svasdssvasds

“ระบบเลือกตั้ง” ประเด็นที่ต้องจับตา ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่

“ระบบเลือกตั้ง” ประเด็นที่ต้องจับตา ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 กับระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบบ MMP ที่พรรคก้าวไกล เสนอ แตกต่างๆ กันอย่างไร รวมถึงเกมการเมืองที่ขึ้น ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่นี้

ในศึกแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ที่จะเริ่มการประชุมในสภา ระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน แม้แต่ละฝ่ายจะมีการเสนอแก้หลายมาตรา แต่ประเด็นที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ ในระดับที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ นั่นก็คือการเสนอแก้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ยื่นเสนอโดย “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “พรรคเพื่อไทย” พยายามผลักดันมาโดยตลอด จึงประกาศในทันทีว่า “เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง”

สวนทางกับ “พรรคก้าวไกล” ที่ออกตัวแรงคัดค้านอย่างเต็มที่ ก่อนเสนอระบบเลือกตั้งแบบ MMP จนเกิดการกระทบกระทั่งกับ “พรรคเพื่อไทย” ถึงขนาดที่ว่า “นายภูมิธรรม เวชยชัย” ได้พูดแรงๆ ต่อหน้า นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่า “เป็นการกระทำที่ไร้วุฒิภาวะ ไร้มารยาททางการเมือง” ในรายการสุดกับหมาแก่ ทางช่องเนชั่นทีวี 22

แล้วระบบเลือกตั้งทั้ง 3 ระบบ มีความแตกต่างกันอย่างไร SPRiNG จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้  

ทักษิณ ชินวัตร

ระบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2540

รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทย ซึ่งถ้าโฟกัสไปที่ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า แบบผสมเสียงข้างมาก Mixed Member Majoritarian หรือ MMM ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันพรรคการเมือง

โดยที่มาก็เนื่องจาก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ทำให้มีหลายพรรคการเมืองมากเกินไป รัฐบาลจึงไม่มีเสถียรภาพ และอยู่ได้ไม่ครบเทอม 4 ปี จึงผลักดันนโยบายต่างๆ ได้อย่างไม่ต่อเนื่อง และหลายนโยบายต้องหยุดชะงัก กระทบกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประกอบด้วย 1. บัตรเลือก ส.ส.เขต 2. บัตรเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) โดยกำหนดให้มี ส.ส.เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซับซ้อนน้อยที่สุด เพราะในส่วนของการหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ใช้บัตรเลือกตั้งใบที่ 2 นำมาคิดหาสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค  

ระบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้ง ปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทย ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ ส.ส.แบบแลนสไลด์ 248 คน จาก 500 ที่นั่งในสภา ส่งผลให้ไทยรักไทย แทบจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย และถึงแม้จะดึงพรรคอื่นมาร่วมในรัฐบาลด้วย แต่ก็แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลในยุคนั้น อยู่ในระดับแข็งโป๊ก และสามารถอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี

และการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2548 พรรคไทยรักไทย ก็ทำลายสถิติตัวเอง กวาด ส.ส. เข้าสภาได้ถึง 377 คน

แต่หลังจากการการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องสิ้นสุดไปโดยปริยาย และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ในเวลาต่อมา โดยระบบเลือกตั้ง ยังคงเป็นบัตร 2 ใบ แบ่งพื้นที่การเลือกตั้งออกเป็นกลุ่มจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์สกัดพรรคพลังประชาชน หรือ ไทยรักไทย (เดิม) แต่สุดท้าย พลังประชาชนก็สามารถกวาด ส.ส.เข้าสภาได้มากที่สุด และกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมาก็เกิดการพลิกเกมในสภา โดย นายสุเทพ เทือกสุวรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น ได้ดึง ส.ส.กลุ่มนายเนวินเข้ามาเป็นพวก ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงปลายปี 2551  

และในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำรัฐบาล ก็ได้มีการกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2540 ผลที่ตามว่าคือ พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำทัพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 265 ที่นั่ง

แต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 ของ คสช. ในเวลาต่อมา ก็เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญปี 2560 และระบบเลือกตั้งแบบ MMA

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

หากให้กล่าวตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม Mixed Member Apportionment หรือ MMA มีวัตถุประสงค์สกัดพรรคเพื่อไทย ไม่ให้กลับมาผงาดในสภาได้อีก อีกทั้งยังมีการกันเหนียว ด้วยการให้อำนาจ 250 ส.ว. (บทเฉพาะกาล) ที่แต่งตั้งโดย คสช. ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ส.ส.ของระบบเลือกตั้งฉบับนี้ จะมี 2 ประเภท คือ ส.ส.เขต จำนวน 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.พึงมี 150 คน แต่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในเขต จะเป็น ส.ส. โดยอัตโนมัติ แต่ทุกคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองจะถูกนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี ด้วย

 หลังจากนั้น ก็นำจำนวน ส.ส.พึงมี ที่พรรคควรจะได้ (อิงจากคะแนนเสียงรวมทั้งหมดของประเทศ) ไปลบกับจำนวน ส.ส. แบบเขต ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจำนวน ส.ส.พึงมี ของพรรคนั้นๆ

และด้วยสูตรการคิดจำนวน ส.ส. พึงมี ของระบบเลือกตั้งนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.เขตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในการเลือกตั้ง ปี 2562 กลับไม่ได้ “ส.ส.พึงมี” เลยสักคน และส่งผลให้มีพรรคการเมืองในสภาเป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่า ระบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2560 แม้จะสามารถสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา แต่ก็สร้างความปวดหัวให้กับพรรคแกนนำไม่ใช่น้อย ที่ต้องอาศัยพรรคร่วมฯ หลายๆ พรรค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่หลายคนไม่คาดคิด ที่จู่ๆ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540  ทำให้พรรคเพื่อไทยขานรับในทันที แต่ก้าวไกลร้อง “เฮ้ย” ขึ้นในทันใด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ระบบการเลือกตั้ง MMP ที่พรรคก้าวไกล เสนอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะพิลึกพิลั่น และในโลกนี้ มีใช้เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็เป็นระบบที่ส่งผลดีให้กับพรรคขนาดกลางและเล็ก แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งในเขตนั้นๆ แต่เมื่อมีการนำทุกคะแนนเสียงมานับเพื่อหา ส.ส.พึงมี ทำให้มีลุ้นเข้าไปนั่งสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งจากกรณีพรรคพลังประชารัฐ ยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญ ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 พรรคก้าวไกลก็แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน โดยได้ชี้แจงว่า ทางพรรคเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะดีกว่าระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่ก็ยังไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด และได้เสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน Mixed Member Proportiona หรือ MMP ของประเทศเยอรมนี

โดยระบบนี้มีใช้ในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี อิตาลี เม็กซิโก และนิวซีแลนด์ ฯลฯ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ใบที่หนึ่ง เลือก ส.ส. เขต และใบที่สองเลือก ส.ส.พึงมี (เลือกพรรค) โดยจะนำคะแนนของบัตรใบที่ 2 มาหาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค แล้วลบออกจากจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคนั้นได้รับ ซึ่งการเลือกตั้งในระบบนี้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่า จะทำให้ประเทศได้ ส.ส.ในสัดส่วนที่เหมาะสม

และหากอธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดๆ ระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเป็นแบบกินรวบ คะแนนที่เลือกผู้ชนะเท่านั้น ถึงจะมีความหมาย ส่วนคะแนนเสียงของผู้ที่แพ้ แม้จะเพียงเฉียดฉิว แต่ก็ไร้ค่าไร้ราคา ต่างจากระบบ MMP ที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียง แม้วิธีการคิดคำนวณจะซับซ้อนอยู่บ้างก็ตาม  

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำไมพรรคพลังประชารัฐ จึงยื่นขอแก้ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2560  

ถ้าโฟกัสไปที่พรรคพลังประชารัฐ หมากเกมนี้ถ้าเป็นไปตามแผน ก็เรียกว่ากิน 2 ต่อ ต่อแรกก็คือรอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระหว่างเพื่อไทย กับก้าวไกล ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเวลานี้

ต่อที่ 2 ก็คือ ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า ตอนนี้ศักยภาพในการได้รับเลือกตั้งของพรรค ไม่ได้ด้อยไปกว่าเพื่อไทยเลย ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อมเกือบทุกสนาม ที่พลังประชารัฐเป็นฝ่ายกำชัย ภายใต้การนำทัพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ขึ้นชั้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่แล้ว จึงมีการประเมินว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวน ส.ส. อาจจะสูสีกับพรรคเพื่อไทย และเผลอๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

แต่ถึงจะแพ้ ทางพรรคก็คงคาดว่าคงแพ้ไม่มาก อีกทั้งยังมี ส.ว. 250 เสียง เป็นแต้มต่ออยู่ ทำให้พลังประชารัฐมีท่าทีที่มั่นอกมั่นใจว่า เลือกตั้งสมัยหน้า พรรคจะกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลได้อีก... อย่างแน่นอน

ระบบเลือกตั้ง

อ้างอิง

related