ประชุมสภา ถกแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก ส.ว.วันชัย ซัดเดือด ส.ส. แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ส.ส. ลุกขึ้นประท้วงระนาว เหตุ ส.ว.วันชัย อภิปรายเสียดสี ส.ส.
วันนี้ (23 มิ.ย. 64) - ที่รัฐสภามีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ในวาระแรกรับหลักการ ประกอบด้วย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ พรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ ส่วนฝ่ายค้าน ได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ ซึ่งเมื่อเริ่มประชุม ประธานรัฐสภาได้เปิดโอกาสให้ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ชี้แจงหลักการและเหตุผล
โดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งสิ้น 13 มาตรา 5 ประเด็น ประกอบด้วย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อต้องการแก้คำครหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพยายามล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมาพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและพรรคพลังประชารัฐหวังจะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้วุฒิสภาร่วมเห็นชอบไปได้ และเป็นประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องผ่านการทำประชามติที่ต้องใช้งบประมาณหลายพันล้าน เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เดินหน้าต่อไป ได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ฝ่ายค้าน เสนอ 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกอบด้วย
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีหลายเรื่องยังขาดความชัดเจนในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ โดยเฉพาะ สิทธิในการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี ไม่มีการบัญญัติไว้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่สากลไม่ยอมรับ
ส่วนการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบนั้น เนื่องจากระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีปัญหาหลายด้านไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนมีความยุ่งยากซับซ้อนตั้งแต่การจัดเลือกตั้งและการคำนวณคะแนน ต่างจากระบบบัตร 2 ใบ มีความเป็นธรรม ประชาชนเข้าใจง่าย
และอีกมาตราสำคัญที่ฝ่ายค้านเสนอคือการปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในระยะ 5 ปี นายสมพงษ์ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้มีใจรังเกียจสมาชิกวุฒิสภา แต่โดยหลักการ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมายหมาย ซึ่งตามบทบัญญัติหลักก็ไม่มีอำนาจส่วนนี้อยู่แล้ว จึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาลต่อไป
ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ในนามพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่
ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายสรุป ความจำเป็นชี้ว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เท่าที่ควร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น
ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินทำกิน และสิทธิทางกฎหมาย เพิ่มอำนาจการตรวจสอบ กรรมการ ป.ป.ช. ที่สามารถทำง่ายขึ้นแก้ปัญหาการต่อรองทางการเมือง ระหว่าง ประธานรัฐสภา กับ ป.ป.ช. ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนการเสนอรื้อระบบเลือกตั้ง ใช้บัตรเลือกตั้ง แบบบัตร 2 ใบนั้นเห็นว่า ยิ่งทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แยกเลือกคน แยกเลือกพรรคได้ ไม่ต้องถูกบังคับแบบปัจจุบันที่เอาคนกับพรรคมามัดรวมกัน เหมือนข้าวต้มมัด ยิ่งทำให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น
ส่วนการแก้อำนาจ ส.ว. ปิดสวิตช์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ส.ว. ยังมีความจำเป็น ระบบรัฐสภาควรเป็นสองสภา ไม่ใช้สภาเดียว แต่เนื่องจาก ส.ว. ไม่มีจากการเลือกตั้งจึงควรจำกัดอำนาจ ให้มีอำนาจเพียงการกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจเกินเลยไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี แบบ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และยืนยันว่าการเสนอประเด็นนี้ไม่ได้หวังกีดกันใครบางคนไม้ให้สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีกในอนาคต
ส่วน 2 ฉบับของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่
โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายชี้แจงว่าการชดเชยรายได้ให้กับประชาชนถ้วนหน้า เป็นเรื่องสำคัญ โดยใช้เกณฑ์เส้นแบ่งความยากจน เนื่องจากเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประเมินว่า ในปี 2561 คนไทย 6.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากร มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ 2,763 บาท ต่อคนต่อปี ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงเสนอในหมวดหน้าที่ของรัฐ ให้รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง เชื่อว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เป็นระบบ กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดินแต่ละปีอย่างชัดเจน
ด้าน ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา เริ่มต้นการอภิปราย โดยนายวันชัย สอนศิริ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มองว่าพรรคเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน มีอิทธิพลล่วงลูกและก้าวก่าย
ส่วนเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น ส่วนตัวสนับสนุน แต่หลายเรื่องที่ ส.ส. เสนอมานั้น ถือว่า กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ ส.ว. ส่วนตัวเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งว่าใครจะได้ ส.ส. มากกว่ากัน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาของการเลือกตั้งคือการทุจริตซื้อเสียงแต่ กลับไม่มีเคยมีการคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการซื้อเสียง ทั้งๆ ที่เรียกร้องมาตลอด ส่วนตัวเชื่อว่า ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค มีส่วนร่วมในการคัดคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทุกคะแนนของประชาชนมีราคาไม่เสียเปล่าเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ นักการเมืองใหม่ แต่สิ่งที่เสนอแก้มา จะทำให้พรรคเล็กๆ หายไปพรรคใหญ่ๆ ทุนหนาๆ จะผงาดอย่างแน่นอน กลับไปสู่ยุคที่นายทุนพรรคครอบงำพรรค คนมีเงินมีอำนาจมีบทบาททางการเมือง พรรคการเมืองจะกลายเป็นเพียงบริษัท ลูกพรรค ส.ส. ก็กลายเป็นเพียงพนักงานบริษัท เกิดเป็นธุรกิจการเมือง ปิดสวิตช์คนตัวเล็กเข้ามามีบทบาททางการเมือง
ทั้งนี้บางช่วง การอภิปรายของนายวันชัย ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ว่านายวันชัย อภิปรายเสียดสี ส.ส. โดย นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ นายวันชัย ลาออกจากการเป็น ส.ว. เพื่อไม่ให้เป็นรอยด่างของระบอบประชาธิปไตย ถ้ารู้ตัวแล้วก็ควรลาออก ไม่ควรมาเอาดีใส่ตัว
ซึ่งนายวันชัย กล่าวว่าสิ่งที่พูดไม่ได้หมายถึงใครโดยเจาะจง แต่พูดถึงระบบเลือกตั้งโดยรวม ส่วนเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเพียงวาทะกรรมโจมตี ส.ว. แต่หาก ดูเจตนารมณ์ลึกๆ ของรัฐธรรมนูญอำนาจในการสถาปนานายกรัฐมนตรี คืออำนาจของประชาชนที่เลือกตั้งผ่าน ส.ส. ซึ่งรัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ ส.ส. ไม่ได้เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งสิ้น หาก ส.ส. เสียงข้างมากเลือกใคร ส.ว. ก็ต้องเลือกคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้า ส.ว.ไปเลือกคนอื่น รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ส.ว. ก็อยู่ไม่ได้เพราะสวนกระแสประชาชน
การอภิปรายเริ่มดุเดือดมาขึ้นในช่วงการอภิปรายของ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายถึงที่มาของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ที่มาจากการการแต่งตั้งโดย คสช. จากพวกพ้องของ คสช. เข้ามาทำหน้าที่สืบทอดอำนาจให้กับ คสช. ให้สามารถสถาปนาระบอบประยุทธ์ ได้สำเร็จ ส.ว. ที่เข้ามาทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่มีความชอบธรรม
ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วง ตอบโต้ว่า ว่า ส.ว. มาจากบทเฉพาะกาลที่ประชาชนทำประชามติมา 16 ล้านคน แต่ ส.ส. ที่อภิปรายนั้นมีพื้นที่หรือไม่ เพราะคะแนนที่ได้มาก็มาจากการปัดเศษ ทำให้พรรคก้าวไกลลุกขึ้นประท้วงต่อ จนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาอยู่ ต้องปิดไมโครโฟน ขณะที่นายนวิโรจน์ ลักษณะอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ชี้ว่าสิ่งที่นายกิตติศักดิ์ พูดถึงเป็นการเสียดสี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่มาจากการปัดเศษ เรียกเสียงฮาในที่ประชุม ขณะที่ประธานพรเพชร บอกว่า ถึงกับงง ซึ่งนายกิตติศักดิ์ ประกาศว่า หาก ส.ส. ยังเสียดสี ส.ว. อีก จะประท้วงอย่างต่อเนื่อง
จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม ได้อภิปรายเรียกร้องให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะอำนาจนี้เป็นการแช่แข็งประเทศไทย ไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า บางช่วงใช้คำว่า ส.ว. ควรสำเหนียกตัวเองในการสละอำนาจอันไม่ชอบธรรม เลิกทำบาปทำกรรมกับประเทศชาติ ทำให้ ส.ว.กิตติศักดิ์ ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง