svasdssvasds

"เกย์ปาร์ตี้" จากความสุขเฉพาะกลุ่ม สู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

"เกย์ปาร์ตี้" จากความสุขเฉพาะกลุ่ม สู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

2 ผู้ก่อตั้ง GCircuit เปิดใจถึงการต่อสู้เพื่อธุรกิจเกย์ในวันที่สังคมยังไม่เปิดรับ จนในวันนี้ที่สมรสเท่าเทียมผ่าน ทุกภาคส่วนต้อนรับเศรษฐกิจสีรุ้ง

SHORT CUT

  • เปิดใจผู้ก่อตั้งเกย์ปาร์ตี้สเกลใหญ่เจ้าแรกในไทยกับการฝ่าฟันช่วงเวลาที่สังคมไทยยังไม่เปิดรับ
  • ทหารและผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ได้เป็ยเกย์กลับเข้าใจและสนับสนุนมากกว่าเกย์ด้วยกัน
  • เมื่อสังคมเปลี่ยน ภาพเกย์ปาร์ตี้ไม่ใช่การมั่วสุม แต่มันคือการสร้างเศรษฐกิจสีรุ้ง

2 ผู้ก่อตั้ง GCircuit เปิดใจถึงการต่อสู้เพื่อธุรกิจเกย์ในวันที่สังคมยังไม่เปิดรับ จนในวันนี้ที่สมรสเท่าเทียมผ่าน ทุกภาคส่วนต้อนรับเศรษฐกิจสีรุ้ง

ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสู่การเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลำดับ 3 ในทวีปเอเชียที่รับรองการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศกำเนิดเดียวกัน SPRiNG พูดคุยกับ สุเมธ ศรีเมือง และทอม ตัน เซียง เกี๊ยบ ผู้ก่อตั้ง จีเซอร์คิท เกย์ปาร์ตี้สเกลใหญ่งานแรกของประเทศไทย ที่จัดขึ้นมาในช่วงรัฐบาลทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พวกเขาเล่าประสบการณ์การจัดงานปาร์ตี้เกย์ที่เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม จนกลายมาเป็นงานแมสที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 450 ล้านบาทภายในสัปดาห์เดียว

ทอม เล่าว่า เกย์ปาร์ตี้สเกลใหญ่ (เซอร์คิท) แห่งแรกในเอเชียคือ Nation Party ที่ประเทศสิงคโปร์ จนพอปาร์ตี้เริ่มเป็นที่รู้จักของเกย์จากหลากหลายประเทศ คนเริ่มมาเยอะขึ้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนจึงทำให้ปาร์ตี้นี้ต้องย้ายมาจัดที่ภูเก็ต แต่จัดได้ 2 ปีก็ต้องยุติไปเพราะการเดินทางมาร่วมงานลำบากกว่าไปเมืองหลวง

สุเมธ กล่าวต่อไปอีกว่า เขาได้พูดคุยกับผู้จัดงานและขอเอามาทำต่อที่กรุงเทพฯ เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยวเยอะกว่า การเดินทางและที่พักสะดวกสบายกว่า แต่ในตอนนั้นภาพเกย์ปาร์ตี้ในสังคมไทยยังไม่ใช่ภาพที่คนคุ้นชิน การจัดงานในลักษณะนี้มีแต่สเกลเล็กๆ จัดในร้านอาหารหรือตามบาร์ ช่วงวันอาทิตย์หรือวันพุธที่มีลูกค้ามาร้านน้อยๆ ให้ความรู้สึกเป็นลูกเมียน้อย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ

\"เกย์ปาร์ตี้\" จากความสุขเฉพาะกลุ่ม สู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

คิดใหญ่ แต่อยู่ได้ในที่ของเราเท่านั้น

สุเมธ เล่าว่า เขาและทอมมองหาธุรกิจที่จะทำร่วมกันเพื่อให้เป็นหลักประกันในชีวิตคู่ ขณะเดียวกันทั้งคู่เองก็มีประสบการณ์การไปเที่ยวเกย์ปาร์ตี้มาหลากหลายที่ทั่วโลก เห็นว่าปาร์ตี้สเกลใหญ่ยังไม่มีคนริเริ่มทำในเอเชีย พวกเขาจึงเริ่มจัดงาน GCircuit ที่ลงทุนโปรดักชั่น ดีเจ โชว์ นายแบบ กิจกรรมต่างๆ ในงาน สถานที่จัดงานและสถานที่พักที่ได้มาตรฐานเพื่อรองรับเกย์จากทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม ในยุคเริ่มต้น เฟซบุ๊กยังไม่เป็นที่แพร่หลาย การประชาสัมพันธ์ต้องใช้วิธีปากต่อปาก ดึงเอาอินฟลูเอ็นเซอร์ในแต่ละประเทศมาร่วมงาน เพื่อให้แฟนคลับและบรรดาคนที่ติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านั้นตามมาร่วมงาน รวมทั้งใช้วิธีจ้างคนไปยืนแจกใบปลิวตามบาร์ต่างๆ ในเอเชีย รวมไปถึงหน้าซอยสอง ถนนสีลมที่ประเทศไทยด้วย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเกย์ที่มาประเทศไทยในช่วงสงกรานต์มีจุดท่องเที่ยวอื่นนอกจากสีลม 

"เมืองไทย เขาไม่เคยมีภาพลบเท่าไร...ถ้าเกิดเราอยู่ในที่ของเรา แล้วก็ไม่ได้ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน...เมื่อสมัยก่อนไม่กล้าที่จะลงสื่อเลย เพราะเราคิดว่าเราโฆษณาในที่ที่เรา สังคมของเรา แล้วก็มาในที่ปิดของเรา"

\"เกย์ปาร์ตี้\" จากความสุขเฉพาะกลุ่ม สู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

รัฐบาลทหารเข้าใจ แต่เกย์ด้วยกันกลับไม่สนับสนุน

แม้ว่าการริเริ่มจัดปาร์ตี้ขนาดใหญ่เจ้าแรกๆ ในช่วงเวลานั้นจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ถูกจับจ้องจากหลายภาคส่วน ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง การเผาสถานที่จัดงาน การร้องเรียนเรื่องแสงไฟ ไปจนถึงวิกฤตโควิด  แต่ปาร์ตี้นี้ก็ไม่เคยถูกแทรกแซง สุเมธ ผู้จัดงาน เล่าว่า ทั้งรัฐบาลทหารและพลเรือนต่างให้การอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

ทอม เล่าว่า แม้ในช่วงแรกๆ จะยังมีสปอนเซอร์ไม่มากนัก แต่คนที่ให้การสนับสนุนกลับเป็นผู้บริหารที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีเพื่อนเป็นเกย์และรักสนิทสนมกับเกย์ มากกว่าผู้บริหารระดับสูงเป็นเกย์ด้วยกัน ยกตัวอย่างเคยมีกรณีที่สถานที่จัดงานแห่งหนึ่ง เจรจาแล้ว มัดจำไปแล้ว แต่กลับมายกเลิกล่วงหน้าเพียงสัปดาห์เดียว เพราะผู้บริหารเกรงว่าปาร์ตี้ที่มีเกย์ถอดเสื้อจะกระทบภาพลักษณ์ เป็นต้น แต่พอช่วงหลังโควิด กระแสเศรษฐกิจสีรุ้งหรือ Pink Dollar มาแรงมากขึ้น ท่าทีของบริษัทห้างร้านก็เริ่มเปลี่ยนมาสนับสนุนมากขึ้น

\"เกย์ปาร์ตี้\" จากความสุขเฉพาะกลุ่ม สู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

เกย์ปาร์ตี้ ไม่ใช่สถานที่มั่วสุม แต่สร้างเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่าภาพของคนทั่วไปเมื่อก่อนจะมองว่าเกย์ปาร์ตี้คือการมั่วเซ็กส์ มั่วยาเสพติด แต่สุเมธ ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วในปาร์ตี้ไม่มีอะไรแบบนั้น กลับกันคือการได้เป็นตัวของตัวเองและได้พบเพื่อนใหม่ เพราะในปาร์ตี้นี้คือการรวมเกย์ที่มาจากทั่วโลก หลายคู่มาพบรักกันที่นี่และยังครองคู่กันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ สุเมธ ย้ำว่า งานนี้ทุกคนมาสนุกกันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรูปร่าง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีความสวยงามในแบบของตัวเอง งานนี้ไม่ได้จำกัดแค่คนที่มีหุ่นฟิตเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถมาร่วมสนุกและสร้างประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันได้

ทอมบอกว่า พวกเขาลงทุนในงานนี้ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 ล้านบาท แม้จะไม่ค่อยมีสปอนเซอร์ แต่ตั้งใจจัดในสถานที่ดีๆ เพื่อให้คนที่มางานมีประสบการณ์ที่ดี และสุดท้ายมันก็กลายเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดเกย์จากทั่วโลกให้มาเที่ยวที่ประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ หลายคนเก็บเงิน เก็บวันหยุดไว้เพื่อมาเที่ยวงานนี้และเที่ยวไทยต่อ เพราะพวกเขาเดินทางมาไกล หลายคนข้ามทวีปมาเพื่องานนี้ ดังนั้นเมื่อจบปาร์ตี้ 4 วัน พวกเขาก็จะเดินทางไปพักผ่อนที่พัทยา หัวหิน สมุย หรือภูเก็ตต่อ และในช่วงเวลาที่อยู่ก็จะใช้จ่ายมาก ทั้งการกิน ที่พัก หรือที่ท่องเที่ยว เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้สูงและไม่มีลูก เฉลี่ยแล้วสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลได้ถึง 450 ล้านบาท ยังไม่รวมการไปใช้จ่ายที่เดินทางไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ภายในประเทศ

สุเมธ ย้ำว่า นี่คือ Soft Power ที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่หากในอนาคตประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะมีคนอีกจำนวนมากที่เดินทางมาแต่งงานที่ประเทศไทย และยิ่งเราตั้งเป้าที่จะเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ระหว่างทางที่จะมีการโปรโมทยิ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยอีกมาก สร้างเศรษฐกิจได้อีกมหาศาล

"ก่อนหน้านี้คือมาได้ เป็นตัวเองได้ แต่ปีนี้คือรู้สึก Officially Welcome มีกฎหมายชัดเจน ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาปุ๊บ คนก็จะแห่กันมาเมืองไทยเยอะขึ้น คนก็จะมาจดทะเบียนสมรสกันในเมืองไทยเยอะขึ้น" ทอมและสุเมธ กล่าว

related