SHORT CUT
ทุจริตเสาไฟ ปมคอร์รัปชันไทยที่ยังไร้คำตอบ และยังคนเดินหน้าทำกันต่อไปโดยไร้ความรับผิดชอบ และการมีจิตสำนึกต่อสังคม
ปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดมากกว่าคือการทุจริตในโครงการติดตั้งเสาไฟสาธารณะ เป็นโครงการที่ถูกกล่าวขานว่าเปลืองทั้งประมาณ เป็นช่องว่างของการทุจริต ขณะที่ถึงแม้มีการตรวจสอบ แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องในระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจในระดับท้องถิ่น
โครงการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมรูปกินรีที่ตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ ได้กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการทุจริตในระดับท้องถิ่น โดยมีการใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 642 ล้านบาทในการติดตั้งเสาไฟจำนวนกว่า 6,000 ต้น โดยแต่ละต้นมีราคาสูงถึง 94,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับเสาไฟทั่วไป
การติดตั้งเสาไฟในโครงการนี้มีความผิดปกติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างระหว่างเสาไฟเพียง 10-14 เมตร ขัดแย้งกับเอกสารที่ระบุว่าจะติดตั้งห่างกัน 20 เมตร การติดตั้งในซอยขนาดเล็กและบนถนนทางหลวงที่มีความถี่เกินความจำเป็น มีการทำสัญญาต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี (2556-2564) ครอบคลุมกว่า 10 สัญญา วงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 734 ล้านบาท โดยมีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ได้รับงานทั้งหมด
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ปี 2556 และมีคำสั่งให้ อบต.ราชาเทวะคืนเงินงบประมาณ 67 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการคืนเงินแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าและความไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีทุจริตเสาไฟประติมากรรมทั่วประเทศ โดยได้รับการประสานจาก สตง. ว่าได้สรุปผลการตรวจสอบแล้วเกือบ 80 เรื่อง การตรวจสอบครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากมายเช่น การกำหนดราคากลางที่สูงเกินจริง การเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง การใช้อำนาจโดยมิชอบในการอนุมัติโครงการ ความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ล่าสุดเราได้โทรเพื่อสอบถามความคืบหน้า แต่ยังไม่มีการตอบรับจาก ป.ป.ช.
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้จะมีการชี้มูลจาก ป.ป.ช. การดำเนินคดีก็เงียบลงไป ไม่ได้มีการดำเนินใดๆ ต่ออย่างเป็นรูปธรรม
ดร.มานะ ชวนคิดว่า สำนักงบประมาาณรวมถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีกระบวนการป้องกันและตรวจสอบอย่างชัดเจน ไม่ใช่ทำเหมือนในปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีกรณีเสาไฟกินรีเกิดขึ้นก็ยังเกิดโครงการซื้อเสาไฟเช่นเสาไฟกินรีอยู่ดีในปัจจุบัน
กรณีศึกษาเมืองซานตาเฟเมื่อพิจารณากรณีของเมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เราจะเห็นความแตกต่างในการบริหารจัดการโครงการสาธารณะที่น่าสนใจ โครงการปรับปรุงระบบเสาไฟของเมืองซานตาเฟมีมูลค่า 2.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 82.5 ล้านบาท) สำหรับเสาไฟ 5,600 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีของไทยแล้ว มีราคาต่อหน่วยที่ต่ำกว่ามาก
กระบวนการดำเนินโครงการของเมืองซานตาเฟแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเมื่อมีข้อสงสัย มีการระงับโครงการทันทีเพื่อตรวจสอบ จัดให้มีเวทีอภิปรายและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเข้ามาให้คำปรึกษา ดำเนินการต่อเมื่อได้รับการเห็นชอบจากทุกฝ่าย
การทุจริตในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล ภาระภาษีที่ประชาชนต้องแบกรับโดยไม่จำเป็น ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่จำเป็น
ความเชื่อมั่นต่อระบบราชการและการปกครองท้องถิ่นลดลง การสูญเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม
การปรับปรุงระบบตรวจสอบ เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณ สร้างกลไกการถ่วงดุลอำนาจที่มีประสิทธิภาพ กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงและบังคับใช้อย่างจริงจัง
ดร.มานะ ให้แนวทางการตรวจสอบและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสร้างช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินโครงการภาครัฐ สนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมในการติดตามการทุจริต
ทำให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณเปรียบเทียบ เช่น มีการให้ข้อมูลเรื่องราคาอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทราบว่าราคาเท่าไหร่ต่อต้น และสามารถไปเปรียบเทียบได้ว่าควรซื้อหรือไม่รวมถึงนำเงินที่จะซื้อเสาไฟในราคาที่แพงไปซื้ออย่างอื่นที่ตอบโจทย์กับชีวิตประชาชน
กรณีทุจริตเสาไฟสาธารณะไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายทางการเงินเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการบริหารงานท้องถิ่นของไทย การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานตรวจสอบ ประชาชน และสื่อมวลชน ในการติดตามการใช้งบประมาณของท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
การเรียนรู้จากกรณีศึกษาต่างประเทศและการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีกในอนาคต
อ้างอิง
The Opener / Thai / อิศรา / ไทย / Nation /