svasdssvasds

‘ฝันร้ายของพ่อค้ายา’ ทหารพรานที่ค่าหัวแพงที่สุด ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน

‘ฝันร้ายของพ่อค้ายา’ ทหารพรานที่ค่าหัวแพงที่สุด ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน

ชื่อของ ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน อาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก แต่เขาคือหัวหน้ากองร้อยที่รับผิดชอบงานปราบปรามยาเสพติดมือหนึ่งชายแดนเหนือ เป็นไม้เบื่อไม้เบากับยาเสพติด และเป็น ‘ฝันร้าย' ของเหล่าพ่อค้ายาเสพติด จนถูกตั้งค่าหัวสูงที่สุดถึงอย่างน้อย 400,000 บาท

ถึงแม้จะไม่ได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้ายาเสพติดออกมาทุกวัน แต่เชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะรู้ว่าชายแดนภาคเหนือ ไทย – เมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมากที่สุดในประเทศไทย 

ข้อมูลจาก ป.ป.ส.ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม - มิ.ย. พ.ศ. 2566) สามารถตรวจยึดยาบ้าทั่วประเทศได้ทั้งหมด 500 ล้านเม็ด แต่เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือก็นับเป็น 250 ล้านเม็ด หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนยาเสพติดทั้งหมดที่จับกุมได้แล้ว 

แง่หนึ่ง ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนสภาพปัญหาที่น่ากังวล แต่ก็สะท้อนการทำงานอย่างแข็งขันของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่อยู่ด่านหน้าที่สุดของการปราบปรามยาเสพติด หรือหน่วยทหานพรานที่ขึ้นตรงกับกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 

และเมื่อถามในหมู่รั้วเหล็ก ชื่อของ ร.อ.ประกาศิต ปลอบโยน ผบ.ร้อย.ทพ.3207 ก็ถูกพูดถึงขึ้นมาทันใด ด้วยผลงานปราบปรามยาเสพติดอย่างแข็งขัน ยึดของกลางยาบ้าหลายล้ายเม็ด วิสามัญคนในขบวนการอย่างต่ำ 50 ราย จนทำให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถูกตั้งค่าหัวสูงที่สุดถึงอย่างน้อย 400,000 บาท 

ท่ามกลางบรรยากาศที่ยังตึงเครียดของปัญหายาเสพติดชายแดน เราได้มีโอกาสนั่งข้างกองไฟคุยกับมือปราบยาเสพติดมือหนึ่งแห่งภาคเหนือถึงมุมมองต่อปัญหายาเสพติดทั้งในชายแดนและในประเทศ หลักคิดในการทำงานที่ทำให้ไม่เคยมีลูกน้องในทีมบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนชีวิตในช่วงวัย 58 ปี ที่อีกไม่นานคงต้องวางยศและวางปืน กลับสู่ครรลองชีวิตคนธรรมดา

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

เล่าให้ฟังหน่อยว่าจาก ‘เด็กชายศิต’ จับจับพลัดจับผลูยังไงถึงมาเป็น ‘ร.อ.ประกาศิต’ 

ตอนนั้นเรียนอยู่ กศน.แล้วเห็นทหารแต่งตัวเท่ เราก็อยากเป็นแบบเขาบ้าง หลังเรียนจบเลยมาสมัครเป็นทหารเกณ์ 2 ปี จน พ.ศ.2523 ผมก็มีโอกาสไปสอบเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าทหารปืนใหญ่ ปรากฏว่าติด หลังจากนั้นก็เรียนต่ออีก 1 ปี แล้วบรรจุครั้งแรกที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ประจำการอยู่ที่นั่น 11 ปี 

หลังจาก พ.ศ. 2545 เราก็ย้ายกลับภูมิลำเนาแล้วเปลี่ยนมาเป็นทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 32 ขึ้นชายแดนที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน แล้วย้ายไปม่อนตะแลง จ.แม่ฮ่องสอน ป้องกันอธิปไตยที่เนิน 866 แล้วย้ายไป อ.ภูซาง จ.พะเยา มีหน้าที่ขึ้นตรวจหลักเขตแดนของประเทศไทย – ลาว 

เรารักในอาชีพทหาร เราอยากทำงานด้านนี้ ชอบความผาดโผน ชอบความท้าทาย ชอบอยู่ตามภูมิประเทศอยู่ตามป่าเขา ทหารพรานเป็นนักรบกึ่งประชาชน เป็นนักรบที่ประชาชนสมัครเข้ามาเป็นทหารพราน พอมาเป็นทหารพรานเราได้ป้องกันอธิปไตยไปด้วย สกัดกั้นยาเสพติดไปด้วย เราชอบ 


 

เริ่มอาชีพนี้จากความรักความชอบใช่ไหม 

ใช่ มันเริ่มมาจากความรักความชอบ เรารักในอาชีพทหาร ชอบความผาดโผน ชอบความท้าทาย ชอบอยู่ตามภูมิประเทศอยู่ตามป่าเขา ไม่ชอบอยู่ในเมือง ที่ไหนเป็นยังไงเราจะรู้หมด ดอยไหนสูงเราเดินขึ้นหมด เราทำแบบนี้เพื่อทดสอบกำลังกาย ถึงแม้ว่าเราจะอายุมากแต่ก็ยังสามารถเดินป่าเดินเขาได้ สองเพื่อศึกษาพื้นที่ไปในตัว 

การเป็นทหารพรานเรามีหน้าที่ป้องกันอธิปไตย ป้องกันเขตแดน จับของหนีภาษี คนหลบหนีเข้าเมือง การลักลอบลำเลียงยาเสพติด หรือบางทีก็มีไปช่วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้เรื่องลักลอบตัดไม้บ้าง 

 

ตำนานเริ่มต้นปี 2545 มีอะไรที่ประทับจิตฝังใจไหม

เหตุการณ์ปะทะ 15 ศพที่ดอยงู ตอนนั้นศปป. 5 เปิดยุทธการปราบปรามยาเสพติดร่วมกับฐานเจ้าแม่มัลลิกา ทราบจากแหล่งข่าวว่าจะมีการลำเลียยงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ 

เวลาประมาณ 4 โมงเย็น เราเอากำลังไปวางพักแรมอยู่แถวช่องทางที่จะมีการลำเลียงยาเสพติด  ถึงเวลา 5 โมงเย็นเราก็ตะโกนให้คนกลุ่มหนึ่งหยุด แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับสาดกระสุนใส่ฝ่ายเรา ศพแรกตอนนั้นต่างคนต่างชุลมุน เขาจะขว้างระเบิดมา แต่ลูกน้องเห็นก่อนก็ยิงใส่มือจนระเบิดตกแตกใส่พวกเขาเอง หลังจากนั้นก็หน้าใครหน้ามัน ปะทะกันนาน 10 นาที พอรุ่งเช้าถึงเข้าเคลียร์พื้นที่ 

พบฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 15 ศพ ยาไอซ์ 33 กระสอบ และทราบว่ามีไปเสียชีวิตฝั่งตรงข้ามอีก 6 ศพ รวม (21 ศพ) ก็ถือเป็นผลงานร่วมกันของเรากับลูกชุดที่ร่วมกันอยู่ 12 คน 

 

จนถึงตอนนี้ วิสามัญไปกี่รายแล้ว 

ปัจจุบันคือ 50 ราย ยาก็หลายล้านเม็ด แต่ถ้ายาล็อตนี้หลุดออกไป ลูกหลานจะต้องมาติดยา ทำให้ก่อเหตุลักทรัพย์ชาวบ้าน ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทะเลาะวิวาทต่างๆ นานา 

 

คร่าชีวิตคนไปอย่างน้อย 50 ราย รู้สึกอย่างไรกับมันบ้างไหม 

ไม่มีอะไรครับ เพราะว่าเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง การที่เราเข้าไปปะทะมีทั้งทนาย อัยการ ฝ่ายปกครอง หมอ กองพิสูจน์หลักฐาน อำเภอ เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ 

 

แล้วอธิบายให้ลูกฟังถึงสิ่งที่ตัวเองทำว่าอย่างไรบ้าง 

เราก็อธิบายลูกว่าพ่อเป็นทหารต้องทำงานแบบนี้ ต้องป้องกันอธิปไตย รักษาเขตแดน รักษาพื้นที่เหมือนที่สมเด็จพระนเรศวรรักษาชาติไว้ให้คนไทย ชาติที่แล้วเราอาจจะเป็นทหารของสมเด็จพระนเรศวรก็ได้ เลยต้องมาทำสิ่งที่ท่านทรงทำไว้ รักษาเขตแดนให้ลูกหลานได้อยู่สืบไป เป็นหน้าที่ของทหารที่ดูแลพื้นที่แผ่นดินไทย เราต้องรักแผ่นดินไทย 

ทหารพรานออกลาดตระเวน [ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

ก่อนหน้านี้เล่าให้ฟังว่าค่าหัวเยอะที่สุดในแถบนี้ ตอนนี้ค่าหัวเท่าไหร่

ค่าหัวตอนนี้ที่ฝ่ายตรงข้ามตั้งไว้น่าจะประมาณ 400,000 บาท มันขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะว่าเขาเสียผลประโยชน์เยอะ เขาก็ตั้งเยอะ เราก็ทำงานอยู่แบบนี้แหละ เขาตั้งค่าหัวขึ้นเพราะทำของเขาเสียหาย คนเขาโดนวิสามัญ ฝั่งนู้นไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เขารู้จักเราจากภาพข่าวหรือในยูทูปซึ่งสวมชุดดำเต็มตัวเท่านั้น  

 

คิดว่ามีคนที่คั่งแค้นคุณไหม

มันก็มีนะ แต่ทำยังไงล่ะในเมื่อเขาเดินทางผิด เขาทำแบบนี้เพราะหาเงินง่าย เอายาเสพติดมาขายให้น้องๆ นักศึกษาในประเทศไทย เราเห็นบ่อยตามภาพข่าวทีวี มีแต่ข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งนั้น 

ตั้งแต่เด็ก ผมก็ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ยาเสพติดมันทำให้คนใจหึกเฮิม เสพไปเดี๋ยวบ้า เดี๋ยวเคลิ้ม ติดแล้วก็ขอเงินพ่อแม่ พอไม่ได้ก็ทุบตี ไปขโมยของเขาขายเพื่อเอาเงินไปซื้อยาเสพติด 

 

คิดว่าภารกิจกำจัดผู้ลักลอบยาเสพติดจะหมดลงในยุคคุณไหม 

มันไม่จบง่ายๆ หรอกครับ มันมีผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะว่ามันมีหลายกลุ่มที่ผลิต ยาเสพติดเหมือนโรงงานน้ำแข็ง มันมีหลายร้าน 

 

นับจากปี พ.ศ.2545 ที่เริ่มต้นเป็นทหารพราน คุณสู้กับยาเสพติดมา 22 ปีแล้ว ยาเสพติดก็ยังไม่หมด คิดว่าทำอย่างไรให้มันหมด 

ไม่หมดครับ มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้จะไม่หมดก็ต้องช่วยกันปราบปรามตามนโยบายของรัฐบาล คนที่เสพยาจะไม่ขยัน มันจะนอนไม่ทำอะไร 

 

คิดอย่างไรกับนโยบาย ผู้เสพ = ผู้ป่วย 

การเอาผู้เสพยามาเป็นผู้ป่วยก็เหมือนเดิมนั่นแหละ มันยาก เพราะมันไปล้างเซลล์สมอง หลงผิดไปเสพแล้วยังไงมันก็ไม่หยุดจนกว่าจะตายไปข้างนึงถึงจะหยุด

เหมือนเอาไปขังมันก็กลับไปเพิ่มปริมาณให้กลุ่มพ่อค้ายาขยายใหญ่โตอีก 

 

คิดว่าระยะเวลาที่เหลือจะเก็บผู้ลักลอบขนยาเสพติดอีกไหม 

คิดว่าจะมีอยู่นะ ต้องมี แต่เราต้องทำงานให้ต่อเนื่อง ทำงานต้องทำให้ต่อเนื่อง เกิดมาต้องทำให้ดีที่สุด ช่วงที่ยังทำงานอยู่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นมา เพระยาเสพติดจะไปทำลายเด็กๆ ที่กำลังศึกษา บางครั้งเด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วเกิดติดยาขึ้นมาก็ไปขอเงินพ่อแม่ พอไม่ได้ก็ทุบตีบ้าง ขโมยของคนอื่นไปขาย กล้วย ข้าวเปลือก ผลหมากรากไม้ขโมยไปซื้อยาหมด 

ทหารพรานทำที่พักค้างแรม [ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

ลูกน้องคุณเล่าให้ฟังว่าทีมที่คุณรับผิดชอบไม่เคยมีใครบาดเจ็บเลย มีเคล็ดลับการทำงานอย่างไร 

ไม่เคยมีใครบาดเจ็บครับ ก่อนออกทำงานเราก็ต้องเรียกรวมต้องบอกว่าครั้งนี้ออกทำงาน ออกเวลาไหนก็ต้องดู เราจะผ่านหมู่บ้านยังไง ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำยังไงให้ทุกคนปลอดภัย จะทำอย่างไรให้ได้งาน จะเดินยังไง เข้ากี่วัน และละครั้งเราต้องลองไปเดินก่อนว่ามันหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม เมื่อเราปะทะเสร็จ เราก็ต้องดูแลเหมือนลูกเรา อยากกินอะไรก็ซื้อให้เหมือนพี่เหมือนน้อง 

 

เชื่อในเรื่องนรกสวรรค์อะไรไหม

ไม่คิดเรื่องนรก – สวรรค์เลย ทุกคนต้องตายหมด ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า อยู่ที่ดวงเรา ถึงเวลาเราไปก็ต้องไป ชีวิตก็มีแค่นี้แหละ 

ถึงแม้เราตายไปแล้ว จะไปตกอะไรก็แล้วแต่กรรม ถ้าตายไปแล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะไปไหน ก็ไปอยู่ที่เดียวกันหมดคือที่เมรุ คนเรากลัวตายขนาดไหน มีเงินเป็นร้อยล้านมันก็ต้องไปที่เดียวกัน ดูคนมีเงินร้อยล้านยังเอาชีวิตตัวเองไม่ได้เลย 

 

ถ้าพรุ่งนี้เป็นทีของคุณล่ะ

อันนั้นไม่ได้คิด แล้วแต่เวรกรรมของเรา เราเกิดมาแค่นั้นก็คือแค่นั้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แม้กระทั่งพระก็ยังตาย 

 

สำหรับคุณ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร 

ชีวิตในอุดมคติของผมนะ เราเลี้ยงลูกให้โต ส่งลูกเรียนให้จบ ลูกมีงานทำ ชีวิตเราสบายแล้ว แต่ตอนนี้ ลูกยังเด็กอยู่ ยังไงก็ขอให้มันเรียบจบสูงๆ ก่อน

 

ไม่กี่ปีจะเกษียณแล้ว วางแผนหลังเกษียณไว้ยังไงบ้าง 

ตอนนี้ลงทุเรียนไว้ 400 ต้น เราเกษียณจะไปอยู่ที่สวนทุเรียน ใครจะยังไงก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้เราต้องทำงานนี้ให้ดีที่สุด แต่ถ้าเราหมดอำนาจแล้วก็กลับไปเป็นคนดีของสังคม อยู่บ้านสวนทำงานไป 

 

มีแผนจะทำอย่างอื่นอีกไหม 

คิดว่าไม่มีแล้ว เราเกิดมาทำงานเพื่อประเทศชาติครบสมบูรณ์แบบแล้ว การสกัดกั้นยาเสพติดก็ดีหมดแล้ว ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเลียนแบบ ชีวิตการรับราชการก็เป็นแบบนี้ 

 

เกษียณแล้วจะมีส่วนร่วมแก้ปัญหายาเสพติดอีกไหม

เราก็ช่วยกันสอดส่องดูแล พบเห็นก็บอกเจ้าหน้าที่ ในเมื่อเราหมดวาระหมดอำนาจเราก็จำเป็นต้องไป ให้น้องที่ขึ้นมาดูแลต่อ ประเทศชาติจะได้เจริญรุ่งเรือง 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]
สัมภาษณ์: ภูมิสิริ ทองทรัพย์ & สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

ถ่ายภาพ: ณปกรณ์​ ชื่นตา

ภาพปก: สมชาย พัวประเสริฐสุข