svasdssvasds

‘9 แคมป์’ พักพิงผู้ลี้ภัยชั่วคราวในไทย อยู่จนเป็นที่พักพิง "ถาวร"

‘9 แคมป์’ พักพิงผู้ลี้ภัยชั่วคราวในไทย อยู่จนเป็นที่พักพิง "ถาวร"

‘9 แคมป์’ พักพิงผู้ลี้ภัยชั่วคราวในไทย รองรับผู้อพยพจากเมียนมาเป็นเวลานานหลาย 10 ปี อยู่จนเป็นพื้นที่พักพิงถาวร

SHORT CUT

  • ทางการไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพหนีสงคราม จากฝั่งเมียนมามากถึง 9 แห่ง ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามจังหวัดชายแดน 
  • ปัญหาอยู่ที่ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใดๆ ทั้งจึงยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว
  • ไม่มีนโยบายจัดการอย่างชัดเจน นอกจากส่งกลับ หรือกักตัวไม่มีกำหนด ซึ่งหลายคนเผชิญกับอย่างหลัง

‘9 แคมป์’ พักพิงผู้ลี้ภัยชั่วคราวในไทย รองรับผู้อพยพจากเมียนมาเป็นเวลานานหลาย 10 ปี อยู่จนเป็นพื้นที่พักพิงถาวร

ปัจจุบัน ทางการไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพหนีสงคราม จากฝั่งเมียนมามากถึง 9 แห่ง ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,ตาก ,กาญจนบุรี โดยมีผู้อพยพลี้ภัยรวมกันเกือบ 1 แสนคน

จำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายชายแดนไทย – เมียนมา 9 แห่ง

  1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 7,856 คน
  2. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 1,948 คน
  3. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 9,750 คน
  4. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 8,882 คน
  5. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ. ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวน 34,357 คน
  6. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 10,448 คน
  7. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 9,222 คน
  8. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จำนวน 2,658 คน
  9. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 6,216 คน

ผู้อพยพลี้ภัย ในค่ายชายแดนไทย-เมียนมา 9 แห่ง ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (คะเรนนี) นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

PHOTO : Meneerke bloem

 

โดยในจำนวนทั้งหมด 91,337 ที่อยู่ในค่ายชายแดนไทยเมียนมา มีแค่ 43,865 คนเท่านั้น ที่เป็น Registered population หรือผู้ลี้ภัยที่จดทะเบียนกับ “สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ” ส่วนอีก 47,427 คน ยังเป็น Unregistered population หรือผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับ UNHCR ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง ไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอที่ลี้ภัยเอง หรือไม่ก็อยู่ระหว่างรอกระบวนการที่มีระยะเวลานาน แต่ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่ พวกเขาก็เป็นยังคงฐานะเป็นผู้ลี้ภัย ที่ควรมีสิทธิของมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

แต่ปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ในค่ายลี้ภัยต่างๆ ค่อนข้างลำบาก ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก และไม่บริการด้านสุขอนามัยที่เพียงพอ เนื่องจากงบประมาณที่เคยได้รับจาก ยูเอ็น หรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ลดลงต่อเนื่อง และเมื่อไร้การเหลียวแล ในศูนย์พักพิงจึงกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ อาวุธเถื่อน ไปจนถึงยาเสพติด

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการไทยยังมีการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังฝั่งเมียมาเป็นพักๆ ซึ่งเป็นการละเมิดต่อหลักการตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามการส่งกลับ หรือการบังคับให้บุคคลกลับไปยังสถานที่ใด ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า จะต้องเผชิญกับการประหัตประหาร การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือภัยคุกคามต่อชีวิต

ไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย

ปัญหาอยู่ที่ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใดๆ ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสถานะของผู้ลี้ภัยที่ข้ามชายแดนมา ไม่ว่าจะเหตุผลอะไร ให้ถือว่าเป็น “คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และไทยไม่มีนโยบายจัดการอย่างชัดเจน นอกจากส่งกลับ หรือกักตัวไม่มีกำหนด ซึ่งหลายคนเผชิญกับอย่างหลัง คืออยู่ในค่ายลี้ภัยหลายสิบปีแบบไม่มีตัวตน ไม่มีงานถูกกฎหมายให้ทำ และอาจเสียชีวิตอยู่ในค่ายแบบไม่มีใครทราบ

ในเมื่อ ส่งชุดเก่ากลับไปเป็นพัก ๆ แต่ชุดใหม่ยังเข้ามาอยู่เรื่อยๆ แถมมากกว่าขาส่งกลับเสียอีก จึงทำให้ศูนย์พักพิงชั่วคราวอยู่แบบเสื่อมโทรมมานาน จนแทบจะกลายเป็น ศูนย์พักพิงถาวรไปแล้ว

ส่วนเหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมเป็น อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยนั้น อาจเป็นเพราะบางมาตรา กำหนดให้เป็นภาระของรัฐบาลเจ้าบ้าน ซึ่งอาจกระทบกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองของรัฐบาลไทยในหลายมิติ และนอกจากนั้นยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า แคมป์ผู้อพยพ 9 แห่งตามชายแดน ยังเป็นแหล่งทำเงินของบางหน่วยงาน เช่นขายข้าว ขายน้ำ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ เป็นต้น กล่าวคือหากินได้ยาวๆ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องอยู่ถาวร ไปไม่มีที่ปลอดภัยให้ไป

นี่เป็นเพียงภาพคร่าวๆ -ของสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เพราะปัญหานี้มีอีกหลายมุมที่ต้องถกเถียงกัน แต่เนื่องในโอกาส วันที่ 20 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก ที่ให้นานาชาติร่วมระลึกถึงความเข้มแข็ง และความกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีเพื่อแสวงหาความปลอดภัยจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร ดังนั้น เราทุกคนควรตระหนักถึงการมีตัวตนของพวกเขา และหยุดแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ก็ตามที่ผิดกฎหมายกับผู้พลัดถิ่นเหล่านั้น

แม้การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยั่งยืนที่สุดคือการยุติสงครามและความขัดแย้งที่ต่าง ๆ เพื่อลดการอพยพย้ายประเทศ แต่ในเมื่อสถานการณ์ต่างประเทศเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลเจ้าบ้านควรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกคน ให้ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับบุคคลทั่ว ๆ ไป โดยพวกเขาต้องสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงศาสนา สัญชาติ หรือเชื้อชาติของพวกเขา และที่สำคัญควรดำเนินการป้องกันและยุติไม่ให้มีการผลักดันส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศ

 

ที่มา : Amnesty / กรุงเทพธุรกิจ / UNHCR / TDRI

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

related