svasdssvasds

เปิดพิรุธกลโกง "อดีตบิ๊ก ตร." ทุจริตสอบนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เปิดพิรุธกลโกง "อดีตบิ๊ก ตร." ทุจริตสอบนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ตร.ไซเบอร์ แฉพิรุธ ขบวนการขโมยข้อสอบให้ "พล.ต.อ." ลอก ทำกันเป็นขบวนการ หลังจับหญิงคนสนิท "อดีตบิ๊ก ตร." แอบนำข้อสอบคณะนิติศาสตร์ ม.ดัง ออกไปให้คนอื่นทำ ก่อนจะส่งต่อไปให้อดีตนายตำรวจ ยศ "พล.ต.อ." นายหนึ่ง คัดลอก

จากกรณีที่ตร.ไซเบอร์เข้าจับกุม นางขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 22 เมษายน 2568 ในข้อหา “ร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น” โดยจับกุมได้ที่บ้าน ย่านบางบอน กรุงเทพมหานคร กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้วยการนำข้อสอบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกไปเพื่อให้กับอดีตนายพลตำรวจระดับใหญ่นายหนึ่ง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 

สำหรับหลักฐานที่นำมาสู่การจับกุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากชุดตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ  PCT ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์ของนายคริษฐ์ (สงวนนามสกุล) หรือ อดีตรองคริษฐ์ ผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์ ปรากฏเอกสารที่เชื่อมโยงกับข้อสอบของคณะนิติศาสตร์ ฯ จึงประสานให้ บก.สอท.1 รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ

จากข้อมูลการสืบสวนพบว่า อดีตนายพลตำรวจรายดังกล่าว รู้จักกับผู้ต้องหา เนื่องจากเคยศึกษาด้วยกันที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จากนั้นในช่วงปี 2566 อดีตนายพลตำรวจรายนี้ กำลังศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ฯ และในช่วงนั้นกำลังเป็นช่วงสอบ ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยนี้ แต่เข้าไปมหาวิทยาลัย และไปตีสนิทกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรกับการจัดสอบ จึงสันนิษฐานว่า มีขบวนการลักลอบนำข้อสอบออกมาให้กับอดีตพลตำรวจนายนี้

คดีนี้สืบเนื่องจากจากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ บก.สอท.1 มีการปฏิบัติจับกุม น.ส.ธันยนันท์ หรือมินนี่ สุจริตชินศรี เจ้าแม่เว็ปพนันรายใหญ่ ที่กระทำความผิดซ้ำเว็ปพนันออนไลน์ เจ้าหน้าที่มีการตรวจยึดพยานหลักฐานรวมทั้งคอมพิวเตอร์ จากนั้นผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้มีการตรวจสอบหลักฐานการจับกุมเจ้าแม่เว็ปพนันครั้งแรกเมื่อปี 66 มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการจับกุมครั้งนี้อย่างไรหรือไม่ จึงมีการตรวจสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ทำให้พบว่ามีการลักลอบนำข้อสอบจากมหาลัยดังกล่าวไปจากมหาลัย มีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าผู้กระทำความผิดเป็นกลุ่มบุคคล 4-5 คนทำกันเป็นขบวนการและมีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน บก.สอท.1 และทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญากรุงเทพใต้ นำไปสู่การจับกุมจับกุมหญิงอายุ 53 ปี การศึกษาระดับปริญญาเอก แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาลัยแต่อย่างใด

 

พฤติการณ์ คือ ตำรวจระดับ “รองผู้กำกับ” และ ตำรวจระดับ “สารวัตร” จะเป็นตัวต้นเรื่อง ประสานกับทางเจ้าหน้าที่หลักสูตร นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) ให้เอาข้อสอบออกมาจากห้องสอบ เพื่อเอามาให้กับ “ดร.นิด” ที่ตอนนั้นอ้างว่าเป็นเลขาส่วนตัวของ “บิ๊กตำรวจ”

จากนั้น ดร.นิด จะนำไปให้ทีมทนายของบิ๊กตำรวจไปทำข้อสอบให้ พอทีมทนายทำข้อสอบเสร็จ ดร.นิด จะเป็นคนนำข้อสอบมาคืนที่ห้องสอบให้กับเจ้าหน้าที่หลักสูตรที่คุมสอบ โดยที่ “บิ๊กตำรวจ” ไม่ได้ทำข้อสอบเอง แม้แต่ข้อเดียว

วิธีและการวางแผนอย่างแยบยล ใช้ตัวช่วยหลายคน แบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างสอดประสาน เริ่มจากตัว “พล.ต.อ.” จะแจ้งขอเลื่อนสอบ อ้างว่าติดภารกิจราชการสำคัญ ในฐานะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พอมีนัดสอบครั้งใด หากยังมีคนร่วมสอบด้วย “พล.ต.อ.” ก็จะหาข้ออ้าง เลื่อนสอบแล้วเลื่อนสอบจนกว่าจะเหลือคนเดียวที่จะได้สอบ

ส่วนการขยายผลตำรวจ บก.สอท.1 กำลังออกหมายเรียก ”รองผู้กำกับ-สารวัตร” มารับทราบข้อกล่าว เพราะขบวนการทุจริตข้อสอบนิติศาสตร์ ที่ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ “บิ๊กตำรวจ” มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 188 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

"นิติ จุฬาฯ" แถลงปมข้อสอบรั่ว ยันผู้ต้องหาไม่ใช่ศิษย์เก่า-บุคลากร

วันที่ 24 เมษายน 2568 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีข่าวการจับกุมผู้ต้องหาในคดีร่วมกันนำเอกสารข้อสอบออกไปให้บุคคลอื่นทำ ก่อนส่งต่อให้อดีตนายตำรวจยศ "พลตำรวจเอก" เมื่อช่วงปี 2566

โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้จับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยนำข้อสอบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไปให้ผู้อื่นทำก่อนจะส่งต่อไปให้อดีตนายตำรวจยศพลตำรวจเอกนายหนึ่งคัดลอก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2566 นั้น

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) รู้สึกเสียใจยิ่งกับเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ และขอเรียนว่า หลักสูตรฯ ได้รับการประสานจาก บช.สอท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และหลักสูตรฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้มาโดยตลอด

"นิติ จุฬาฯ" แถลงปมข้อสอบรั่ว ยันผู้ต้องหาไม่ใช่ศิษย์เก่า-บุคลากร

หลักสูตรฯ ขอเรียนว่า "ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีครั้งนี้ มิใช่ศิษย์เก่าและมิได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย" แต่ได้อาศัยโอกาสกระทำการดังกล่าวจากการเข้ามาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของหลักสูตรโดยที่เจ้าหน้าที่มิได้สังเกตพิรุธ (รายละเอียดอยู่ในขั้นตอนคดี) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของหลักสูตรได้ให้ข้อมูลและแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งประสานข้อมูลเพิ่มเติมทางการสอบสวน และหากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีนี้หรือกรณีอื่น คณะนิติศาสตร์จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการจัดการในกรณีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ ขอยืนยันเจตจำนงในอันที่จะรักษามาตรฐานการจัดการศึกษา การให้ปริญญา ตลอดจนคุณภาพบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาของไทย

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 สำหรับบุคคลทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาแล้วเข้าศึกษานอกเวลาราชการเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตอีกปริญญาหนึ่ง

ที่มา : Faculty of Law, Chulalongkorn University

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related