จากกรณีที่ราคาหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ร่วงลงมาอย่างหนัก จากราคาเปิดซื้อขายที่ 5.35 บาท และปิดที่ราคา 3.74 บาท หรือราคาหุ้นหายไปกว่า 30.09% เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น RS? เหตุใดราคาร่วงลงขนาดนี้? แล้วจะซื้อรอยกรณีหุ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่
จากกรณีที่ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ (7 มกราคม) ราคาหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ร่วงลงมาอย่างหนัก จากราคาเปิดซื้อขายที่ 5.35 บาท โดยมีราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 5.40 บาท แต่เจอแรงเทขายถล่มจนราคาร่วงมาทำราคาต่ำสุด หรือติดฟลอร์ของวันที่ราคา 3.74 บาท หรือราคาหุ้นหายไปกว่า 30.09%
เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น RS? เหตุใดราคาร่วงลงขนาดนี้? แล้วจะซื้อรอยกรณีหุ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่ SPRiNG สรุปให้
1. ก่อนอื่นเรามารู้จัก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2525 เดิมทีเป็นบริษัททำธุรกิจบันเทิง หรือที่รู้จักกันในนามค่ายเพลง RS บริหารและถือหุ้นใหญ่โดยเฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แต่ในเวลาต่อมา RS ได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการทำธุรกิจมาทำธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น เช่น RS Mall สำหรับการขายสินค้า
2. เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ถือหุ้นใน RS จำนวน 487,099,998 หุ้น คิดเป็น 22.32% ของหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ยังมี เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ ลูกชายคนโตของเฮียฮ้อ ถือหุ้นใน RS อีก 51,016,222 หุ้น คิดเป็น 2.34 %
3. สำหรับราคาหุ้น RS มีราคาเฉลี่ยขยับลงต่อเนื่องดังนี้
- ปี 2564 ราคาหุ้นละ 21.70 บาท
- ปี 2565 ราคาหุ้นละ 16.00 บาท
- ปี 2566 ราคาหุ้นละ 13.90 บาท
-ปี 2567 ราคาหุ้นละ 5.45 บาท
และล่าสุดปิดตลาดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่คา 3.74 บาท
นอกจากนี้ยังมีราคาหุ้นในกลุ่มอย่าง บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน โดยราคาเปิดอยู่ที่ 1.55 บาท ก่อนจะมาปิดตลาดที่ 1.15 บาท ลดลงกว่า 25.81%
4. หลังราคาหุ้น RS ร่วงต่อเนื่อง มีกระแสข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งถือหุ้น RS สัดส่วน 22.32 %และถือหุ้นใน RSXYZ สัดส่วน 16.35% ถูกบังคับขาย หรือ Forced sell จากการจำนำหุ้นนอกตลาด จนนำไปสู่ราคาหุ้น RS ที่ร่วงรุนแรง
5. กรุงเทพธุรกิจระบุว่า กรณีที่ราคาหุ้น RS ที่ต้องเจอกับกับการ Forced sell จากราคาหุ้นที่ลงมา ซึ่งพบว่ามีแต่แรงเสนอขาย (Offer) ไม่มีแรงเสนอซื้อ (BID) ที่มาจากผู้ถือรายใหญ่ ซึ่งมีการจำนำหุ้นตัวเองโดยมีทั้งจำนำนอกตลาดมูลค่าระดับ 1,000 ล้านบาท รวมไปถึงการจำนำหุ้นกับโบรกเกอร์หลายรายเพื่อนำเงินไปใช้หมุนเวียน
6. อธิบายง่ายๆ ของการถูก Forced sell ก็คือว่า เหมือนเราไปขอยืมเงินเพื่อนมา โดยใช้หุ้นเป็นหลักประกัน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อวันที่หุ้นมีมูลค่าลดลงถึงจุดที่ตกลงกัน หากไม่วางหลักประกันเพิ่ม ก็ต้องถูกบังคับขายหุ้นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้
7. ย้อนดูผลประกอบการ RS ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ากำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดอย่างมากในปี 2566 แต่จะเห็นได้ชีดว่าในปี 2567 กำไรสุทธิมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก
- ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 127.35 ล้านบาท
- ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 137.07 ล้านบาท
- ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1395.23 ล้านบาท
- 9 เดือน ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 12.21 ล้านบาท
8. สำหรับรูปแบบการนำหุ้นมาหาสภาพคล่อง การจำนำหุ้น หรือการนำหุ้นมาใช้เป็นหลักประกัน เช่นที่เกิดขึ้นกับหุ้น RS และ GIFT จนถูกบังคับขาย ไม่ใช่แค่กรณีแรก หากยังจำกันได้มีกรณีของหุ้น JKN ของแอน จักรพงษ์ , หุ้น บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG
หรือกรณีหมอบุญ วนาสิน ที่เป็นการออกใบหุ้นนอกตลาด แม้จะเป็นการทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG แต่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมของหุ้น THG ไม่น้อย