svasdssvasds

รัฐไทยในเกมแมวจับหนู ทำไมยาเสพติดไม่เคยหมดสิ้นจากเมืองไทย?

รัฐไทยในเกมแมวจับหนู ทำไมยาเสพติดไม่เคยหมดสิ้นจากเมืองไทย?

ตลอดประสบการณ์ 28 ปีที่ผ่านมา ข่าวการจับกุมผู้ค้ายายาเสพติดผ่านตามาให้เห็นแทบทุกวัน แต่ไม่ว่าจับเท่าไหร่ มากขนาดไหน ก็ยังมีข่าวใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทำไมเราถึงไม่เคยจับได้หมดหรือมีชัยชนะเหนือยาเสพติดเสียที?

เทียบกับปีที่แล้ว ตัวเลขการปราบปรามยาเสพติดของไทยสูงขึ้นมาก โดยหากเทียบระหว่างปี 2566 กับปี 2567 ไทยจับยาบ้าได้เพิ่มขึ้น 102.39% เฮโรอีนเพิ่มขึ้น 84.79 % และจับไอซ์ได้ในปริมาณใกล้เคียงเดิมที่ 22,000 กิโลกรัม ตัวเลขข้างต้น สะท้อนการทำงานอย่างแข็งขันของฝ่ายปราบปราม

แต่ในมุมของคนที่ทำงานอยู่พื้นที่หน้างาน พวกเขามองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เราขยับเข้าใกล้ชัยชนะบ้างหรือยัง.. 

“ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมันอาจแปลว่า เราจับได้มากขึ้นเพราะยาเสพติดมันเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็แปลว่าปีที่แล้วยามันเยอะ และเราจับได้น้อย” เป็นคำกล่าวอันคลุมเครือถึงสถานการณ์ยาเสพติดข้ามชาติของ พ.อ.สกลวรรธน์ พุ่มมรินทร์ รอง ผบ.ควบคุม ทพ.ศปก.ทภ.3 

เมื่อสงครามที่ประกาศมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เราตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือไปยังพื้นที่ที่กันดาร ทรหด เสี่ยงอันตราย และมีปัญหายาเสพติดข้ามแดนรุนแรงที่สุด ชายแดน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่หนึ่งในจุดลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนที่มีการปะทะเกิดขึ้นบ่อยที่สุด เพื่อพูดคุยกับผู้ที่ปฏิบัติงานสกัดกั้นยาเสพติดหลักในพื้นที่ดังกล่าวคือ กลุ่มทหารพราน ประจำฐานฯ เจ้าแม่มัลลิกาที่ขึ้นตรงต่อกองทัพภาค 3

ในฐานะผู้ปฏิบัติงานปรามปรามยาเสพติดที่ด่านหน้าสุด พวกเขามองปัญหายาเสพติดอย่างไร แล้วคิดว่าสงครามเช่นนี้จะสิ้นสุดลงได้ไหม เมื่อไหร่ และอย่างไร

[ภาพ: ณปกรณ์ ​ชื่นตา]

ดอยลาง – เมืองยอน

ฐานฯ เจ้าแม่มัลลิกา ฝ่ายทหารพราน กองทัพภาคที่ 3 ตั้งอยู่สุดเขตชายแดน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่คลุมเครือระหว่างสองประเทศที่มีชื่อว่า ‘ดอยลาง’ 

นับตั้งแต่ปี 2531 พื้นที่ขนาด 36 ตร.กม. ตกเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ ไทย – เมียนมา เพราะทั้งสองประเทศใช้แผนที่คนละฉบับ ทางไทยยึดถือแผนที่ทหารของฝั่งตน ส่วนทางเมียนมาใช้แผนที่ที่จัดทำโดยอังกฤษสมัยอาณานิคม ซึ่งแต่ก่อนพื้นที่ดอยลางเคยเป็นของกลุ่มไทใหญ่ ก่อนที่ไทใหญ่จะประกาศยอมรวมเป็นหนึ่งกับประเทศเมียนมา ทางการเมียนมาจึงรวมว่าแผ่นดินส่วนนี้ต้องเป็นของเมียนมาเช่นกัน

“ประเทศเพื่อนบ้านยึดถือว่าครั้งก่อน พื้นที่นี้มีชนกลุ่มน้อยของเขามาอยู่อาศัย พอชนกลุ่มน้อยยอมแพ้และเข้ามอบตัว มันก็ควรเป็นพื้นที่ของเขา” พ.อ.สกลวรรธน์อธิบาย

ด้วยสถานะดังกล่าว ทำให้ดอยลางเสมือนติดอยู่ตรงกลางระหว่างสองประเทศ เป็นพื้นที่ไร้เจ้าภาพ และมีทั้งฐานทัพของทหารพรานไทย, ทหารเมียนมา, ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าตั้งอยู่ โดยเฉพาะรายหลังที่ถึงแม้มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ในด้านยาเสพติด พวกเขานับเป็นพี่ใหญ่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ 

“ถ้าฟ้าเปิดเราจะเห็นเมืองยอน เลยสันเขานี้ไปเป็นทุ่งราบขนาดใหญ่ จากเมืองยอนมาจุดตรงนี้ (ฐานกิ่วฮง) เป็นทางตรงประมาณ 17 กม.” ร.อ.เทพฤทธิ์ สมัครเขตวิทย์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 3201 อธิบายความใกล้ชิดระหว่างฐานดอยกิ่วฮงที่เขาอยู่ กับแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน

พ.อ.สกลวรรธน์ พุ่มมรินทร์ [ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

 

เด็ดขาดครบวงจรหรือเกมแมวจับหนู? 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภา และยืนยันว่านโยบายเร่งด่วนลำดับที่ 8 ของรัฐบาลคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร ตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายผ่านการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามยึดทรัพย์พ่อค้ายา และการส่งผู้เสพเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเป็นระบบ 

คำถามสำคัญคือ อย่างไรที่เรียกว่าเด็ดขาด? และการดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปได้แค่ไหน? 

พ.อ.สกลวรรธน์อธิบายว่า ปัญหายาเสพติดข้ามแดนมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ ความใกล้ชิดกับแหล่งผลิตยาเสพติด และความใกล้ชิดระหว่างเครือญาติของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ทำให้คนในพื้นที่ต่างมีส่วนในการช่วยเหลือลักลอบค้ายาเสพติด 

ขณะที่ทางด้าน ร.อ.เทพฤทธิ์มองว่าสาเหตุมาจากความยากจนของคนในพื้นที่ ที่ไม่มีอาชีพอื่นนอกจากเกษตรกรรม เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ยาเสพติดจึงเป็นทางเดียวในการหาเงินเลี้ยงชีพตัวเอง ถึงแม้ปลายทางอาจคือเรือนจำหรือความตายก็ตาม 

“สาเหตุนึงน่าจะเกิดจากความยากจน ชุมชนแถวนี้ประกอบอาชีพหลักๆ คือเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพดข้าวไร่ หมดฤดูเก็บเกี่ยวเขาก็ไม่มีอาชีพอื่น ทำให้หลังหมดหน้าเก็บเกี่ยว เขาต้องรับจ้างลำเลียงยาเสพติด และพื้นที่มันใกล้ชายแดน ถ้าทำสำเร็จก็ได้หลายหมื่นบาทต่อครั้ง” ร.อ.เทพฤทธิ์กล่าว 

ร.อ.เทพฤทธิ์ให้ข้อมูลว่าหลังจากยาเสพติดถูกผลิตจากโรงงาน จะมีการขนส่งด้วยรถยนต์มาพักคอยที่แหล่งพักคอย 2 จุดบริเวณใกล้เคียงนี้ ก่อนจะแจกจ่ายให้แก่คนเดินเท้าขนเข้ามาตามแนวชายแดนสู่ประเทศไทย โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก็จะเข้าสู่พื้นที่ของประเทศไทย

ดังนั้น ในมุมของคนทำงานที่ด่านหน้า การจัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดควรเป็นอย่างไร? 

“ถ้าเรายังต้องการอยู่ เขาก็ยังต้องค้าต่อ แต่ถ้าเราทำให้คนในประเทศไม่มีความต้องการได้ เราก็จะชนะ มันอยู่ที่จะทำยังไงให้คนในชาติตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น”

พ.อ.สกลวรรธน์ยังเสริมว่าการปรับกฎหมายให้แรงขึ้น เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้ เพราะในฐานะทหารเขาเปรียบเปรยปัญหายาเสพติดกับการรักษาโรคว่า “ถ้าเราใช้ยาแรงและยาแรงพอ โรคก็จะหายได้ไว”

ในมุมของ ร.อ.เทพฤทธิ์ และ ร.อ.ประกาศิต ต่างมองตรงกันประการหนึ่งว่า ปัญหายาเสพติดไม่มีแนวโน้มจะลดลง 

“เหมือนเกมแมวไล่จับหนู สถานการณ์ยาเสพติดไม่ลดละ มีการการปะทะจับกุมบ่อยๆ และหลังๆ กลุ่มขบวนการยังมีความพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่กลุ่มลำเลียงก็ไม่ใช่ตัวการ ไม่รู้ว่านายทุนเป็นใคร ไม่รู้ว่าจุดนัดพบตรงไหน รับกันเป็นทอดๆ ไป โดยที่ไม่รู้ใครเป็นคนสั่ง” ข้างต้นคือคำอธิบายสถานการณ์ของ ร.อ.เทพฤทธิ์

อีกคำถามที่น่าสนใจจากคำแถลงนโยบายของนายกฯ คือ การร่วมมือกับเพื่อนบ้านเพื่อจัดการปัญหายาเสพติด ความตั้งใจดังกล่าวเป็นไปได้แค่ไหนในความเป็นจริง? 

[ภาพ: ณปกรณ์ ​ชื่นตา]

รัฐว้า โรงงานยาเสพติดโลก และเงาพญามังกร 

“ว้าสร้างชาติขึ้นจากยาเสพติดไม่ต่างจากที่ซาอุดิอาระเบียสร้างชาติขึ้นจากน้ำมัน” แพทริค วินน์ ผู้เขียนหนังสือ “Narcotopia: In Search of the Asian Drug Cartel That Survived the CIA เคยสรุปไว้ 

รัฐว้าเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตยาเสพติดชนิดยาบ้า, ไอซ์ และเฮโรอีนที่สำคัญของโลก นักวิเคราะห์เชื่อว่าว้าผลิตยาเสพติดคิดเป็น 80% ของยาเสพติดทั้งหมดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยคาดว่าในหนึ่งปี กลุ่มว้าผลิตยาบ้าได้ขั้นต่ำ 500 ล้านเม็ดและไอซ์ 30 ล้านกิโลกรัม

พื้นที่ของกลุ่มว้ามีชายแดนติดกับประเทศไทยและจีน แต่เส้นทางลำเลียงยาเสพติดหลักของกลุ่มว้าคือลงใต้ เข้าสู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยเพื่อส่งมอบแก่กลุ่มเครือข่าย หรือไม่ก็ส่งต่อไปในประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย หรืออเมริกา 

สาเหตุที่ว้าแทบไม่ส่งยาเสพติดเข้าสู่จีน อาจเป็นเพราะว้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ทั้งในทางการทูตและเศรษฐกิจ โดยเคยมีภาพของนักการทูตจีนร่วมชมงานสวนสนามกองทัพกับผู้นำสูงสุดของว้า และทางการจีนเองก็ไม่เคยปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจกับรัฐของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา 

ในทริปที่ทางการว้าชวนนักข่าวหลายสำนักลงพื้นที่เมื่อปี 2016 กลุ่มนักข่าวที่ได้รับเชิญรายงานคล้ายกันว่า ภายในรัฐเร้นลับของว้ามีธุรกิจสีเทาเกิดขึ้นหลายอย่าง อาทิ การขายเครื่องประดับและของสะสมจากสัตว์ป่า, คาสิโน, ซ่อง รวมถึงมีรายงานการค้ามนุษย์ และการทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

ขณะที่ทางด้านสำนักข่าว Irrawaddy รายงานเจาะลึกกว่านั้นว่า ธุรกิจสีเทาบางแห่งในเมืองว้า เช่น ซ่องโสเภณีและออนไลน์สแกมเมอร์มีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจีน และจากรายงานพบว่ารายระหว่างปี 2021 - 2023 มีรายงานการค้ามนุษย์ในเมืองว้าอย่างน้อย 350 ราย โดยในจำนวนนั้นเป็นคนไทยถึง 140 ราย 

ถึงแม้ธุรกิจที่ว้าทำอาจดูเลวร้าย แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ว้าคือภาพฝันของพวกเขา ไม่ว่าด้วยกองกำลังที่เข้มแข็ง ใหญ่โต และทันสมัย ที่มีชื่อว่า 'กองทัพแห่งสหรัฐฯ ว้า (UWSA)' หรือระบบการเมืองที่ปกครองโดยกลุ่มชนชั้นสูงที่เข้มแข็ง รวมถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งน้ำประปา, ไฟฟ้า, สัญญาณมือถือ รวมถึงระบบการศึกษา

"การบริหารประเทศต้องใช้เงิน และไม่มีเงินจากไหนที่หาง่ายเท่ายาเสพติด" วินน์ เขาเคยกล่าวไว้กับ The Diplomate สะท้อนถึงการยอมรับความสำเร็จในการสร้างชาติด้วยธุรกิจสีเทาของกลุ่มว้า 

วินน์เสริมว่าด้วยสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง กันดาร ยากแก่การพัฒนา จึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่ว้าจะเลิกผลิตยาเสพติด เพราะการบริหารภาครัฐจำเป็นต้องใช้เงิน และไม่มีเงินจากแหล่งไหนที่หาได้ง่ายและมหาศาลเท่ากับธุรกิจยาเสพติดอีกแล้ว

“ผมคิดว่าถึงคุณจะส่งนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดจากฮาร์วาดและอีตอนไปที่ว้า และบังคับให้ทำอย่างอื่นนอกจากยาเสพติด พวกเขาก็จะล้มเหลว และภายในหนึ่งอาทิตย์พวกเขาจะกลับมาแล้วบอกว่าขอโทษเถอะ ปล่อยให้โรงงานยาบ้าอยู่แบบนั้นแหละ” วินน์กล่าว

“ถ้าอเมริกาและพันธมิตรต่อต้านยาเสพติด โดยเฉพาะไทยอยากจัดการปัญหายาเสพติด สิ่งที่พวกเขาทำได้มีแค่ตัดว้าออกจากระบบการเงินโลก” วินน์สรุป 

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับภูมิภาค และกลุ่มผู้ผลิตหลักอย่างว้าก็มีทั้งกองทัพที่เข้มแข็ง ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ แถมรัฐบาลกลางอย่างเมียนมายังอยู่ในสภาวะเผชิญสงครามกลางเมืองอีก โจทย์ยาเสพติดจึงเป็นโจทย์ที่มองแล้วยากมากที่จะแก้ไขในรัฐบาลเพื่อไทย 

... และอาจรวมถึงรัฐบาลไหนๆ ที่จะขึ้นมาก็ตาม 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

 

สัมภาษณ์: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล & ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา 

กราฟิค: สมชาย พัวประเสริฐสุข
 

related