ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเพิ่งได้รับตัว เอกลักษณ์ แพน้อย หรือ จ่าเอ็ม ฉายา เอ็ม กองเรือ ผู้ต้องหายิง ลิม กิมยา อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชากลางกรุงเทพฯ บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร
เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดีนี้ SPRiNG ไล่เลียงเรื่องราวมาให้อ่านกัน
1. เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานการฆาตกรรม ลิม กิมยา อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party - CNRP) บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร โดยภาพจากกล้องวงจรปิดจับภาพคนร้ายขี่มอเตอร์ไซค์ ก่อนข้ามถนนและใช้อาวุธปืนยิง ลิม กิมยา เสียชีวิต ก่อนขับมอเตอร์ไซค์หลบหนีไป
ในเหตุการณ์ดังกล่าว ลิม กิมยา อยู่กับภรรยาและเพิ่งเดินทางมาจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
2. ล่าสุด ตำรวจไทยได้ประสานกับตำรวจกัมพูชาส่งตัว เอกลักษณ์ แพน้อย หรือ จ่าเอ็ม ฉายา เอ็ม กองเรือ ที่หลบหนีเข้าไปในประเทศกัมพูชาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเตรียมแจ้งข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พกอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร
ทางด้านสื่อของกัมพูชารายงานว่า ระหว่างถูกควบคุมตัว เอกลักษณ์เปิดเผยกับตำรวจกัมพูชาว่า แรงจูงใจมากจากความโกรธเเค้นที่ ลิม กิมยา ติดหนี้ เมื่อหลายปีก่อนและไม่ยอมจ่ายคืน ขณะที่โซเชียลมีเดียกัมพูชาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดชายที่ฆ่าคนกัมพูชาถึงเลือกหนีมาที่กัมพูชา?
ทั้งนี้ เอกลักษณ์เป็นอดีตทหารเรือ และเคยต้องโทษในคดีร้ายแรง และถูกปลดจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2566 เพราะขาดงานเกิน 15 วัน
3. ตำรวจยังติดตามตัวผู้ร่วมก่อเหตุอีกรายชื่อ คิม สะลินพิส ชายอีกคนที่คาดว่าเป็นคนชี้เป้าให้เอกลักษณ์ยิง คิม กิมยา โดยชายคนดังกล่าวร่วมเดินทางมาบนรถบัสคันเดียวกับ คิม กิมยา สวมเสื้อสีขาว สวมหมวก และสะพายกระเป๋า โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์เขาเดินทางกลับกัมพูชาทันที
4. ใครคือ ลิม กิมยา? ลิม กิมยา เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา เขาเกิดที่เมืองพระตะบอง ในประเทศกัมพูชา ก่อนย้ายหนีสงครามที่เกิดขึ้นในเวียดนาม และไปใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาที่สถานะเป็นพลเมืองฝรั่งเศส ก่อนทำงานกับกระทรวงการคลังฝรั่งเศส
เขาย้ายกลับมากัมพูชาก่อนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 และเข้าร่วมกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา ก่อนได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในสภา ในช่วงเวลาที่ทำงานเป็นฝ่ายค้าน เขานับเป็นนักการเมืองแนวหน้าที่ออกมาวิจารณ์ ฮุน เซน อย่างเผ็ดร้อนและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นการคอร์รัปชั่น
แต่ในปี พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญกัมพูชาได้มีคำตัดสินยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา และตัดสิทธินักการเมืองของพรรคเป็นเวลา 5 ปี ลิม กิมยาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่แกนนำพรรคหลายคนตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ ลิม กิมยา ตัดสินใจอยู่ในกัมพูชาต่อ
ภายหลังถูกตัดสิทธิ เขายังคงเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กอยู่สม่ำเสมอ โดยมักออกมาวิจารณ์ ฮุน เซน และครอบครัวในหลายประเด็น รวมถึงในประเด็นความขัดแย้งเรื่องเกาะกูดกับไทย โดยเขาเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชา และ ฮุน เซน ต้องการยกให้กับไทย
5. ภายหลังที่เขาเสียชีวิต พรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ถูกยุบพรรคไป ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว โดยข้อความบางส่วนระบุว่า "การฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นที่เกิดขึ้นกลางที่แจ้งแสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจต่อชีวิตมนุษย์และกฎหมาย"
ขณะที่ทางด้านนักการเมืองไทย อาทิ อังคณา นีละไพจิตร สว. และ ปิยรัฐ จงเทพ สส.พรรคประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการสืบสวนคดีดังกล่าว โดยอังคณาระบุว่านี่เป็นสัญญาณว่ากรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป โดยเฉพาะกับผู้เห็นต่างทางการเมืองและผู้ลี้ภัย
6. สม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชาได้โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเอง กล่าวหาว่า ฮุน เซน อยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร ลิม กิมยา โดยระบุว่า “ลิม กิมยา ก็เหมือนกับผม และเหล่านักเคลื่อนไหวที่กระตือรือร้นที่สุดของฝ่ายค้านประชาธิปไตย คือมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของฮุนเซน ผู้ซึ่งไม่ลังเลในการลงมือก่ออาชญากรรมใด ๆ”
7. ด้าน อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Right Watch กล่าวว่า เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่า “การสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญชาวกัมพูชาอย่างโหดร้ายในใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างมากเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลต่างชาติ ในการสังหารที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในแผ่นดินไทย”
ทาง Human Right Watch ยังแสดงความกังวลต่อท่าทีของไทย ในการส่งผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยกลับประเทศ โดยระบุถึงเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า ทางการไทยได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และส่งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 6 คน รวมถึงเด็กเล็กกลับสู่กัมพูชา ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในประเทศ
และยังระบุว่ารายงานของ Human Right Watch เมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่าไทยมีส่วนช่วยในการส่งผู้เห็นต่างทางการเมืองที่แสวงหาความคุ้มครองในไทยกลับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ทางการไทยเองสามารถทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน โดยเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ‘ตลาดแลกเปลี่ยนผู้ลี้ภัยและเห็นต่าง’