svasdssvasds

1 วันของทหารพราน รั้วเหล็กสีดำแห่งชายแดนเหนือ

1 วันของทหารพราน รั้วเหล็กสีดำแห่งชายแดนเหนือ

ถ้าสินค้าในอุดมคติควรจะมีราคาถูก คุณภาพเยี่ยม และรวดเร็ว นักรบในอุดมคติที่ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็นทหารพราน เพราะพวกเขาทั้งรวดเร็ว รุนแรง และเรียบง่าย

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงของทหารพรานจากสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ความเก่งกาจของทหารพรานที่ฝ่าดงกระสุนของทหารลาวเพื่อเข้าไปชิงพื้นที่ขัดแย้ง หรืออาจเป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทหารพรานถูกใช้เป็นแนวหน้า คุ้มกันประชาชน และทำงานด้านความมั่นคงอย่างแข็งขัน

แต่นอกจากสมรภูมิเหล่านั้น พื้นที่ความมั่นคงสีแดงในภาคเหนืออย่าง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทหารพรานทำงานอย่างขันแข็ง เพื่อป้องกันไม่ให้สึนามิของยาเสพติดทะลักข้ามชายแดนเข้ามาสู่ประเทศไทย 

ไม่วาจะฤดูร้อนแล้งหรือน้ำหลาก ทุกรุ่งเช้า พวกเขายังจะอยู่ในชุดสีดำมะเมี่ยมพร้อมผ้าพันคอหลากสี แบกปืน M14 เข้าสู่ป่า ตกเย็น พวกเขาจะแขวนผ้าใบกับต้นไม้ใหญ่และเอนตัวลงนอนท่ามกลางแสงดาว คอยสดับฟังเสียงจิ้งหรีดเรไร พร้อมกับรอยขยับหนักเบาจากใบไม้แห้ง เฝ้าระแคะระคายว่านั่นคือเสียงของสัตว์ป่าหรือผู้ลักลอบขนยาเสพติด 

เราเดินทางขึ้นเหนือบุกป่าฝ่าดงไปกับทหาพรานประจำฐานฯ เจ้าแม่มัลลิกา กองทัพภาคที่ 3 ตามไปดูว่ารั้วนิลกาฬริมชายแดนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และสุ่มเสี่ยงแค่ไหนจากสถานการณ์ยาเสพติดข้ามชายแดน

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]
 

  1. กลางป่าติดชายแดน 

พื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความซับซ้อน เพราะเส้นแขตแดนที่ควรสมานกันระหว่างประเทศ ไทย – เมียนมา มีพื้นที่อ้างสิทธิ ‘ดอยลาน’ ขนาดราว 36 ตร.กม.กั้นอยู่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพไทย, ฐานทัพเมียนมา, ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มว้าที่เป็นผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ของสามเหลี่ยมทองคำ 

ก่อนหน้านี้ พื้นที่บริเวณนี้อนุญาตให้คนจากประเทศเมียนมาข้ามมาได้ แต่ภายหลังการระบาดของไวรัส COVID-19 และการรัฐประหารในเมียนมา พื้นที่นี้ก็ถูกปิด (ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เช่น พบแพทย์) ทำให้ในปัจจุบันนอกจากปัญหายาเสพติด พื้นที่บริเวณนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น การหลบหนีเข้าเมืองและสินค้าหนีภาษี 

หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่หลักจะเป็นใครไม่ได้ นอกเสียจากทหารพราน ฐานฯ เจ้าแม่มัลลิกาที่ต้องหมั่นออกลาดตระเวนทุกวัน และทุกครั้งที่มีการแจ้งมาว่ามีผู้กระทำผิดกฎหมายข้ามแดนมา

“เราลาดตระเวนตามวงรอบ ถ้าอากาศดีก็ลาดตระเวนทุกวัน แต่ในกรณีที่ฐานริมกกแจ้งว่ามีเรือขนคนลงมา เราจะจัดกำลังพลขึ้นไปดักแล้วรายงานทางหน่วยเหนือ” หนึ่งในทหารพรานเล่าให้ฟัง 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]
 

ทุกครั้งที่ทหารพรานออกลาดตระเวน สิ่งของติดตัวพวกเขานอกจากอาวุธประจำกายอย่างปืน M16 แล้ว ก็มักประกอบไปด้วย อาหารสำเร็จรูปของกองทัพ, สตั๊ดดอย, มีด ซึ่งส่วนใหญ่ทหารพรานหลายคนเลือกจะซื้อของใช้ด้วยตัวเองมากกว่าใช้ของที่กองทัพบกจัดเตรียมให้ ด้วยเหตุผลต่างกันไป 

“ผ้าเต็นท์ส่วนมากซื้อเอง ยากันยุงก็ซื้อเอง ผ้ายางที่หลับที่นอนก็ซื้อเอง ส่วนมากคนที่ออกงานจะหาเอง เพราะของใครของมันดูแลง่ายกว่า” วรายุทธ พิศจาร อาสาสมัครทหารพรานกล่าว

“ทบ.มีผ้ากันฝนให้ แต่พอใช้นานเข้าน้ำมันจะซึม ทำให้เราเปียกได้ เลยซื้อเองดีกว่าได้ขนาดที่เราต้องการด้วย” 

“ทบ.ไม่มีมีดให้ ตอนนั้นผมทำงานติดกับทางลาว เขาเลยเอามีดมาฝาก ผมชอบมีดแบบสั่งทำ ทรงกะทัดรัดดี” ทางด้านทหารพรานอีกรายเล่า 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

ในกรณีที่อยู่ในป่าแล้วตกค่ำ ทหารพรานจะทำการตั้งจุดพักแรม โดยจะแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนมีทั้งคนคอยคุ้มกัน, คนทำที่พัก, พ่อครัว โดยพ่อครัวมักมองหาว่าในพื้นที่นั้นมีอะไรที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารได้ ซึ่งในฤดูฝนเช่นนี้ ส่วนใหญ่ก็จะไม่พ้นจำพวกหน่อไม้หรือหัวปลีป่า 

พวกเขาใช้ชีวิตกันในป่าอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะครบรอบเปลี่ยนเวร หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ ซึ่งอาจยายนานเป็นวันหรือสัปดาห์ ไม่มีใครรู้ได้

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

(2) การส่งกำลังพล ทางบก – น้ำ 

ถึงแม้ทหารพรานจะมีความเชี่ยวชาญในการอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร แต่การขนส่งอุปกรณ์ของใช้ที่สำคัญ อาทิ เสบียง, น้ำสะอาด หรือยุทโธปกรณ์ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี

โดยทั่วไป การขนส่งปัจจัยสำคัญจะถูกส่งผ่านทางถนนเป็นหลัก แต่ในบางฐานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือถนนยังเข้าไม่ถึง ต้องมีการขนส่งของใช้จำเป็นด้วยวิธีพิเศษ ได้แก่ เรือยนต์และสัตว์ป่า

สำหรับการขนส่งทางน้ำ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือฐานแก่งทรายมูล ของกองร้อยทหารพราน 3209  ที่จะรับผิดชอบขับเรือยนต์ทวนกระแสน้ำขึ้นไปส่งของใช้จำเป็น อาทิ น้ำดื่ม, ข้าวสาร, อาหารสด แก่ฐานที่ติดริมแม่น้ำ เช่น ฐานแม่น้ำกกราว 1 ครั้ง/ สัปดาห์ โดยแต่ละรอบใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง 

การส่งกำลังช่วยเหลือฐานน้ำกกมีความสำคัญ เพราะฐานดังกล่าวคล้ายเป็นประภาคารคอยตรวจตรากลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง, ลักลอบนำเข้าของหนีภาษี รวมถึงยาเสพติดที่มักจะใช้แม่น้ำกก ซึ่งไหลมาจากในเมียนมาเป็นเส้นทางสัญจร 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

สำหรับวิธีการขนส่งด้วยล่อ มักจะใช้ส่งกำลังในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นป่ารกชัฏ หุบเหว หรือมีแม่น้ำต้องฝ่าผ่านไป โดยทีมล่อมีหน้าที่หลักทั้งหมด 3 ประการ 

  • ขนส่งอุปกรณ์
  • ขนส่งผู้ป่วยหรือบาดเจ็บ
  • สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ 

วงรอบขนส่งของทีมล่อจะไปสู่แต่ละฐานจะอยู่ที่ 5 วัน/ ครั้ง โดยการขนส่งเสบียงแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วย หัวหน้าชุด 1 นาย (นายสิบ) ลูกทีมอีก 4 นาย และล่อ 4 ตัว โดยรับผิดชอบส่งเสบียงทั้งหมด 5 ฐาน ได้แก่ ฐาน บก.หมวด อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, ฐาน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 2 จุด, ฐานบ้านแกน้อย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และฐานบ้านแม่หม้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยฐานที่ไกลที่สุดอยู่ห่างออกไป 22 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง 

เจ้าหน้าที่อธิบายถึงสาเหตุที่ใช้ล่อในการขนส่งว่า ล่อเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อลาและแม่ม้า ทำให้มันมีความฉลาดเหมือนม้า และอึดทนเหมือนลา อย่างไรก็ตาม นิสัยเสียคือมักจะหงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะในฤดูฝน และต้องระมัดระวังห้ามเข้าทางข้างหลังเพราะอาจถูกถีบได้ 

“ทหารแต่ละคนจะมีล่อประจำตัว เพื่อให้เกิดความผูกพันธ์ ตื่นเช้ามาต้องให้อาหาร ทำความสะอาด แปรงขนให้เหมือนสัตว์เลี้ยงตัวนึง เพื่อให้เกิดความผูกพันธ์ในการทำงาน ล่อจะได้ไม่ดื้อ”

หนึ่งในเจ้าหน้าที่อธิบายพร้อมย้ำว่าทีมงานของเขาทุกคน “รักสัตว์ครับ”

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

3. ความเสี่ยง ความรุนแรง พื้นที่สีแดง 

ยิงปะทะกลุ่มขบวนการขนยาเสพติดตาย 6 คน ยึดยาบ้า 1.3 ล้านเม็ด 

วิสามัญฆาตกรรม 2 ผู้ค้ายาเสพติด ชายแดนแม่อาย จ.เชียงใหม่

‘ทหาร’ ปะทะเดือด ‘แก๊งขนยาบ้า’ แม่อาย-เชียงใหม่ ยึดของกลาง 3 แสนเม็ด

ข่าวทำนองข้างต้นถูกรายงานจนเป็นเรื่องปกติบริเวณชายแดนแห่งนี้ และเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ร่วมของทหารพรานที่เคยประจำการบริเวณนี้ 

วรายุทธ พิศจาร อาสาสมัครทหารพรานหนุ่มวัย 33 ปี เล่าว่าตัวเขาเป็นทหารพรานมาแล้ว 9 ปี เคยลงไปประจำที่ชายแดนหลายแห่ง รวมถึงเคยไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เชียงใหม่นับเป็นพื้นที่ที่ ‘โหดที่สุด’ เพราะเกิดกรณีปะทะกับกลุ่มลักลอบขนยาเสพติดอยู่บ่อยครั้ง 

เขาย้อนความจำถึงครั้งที่เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มผู้ลักลอบค้ายาเสพติดให้ฟังว่า ตอนนั้นประจำการอยู่ที่ฐานเจ้าฝาง และได้รับมอบหมายให้ไปดักซุ่มรอกลุ่มผู้ลักลอบขนยาเสพติด จนพบเห็นบุคคลต้องสงสัยจึงร้องตะโกนให้หยุด แต่อีกฝ่ายกลับยิงตอบโต้ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ภายหลังเสียงปืนสงบพบยาบ้าประมาณ 20,000 เม็ด 

“ไม่กลัวตายครับ คนเราอยู่ที่ไหนถ้ามันจะตายมันก็ตาย อยู่ที่จะตายแบบไหนเท่านั้นเอง” วรายุทธสะท้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

วรายุทธได้รับเงินเดือนจากอาชีพทหารพรานประมาณ 16,000 บาท โดยเขาใช้เงินมากกว่าสามในสี่ผ่อนรถกระบะ ส่วนเงินที่เหลือส่งกลับให้ครอบครัวที่ประกอบด้วย ลูกชาย 2 คน, ภรรยา, พ่อ และแม่ ถึงแม้วราวุธยอมรับว่าเงินเดือนที่ได้รับยังไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่เขาอยากเรียกร้องมากกว่าคือสวัสดิการที่ดีขึ้น อย่างน้อยให้เทียบเท่ากับข้าราชการปกติ 

“ถ้าอยากได้เพิ่มคือเรื่องสวัสดิการในการรักษาพยาบาล ทุกวันนี้ถ้าไม่ว่าตัวเราหรือครอบครัวป่วยไข้ เราต้องสำรองออกไปก่อน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากขอให้ได้เท่าราชการ ผมคิดว่าบางคนคิดเหมือนผม ไม่ได้เรียกร้องเรื่องเงินเดือน แต่อยากได้สวัสดิการที่ดีขึ้น” วรายุธกล่าว 

สำหรับอาสาสมัครทหารพรานถือว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวของราชการ โดยมีสิทธิที่ค่อนข้างครอบคลุม อาทิ เงินค่าเล่าเรียนบุตร, ค่ารักษาพยาบาลตัวเองและครอบครัว รวมถึงมีเงินช่วยเหลือหลังพ้นราชการ คิดตามอายุราชการ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะลูกจ้างชั่วคราวทำให้ทหารพรานหลายตั้งเป้าจะสอบเป็นนายสิบให้สำเร็จ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านอายุ ทำให้เป้าหมายในหน้าที่การงานของวรายุทธแตกต่างออกไป 

“ถ้าเป็นนายสิบต้องอายุไม่เกิน 30 ปี แต่ผม 33 ปีแล้ว ก็เลยคิดว่าคงน่าจะประคับประคองตัวเองให้ไปถึงวัยเกษียณของทหารพราน” วรายุทธกล่าว 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

4. ในพงไพ ยังมีเมรัยและผองเพื่อน

หมูย่าง, ปลาดุกย่าง, หน่อไม้ และน้ำพริก อาหารเหล่านี้อาจดูแสนธรรมดาในเมืองใหญ่ แต่สำหรับทหารพรานที่ใช้ชีวิตติดชายแดน สิ่งเหล่านี้คือ “มื้อพิเศษ” ที่นานๆ จะได้ลิ้มลองสักครั้ง

“ฝนฟ้าตกมาหลายวัน เลยบอกให้ลูกน้องไป ซื้อปลา ซื้อหมู มาปิ้งกินกัน เราต้องผ่อนคลายบ้างเราอยู่ชายแดน ต้องมีสังสรรค์กันบ้าง แต่ทุกคนพร้อมปฏิบัติงานในทันที ถ้ามีเหตุ” ร.อ.เทพฤทธิ์ สมัครเขตวิทย์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 3201 กล่าว 

เราได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมเยือนฐานย่อย 2 แห่งของฐานเจ้าแม่มัลลิกา และได้พบเห็นจังหวะชีวิตหลังเลิกงานของเหล่าทหารพราน หลังอาบน้ำอาบท่า พวกเขาจะมาล้อมวงกินข้าวด้วยกัน และหากไม่ใช่มื้อพิเศษ วัตถุดิบส่วนใหญ่มักเป็นพืช เช่น หน่อไม้ต้ม, ผัดหน่อไม้, ยำหัวปลี 

“ช่วงนี้อาหารหลักคือหน่อไม้ต้ม เพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ทหารพรานรายได้ไม่เยอะ ถ้าหักเงินค่ากับข้าวเยอะ เงินลูกน้องก็จะหมด” ร.อ.เทพฤทธิ์กล่าว

โดยจากเงินเดือน 16,000 บาท ทหารพรานจะถูกหักค่าอาหาร 10 บาท/ มื้อ เท่ากับว่าเดือนนึงพวกเขาจะถูกหักค่ากับข้าวไปโดยอัตโนมัติที่ประมาณ 900 - 930 บาท/ เดือน 

“เป็นนโยบาย ผบ.ทบ.ในการดูแลกำลังพลเรื่องการกินการอยู่ แต่เราทำได้พอประมาณ เพราะเราเป็นหน่วยชายแดน ตรงนี้ถือว่ามีน้ำมีไฟค่อนข้างสะดวกแล้ว แต่ถ้ามองไปที่ฐานข้างล่างไฟก็ไม่มี โซลาเซลล์ก็ต้องจัดหาเอง” ร.อ.เทพฤทธิ์กล่าวถึงฐานย่อยๆ ในสังกัดของเขา ที่บางฐานไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และถนนยังเป็นดินแดง

"ตรงนี้ถือว่ามีน้ำมีไฟค่อนข้างสะดวกแล้ว แต่ถ้ามองไปที่ฐานข้างล่างไฟก็ไม่มี โซลาเซลล์ก็ต้องจัดหาเอง”

ไม่ใช่เพียงแค่ฐานของ ร.อ.เทพฤทธิ์เท่านั้น ฐานหลายแห่งในสังกัดฐานเจ้าแม่มัลลิกายังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงและไม่มีการติดตั้งโซลาเซลล์ ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ เช่น ฐานศาลาเขียว ที่อยู่ใต้บังคับของ ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน มือปราบพ่อค้ายาและผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 3207 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

ถึงแม้อาหารจะดีบ้างไม่ดีบ้างตามแต่เงินในกระเป๋า แต่สิ่งหนึ่งที่ทหารพรานไม่เคยขาดคือสุราเมรัย โดยเฉพาะ ‘สรถ.’ หรือสุราพื้นบ้านที่ชาวบ้านกลั่นขึ้นมาจากพืชไร่ของตัวเอง และถึงแม้สินค้าเหล่านี้จะยังไม่ติดอากรณ์แสตมป์ แต่ก็ถือว่าหยวนกันไปตามภาษาเพื่อนมนุษย์

“ถ้าเราไปซื้อเหล้าที่ติดยี่ห้อ มันค่อนข้างจะแพง ก็เลยต้องหาเหล้าโรงต้มที่ปลอดภัย เหล้า OTOP กินเอา มันจะได้ถูกลงนิดนึง เราก็บอกเขาว่าซื้อมากินกันบนฐาน ถือเสียว่าอุดหนุนชาวบ้าน” ร.อ.เทพฤทธิ์เล่าให้ฟัง

“ทุกคนนั่งดื่มแต่รู้ขอบเขต ไม่ได้กินจนเมามาย ทำงานได้เลยถ้ามีเหตุ เพราะทุกคนคือเป็นทหารพรานด้วยจิตวิญญาณ” ร.อ.เทพฤทธิ์พูดย้ำเป็นครั้งที่สาม ขณะที่เสียงจากโต๊ะด้านหลังเชียร์ให้ช่างภาพของเรายกหมดแก้วยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา]

5. ปลายทางของแม่อาย 

หากจะถามว่าชีวิตที่อยู่อย่างทุรกันดารและแขวนอยู่บนเส้นด้ายเช่นนี้ของทหารไทยจะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่ คำตอบดังกล่าวคงสัมพันธ์กับปัญหายาเสพติดข้ามแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา การปราบปรามยาบ้าของไทยจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว แต่ พ.อ.สกลวรรธน์ พุ่มมรินทร์ รอง ผบ.ควบคุม ทพ.ศปก.ทภ.3 กลับมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความสำเร็จเท่าใด 

“ปีนี้จับได้มากขึ้น แต่การจับมากขึ้นมันอาจแปลว่ายาเสพติดมันเพิ่มขึ้น หรือแปลว่าปีที่แล้วเราจับได้น้อยทั้งที่ยามันเยอะก็ได้” พ.อ.สกลวรรธน์สะท้อนอย่างไม่มองโลกสวยนัก 

นอกจากความใกล้ชิดกับพื้นที่ผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ บวกกับสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขา ร.อ.เทพฤทธิ์ยังเสริมว่าความจนของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นอีกสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนเหล่านี้ยังรับจ้างขนยาเสพติด แลกเงินหลักหมื่นกับโทษนำเข้ายาเสพติดหรือการวิสามัญจากเจ้าหน้าที่ 

“ชุมชนแถวนี้ประกอบอาชีพหลักๆ อย่างเดียวคือ เกษตรกรรม หมดฤดูเก็บเกี่ยวเขาก็ไม่มีอาชีพอื่น หลังหมดหน้าเก็บเกี่ยว เขาเลยรับจ้างลำเลียงยาเสพติด ถ้าทำสำเร็จก็ได้หลายหมื่น” ร.อ.เทพฤทธิ์กล่าว 

ดังนั้น ไม่ว่าจะถามจากเจ้าหน้าที่คนใด สถานการณ์ที่ชายแดนแห่งนี้ก็ยังเหมือนเดิมและไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น ไม่ว่าปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหนๆ  

 

อ่านเนื้อหาอื่นๆ เกี่ยวกับทหารพรานชายแดนแม่อายได้ที่: 

(1) ‘ฝันร้ายของพ่อค้ายา’ ทหารพรานที่ค่าหัวแพงที่สุด ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน

(2) รัฐไทยในเกมแมวจับหนู ทำไมยาเสพติดไม่เคยหมดสิ้นจากเมืองไทย?

 

สัมภาษณ์: สุทธิพัฒน์​ กนิษฐกุล & ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ถ่ายภาพ: ณปกรณ์​ ชื่นตา

ออกแบบปก: สุรัสวดี มณีวงษ์ 
 

related