ส่วนคนดูก็ไม่ดูบอลตามกติกา ตั้งแต่ปี 2549 พอเห็นทีมบอลตัวเองทำท่าจะแพ้ ก็ม็อบ ปิดสนาม แล้วหนักกว่านั้นคือมีคนดูบางคนไปเรียกฝ่ายรักษาความปลอดภัยมายุติการแข่งขัน
“ผมถามว่า ถ้าไม่ทำขนาดไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง เราจะมี คสช. ไหมครับ ? มีแล้วเป็นอย่างไร ? ที่บอกว่า ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วเป็นอย่างไรครับ การเมืองในเวลานี้ ดีกว่าก่อนหน้า 22 พฤษภาคม 2557 จริงหรือ ?
“คำถามของผมคือ พรรคพลังประชารัฐ มีการเมืองที่แตกต่างไปจากการเมืองก่อนหน้านี้อย่างไร ? เราก็ได้การเมืองในแบบก่อนหน้านี้แหละครับ คือ เป็นเรื่องของการต่อรองเก้าอี้ ลองถามพรรคร่วมรัฐบาลดูซิ ตอนปรับ ครม.เขาเจรจาอะไรกัน มันคือการเมืองแบบที่เราต้องการจะเปลี่ยนไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมกลับมาแบบเดิมล่ะ ?
“ฉะนั้นจากนี้ไป เราต้องเล่นกันตามกติกา แล้วผมคิดว่า สิ่งที่น่าจะเห็นตรงกันเนี่ย คือการเมืองแบบ 1 คน 1 เสียง แล้วจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง พอได้รัฐบาลมา เราก็ตรวจสอบได้ ถ่วงดุลได้ นั่นแหละครับ คือการเมืองที่เราต้องการ
“ปัญหาใหญ่ที่ผมเสนอมาทั้งหมด คือเมื่อการร่างกติกาใหม่ยังไม่สำเร็จ ก็ต้องมาเอาเรื่องนี้ก่อน การตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ต้องตัดออกทันทีด้วย และแก้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นธรรมกว่านี้
“และผมเชื่อว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อายุไม่ยืนหรอก อนาคตข้างหน้ามันก็จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 2534 สุดท้ายแล้วก็จะมีการมาร่างใหม่ทั้งฉบับ
“ผมเชื่อว่าการร่างใหม่ทั้งฉบับจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 มันมากเสียจน แก้รายมาตรา ก็แก้ไม่ไหว ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่ดีจริงๆ นะครับ”
ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล "รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่"