svasdssvasds

ถอดโมเดล 'ไม่ปลอดยา แต่ปลอดภัย' ของหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ จ.เชียงใหม่

ถอดโมเดล 'ไม่ปลอดยา แต่ปลอดภัย' ของหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ จ.เชียงใหม่

ยาเสพติดกับเพื่อไทยอยู่ร่วมกันไม่ได้ เป็นประโยคหาเสียงบนเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย (ค้นหาเมื่อ 14 ก.ย. พ.ศ.2567) ที่บ่งบอกความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลในเครือเพื่อไทยขึ้นมาคุมอำนาจในช่วงเวลาที่ไทยเผชิญปัญหายาเสพติดรุนแรงที่สุด ยาบ้าถูกเป็นประวัติการณ์ จำนวนยาเสพติดที่จับกุมสูงขึ้นมหาศาล ขณะที่ตัวเลขผู้เข้ารับการบำบัดเทียบกับผู้ติดยาเสพติดอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 20 รายเท่านั้น ยังไม่นับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเทคโนโลยีผลิตยาเสพติดที่พัฒนาขึ้นมาก สงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ทำให้รัฐล้มเหลว จนทำให้ประเทศไทยคล้ายแมวตาบอด ที่จับหนูได้ทีละตัว ขณะที่ตัวอื่นเล็ดรอดทะลักออกไปในประเทศ   

จากสถานการณ์แล้ว พอประเมินได้ว่าถ้าเป้าหมายในการจัดการปัญหายาเสพติดยังคงเป็น ‘การกำจัดให้หมดไป’ ประเทศไทยก็ยังห่างจากเป้าหมายนั้นอีกหลายปีแสง 

กลับกัน ถ้าเป้าหมายคือ ‘การอยู่ร่วมกับมันอย่างปลอดภัย’ บางพื้นที่ในไทยกำลังขยับเข้าใกล้จุดนั้นเต็มที 

ณ พื้นที่บนภูเขาสูงแห่งหนึ่งห่างไกลจากความเจริญของกรุงเทพฯ ชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ได้ถอดหมัดเหล็ก เลิกใช้ไม้แข็งงัดข้อกับปัญหายาเสพติด แต่เปลี่ยนมาใช้การเข้าถึง ความเข้าใจ และการสร้างชุมชนภายใต้แนวคิด ‘ชุมชนล้อมรักษ์’ เพื่อรับมือกับปัญหายาเสพติด
 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

เรดโซนเชียงใหม่ 

จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ติดชายแดนเมียนมา 5 อำเภอ ได้แก่ แม่อาย, ฝาง, เชียงดาว, เวียงแหง และไชยปราการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 227 กม. โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ทำให้ถูกใช้เป็นช่องทางหลักในการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย หรือพูดได้ว่าเชียงใหม่เป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ตามภาษาฝ่ายความมั่นคง 

ในรายงานการตรวจยึดยาบ้าประจำปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - มิ.ย. 2567) ของ ป.ป.ส.ระบุว่า มีการยึดยาบ้าในไทยรวม 500 ล้านเม็ด แต่เฉพาะพื้นที่เชียงใหม่อย่างเดียวก็คิดเป็น 108 ล้านเม็ด หรือ 21% ของการตรวจยึดทั้งหมด 

ขณะที่ในรายงานยาเสพติดของ UNODC ปี 2023 ระบุไว้ว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ยาเสพติดทุกประเภทเพิ่มขึ้น โดยภาคเหนือของไทยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเมียนมายาว 2,400 กม. ถูกใช้เป็นสถานที่ลำเลียงยาเสพติดหลัก โดยเฉพาะเชียงรายที่ในรายงานของ UNODC เขียนไว้ในหน้า 16 อย่างชัดเจนว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่สุดในการลักลอบนำเข้ายาบ้าและยาไอซ์จากกลุ่มผู้ผลิตในเมียนมา 

ข้อมูลในรายงานทั้งหมดตีความได้หลากหลาย แง่หนึ่งมันหมายถึงประสิทธิภาพของฝ่ายปราบปรามไทยที่เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงปริมาณยาเสพติดที่เพิ่มขึ้นบริเวณชายแดนภาคเหนือของไทยเช่นกัน 


 

ถึงแม้ตัวเลขข้างต้นจะน่ากังวล แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์เลขานุการคณะกรรมการบำบัดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า เขตสุขภาพที่ 1 (เชียงราย, น่าน, พะเยา, แพร่, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน) มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้เข้ารับการบำบัดมากที่สุด สะท้อนความสำเร็จบางประการของนโยบายตอบโต้ยาเสพติดของไทย 

อย่างไรก็ดี มันเป็นคำยืนยันอีกครั้งว่าการตั้งเป้ากำจัดยาเสพติดให้หมดไปเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ ผิดกับการสร้างพื้นที่ที่ ‘ปลอดภัยจากยาเสพติด’ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่า และเป็นไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น ชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

หมู่บ้านป่าเกี๊ยะ - จากฝิ่นสู่เฮโรอีนและม้า

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2518 กลุ่มชาติพันธุ์ผู้บุกเบิกสามคนได้ก่อตั้งชุมชน ‘บ้านป่าเกี๊ยะ’ ขึ้นใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ก่อนที่ปีถัดมา ชุมชนแห่งนี้จะมีผู้เข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า, ลาหู่ และปกาเกอะญอ 

ในสมัยนั้น คนในหมู่บ้านแห่งนี้นิยมใช้ฝิ่นเพื่อรักษาความเมื่อยล้าและเจ็บปวด แต่เมื่อรัฐบาลไทยเริ่มปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจัง แทนที่ชาวบ้านจะเลิกยาเสพติดเด็ดขาด พวกเขากลับหันไปหายาเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้าและเฮโรอีน โดยยาเสพติดชนิดหลังที่ระบาดเพราะมีความใกล้เคียงกับสารในพืชฝิ่นและให้ฤทธิ์กดประสาทคล้ายคลึงกัน 

“ผมเริ่มใช้ครั้งแรกเพราะเพื่อนให้ลอง หลังจากนั้นก็ซื้อต่อจากเพื่อนมวนละ 100 บาท” จีโน่ ชาวบ้านชุมชนวัดป่าเกี๊ยะก็เช่นเดียวกับผู้ป่วยหลายคนในชุมชน ที่แรกเริ่มใช้ฝิ่นตามวิถีชาวบ้าน ก่อนที่จะหันมาสู่ยาเสพติดที่รุนแรงขึ้น 

ข้อมูลจากงานวิจัยสาเหตุการใช้ยาเสพติดของ รพ.สต.สันติวนาพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่หันมาใช้ยาเสพติดจาก 3 เหตุผล ได้แก่ 

  • ความใกล้ชิดกับยาเสพติด หรือวัฒนธรรมการใช้ฝิ่นแต่เดิมของชาวเขา 
  • ทัศนคติ ที่เชื่อว่าใช้ยาเสพติดแล้วสามารถทำให้ทำงานได้แข็งขันขึ้น 
  • โครงสร้าง สธ. เมื่อหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การลงไปเข้าโรงพยาบาลทำได้ยากและเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ชาวบ้านเจ็บป่วยจึงเลือกใช้ยาเสพติดเพื่อบรรเทาอาการปวดแทน 

ทางด้าน กิติพงษ์ ศุภอภิรดีเพชร หรือพ่อหลวงอาชง ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสริมว่า ความอยากรู้อยากเห็นและพฤติกรรมเลียนแบบ อยากใช้ยาเสพติดตามคนรอบตัวเป็นอีกสองสาเหตุ ที่ทำให้คนในละแวกนี้หันมาใช้ยาเสพติดเป็นจำนวนมาก 

เรียกได้ว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนกับยาเสพติดกลืนเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่เนิ่นนาน.. แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยากให้เป็นเช่นนั้นไปตลอด

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

 

ถอดโมเดล รพ.สต.สันติวนา 

  • จุด Drop – in – แก้ปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข 

ทุกวันนี้ รพ.สต.สันติวนารับผิดชอบดูแลพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสินชัย, บ้านถ้ำง๊อบ, บ้านผาแดง และบ้านป่าเกี๊ยะ รวมมีประชากรที่ต้องดูแลราว 2,500 คนหรือ 500 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีอาชีพรับจ้าง ทำไร่ทำนา และมีปัญหายาเสพติดระบาดในพื้นที่ 

ในช่วงแรกที่ดำเนินนโยบายข้างต้น หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่พบปัญหาใหญ่คือ ผู้ป่วยไม่อยากเข้ารับการบำบัดเพราะผู้ที่อยากจะเข้ารับการบำบัดต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลไชยปราการในตัวอำเภอเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการเดินทาง 

“คนไข้รับยาฟรี แต่ค่าเหมารถเที่ยวนึงเป็น 1,000 บาท เราเคยลอง 20 กว่าวัน ปรากฎว่าค่อยๆ หายไปทีละคน เขาเอาเงินค่ารถไปซื้อยาเสพดีกว่ามีความสุขกว่า” ภานุ ใจกุล เภสัชกรประจำ รพ.ไชยปราการกล่าว 

ในช่วงแรก ชาวบ้านเลือกจะไม่เข้ารับการบำบัด และถึงเข้ารับการบำบัดก็กลับไปเสพยาซ้ำอยู่ดี เช่นกรณีของจีโน่ที่เคยเข้ารับการบำบัดยาเสพติดตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2561 ก่อนหายไปจากการรักษา เนื่องจากย้ายสถานที่อยู่อาศัย ทำให้เดินทางมารับยาเมทาโดนยากขึ้น 

ทาง รพ.สต.สันติวนาจึงแก้ปัญหาด้วยการทดลองนำเมทาโดนออกจาก รพ. และตั้งจุด Drop-in สำหรับมอบยาเมทาโดนให้แก่ผู้ที่อยู่ในช่วงบำบัด ผลคือทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษามีจำนวนมากขึ้น ก่อนที่ รพ.แห่งอื่นๆ ในพื้นที่ไชยปราการจะทำตาม จนในปัจจุบัน มีผู้ที่กำลังบำบัดทั่ว อ.ไชยปราการทั้งหมด 222 ราย และมีผู้เลิกใช้ยาเสพติดได้มากกว่าหนึ่งปีทั้งหมด 15 ราย 

จีโน่แบ่งเมทาโดนใส่ขวดเพื่อควบคุมปริมาณไม่ให้หมด [ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • สร้างความไว้ใจ – ปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาในฐานะมนุษย์ 

กรณีของจีโน่มีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ โดยจีโน่เข้าสู่การบำบัดรอบหลังเพราะความใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ รพ.สต.กับแฟนสาวของจีโน่ ที่กำลังอยู่ในช่วงบำบัดยาเสพติด 

ศราวุธ ชมชื่น รักษาการ ผอ.รพ.สต.สันติวนา ผู้รับผิดชอบเคสของจีโน่และแฟนสาวเล่าว่า ในช่วงแรกที่รักษาแฟนสาวของจีโน่ เขาสังเกตว่าเธอเข้ามาขอรับเมทาโดนบ่อยกว่าปกติ ทำให้เริ่มซักไซ้จนมาทราบภายหลังว่า เธอรับยาไปแล้วแบ่งกินกับจีโน่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศราวุธเข้าถึงจีโน่และดึงเขาเข้าสู่กระบวนการบำบัด 

“ความยากที่สุดของการทํางานยาเสพติดคือทัศนคติ ถ้าเรามองว่าผู้ใช้ยาเสพติดคือผู้ป่วย เราจะดูแลเขาอย่างไม่มีขีดจำกัดเหมือนดูแลผู้ป่วยความดันหรือเบาหวาน แต่ถ้าเรามองเขาเป็นคนไม่ดี มันจะมีเส้นบางๆ กันอยู่ ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าหาเขาได้” ศราวุธกล่าว

ทุกวันนี้ ศราวุธและทีมผลัดกันลงไปในชุมชนเพื่อติดตามผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ และใช้ทุกโอกาสไม่ว่างานเลี้ยง, งานแต่งงาน หรืองานประเพณีในการสร้างความใกล้ชิดกับคนในชุมชน เพื่อทำให้ทุกคนวางใจว่า พวกเขามาเพื่อช่วยเหลือ ไม่ใช่ทำร้าย

“เราไม่ได้หวังคนไข้จะเลิกยาเสพติดได้ภายในปีนี้หรือปีหน้า เราใช้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ถ้าเขาพร้อมจะลดยาเมทาโดนก็ลดให้เขา ถ้าลองลดแล้วไม่ไหวก็ปรับมาเท่าเดิม ถึงแม้เราอาจต้องติดตามกันไปจนตาย แต่ถ้าคนไข้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ไม่ทะเลาะทำร้ายกันในชุมชน นี่ก็เป็นความสำเร็จแล้วครับ” รักษาการ ผอ.รพ.สันติวนาสะท้อนแนวคิดของตัวเอง

  • สร้างชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทุกวันนี้ การแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด CBTx โดยมีการสร้างเครือข่ายทั้ง ผู้นำชุมชน, อาสาสมัครที่เคยใช้ยาเสพติด รวมถึงครอบครัวของผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อทำให้ชุมชนทำหน้าที่เป็นทั้งสายตาที่คอยสอดส่องสถานการณ์ยาเสพติด และมือที่คอยโอบรับผู้ที่ผ่านการบำบัด

“ครอบครัวและชุมชนสำคัญมาก บางทีคนไข้ถูกคนในครอบครัวตีตราว่าเดี๋ยวก็กลับไปใช้ยาเสพติดอีก เราต้องพยายามปรับความคิดคนในครอบครัว ทุกครั้งที่มีประชุมประชาคมหมู่บ้าน หมอจะพยายามบอกว่า เราควรให้โอกาสคนกลุ่มนี้ เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีในสายตาคนอื่นหรอก” ศราวุธกล่าว 

ควบคู่กันไปนั้น คือการสร้างโอกาสในทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน สำหรับชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ ทุกวันนี้มีการเปิดโฮมเสตย์เพื่อดึงดูดให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว มีการเชิญชวนให้ชาวบ้านปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น อะโวคาโด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความยากจนที่สัมพันธ์กับปัญหายาเสพติด

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

ไม่มีใครปฏิเสธว่าขณะนี้ในหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ และอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่ รพ.สต.สันติวนายังมีผู้ใช้ยาเสพติดอยู่ แต่จากผลการประเมินคุณภาพชีวิตของโรงพยาบาล โดยเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2567 คนในชุมชนเหล่านี้กำลังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อาทิ 

  • มีอาชีพเพิ่มขึ้นจาก 45.84% เป็น 71.28% 
  • อาชญากรรมลดลงครึ่งหนึ่ง หรือจาก 24.16% เป็น 12.08% 
  • มีความสุขเพิ่มขึ้น 85.02% เป็น 90.37% 

ถึงแม้ชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะและหลายชุมชนในพื้นที่ อ.ไชยปราการจะเป็นภาพที่สะท้อนความสำเร็จของนโยบาย 'ชุมชนล้อมรักษ์' ได้เป็นอย่างดี แต่ข้อมูลจาก รพ.ไชยปราการ และการอภิปรายของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกลตรงกันว่า งบประมาณสำหรับนโยบายด้านนี้กำลังถูกลดลงเรื่อยๆ.. 


[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

related