พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีการจัดลำดับความสำคัญที่แปลก ดูเร่งรีบ น่าจะเป็นแผนปูทาง พล.อ.ประยุทธ์ กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง
วันนี้ (22 มิ.ย. 64) ที่รัฐสภา - นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึง การแสดงจุดยืนของพรรคก้าวไกลในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 มิถุนายน ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่าง ตนคาดว่า ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 อย่างแน่นอน เพราะเห็นแล้วว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการทำเพื่อให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนนำไปสู่การยุบสภาในเร็วๆ นี้ ซึ่งสิ่งที่พบเห็นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คือความเร่งด่วน
"ในวันนี้ที่มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.ยาเสพติด ถึง 3 ร่าง ซึ่งเสนอเข้ามาโดยคณะรัฐมนตรีและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับสามารถผ่านไปได้ จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการในการจัดการกับผู้ที่ทำผิดหรือผู้ต้องหา เพราะเป็นการรวบรวมกฎหมายแต่ละฉบับรวมเป็นประมวลกฎหมายให้บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการใช้กฎหมายเพื่อฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด" นายพิจารณ์กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายนด้วย ซึ่งหากวันนี้พิจารณากฎหมายยาเสพติดไม่เสร็จ กฎหมายฉบับนี้ก็จะถูกดองไว้อีก ตนคิดว่าเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ดูแปลกๆ นอกจากนี้การแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกบรรจุระเบียบวาระในการประชุมครั้งนี้ โดยอ้างเงื่อนไขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการทำประชามติก่อน ซึ่งหากต้องรอร่างนี้ทำประชามติ เหตุใดจึงไม่รอพิจารณาร่วมกับร่างอื่นๆ พร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อเกือบจะครบการหลักเกณฑ์ 50,000 รายชื่อแล้ว เพื่อให้ทุกร่างได้นำเข้าสู่สภาจะเป็นการเหมาะสมกว่าหรือไม่ และจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าหรือไม่ ไม่ว่าแต่ละพรรคการเมืองนอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่สามารถปิดสวิตช์ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปได้ ก็ไร้ประโยชน์ ต่อให้ระบบการเลือกตั้งจะสะท้อนเสียงประชาชนได้ดีแค่ไหนก็ตาม
"พรรคก้าวไกลยืนยันว่า มาตรา 272 ต้องได้รับการยกเลิก จึงเป็นเหตุที่ที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ยื่นร่างหรือเซ็นร่วมกับร่างใดๆ เพราะไม่อยากสร้างความสับสนให้กับสังคม เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่จะไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องยกเลิกมาตรา 272" นายพิจารณ์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการหารือในที่ประชุมเกี่ยวกับร่างมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ร่างของพรรคเพื่อไทย แต่รวมถึงการล่ารายชื่อของภาคประชาชนด้วย ซึ่งจะมีการตั้งคำถามไปที่ประธานในวันพรุ่งนี้ด้วย