svasdssvasds

เปิดโทษวินัยร้ายแรง 'บิ๊กโจ๊ก' ถึงขั้นโดน 'ไล่ออก' เหลือโอกาสสู้ 3 ทาง

เปิดโทษวินัยร้ายแรง 'บิ๊กโจ๊ก' ถึงขั้นโดน 'ไล่ออก' เหลือโอกาสสู้ 3 ทาง

คณะกรรมการพิจารณาโทษ สตช. มติเอกฉันท์ไล่ออก "บิ๊กโจ๊ก" หมดสิทธิ์ได้บำเหน็จบำนาญ แต่ยังมีโอกาสสู้ผ่าน 3 ขั้นตอนทางกฎหมาย แม้โอกาสจะเหลือน้อยเต็มที

จากกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ถูกกล่าวหากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หลังจากที่พนักงานสอบสวนร้องทุกข์กล่าวโทษในพื้นที่ สน.เตาปูน ให้ดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ 22 คน ในความผิดฐาน "ร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้อนุญาตจากเจ้าพนักงานและความตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน"

พนักงานสอบสวน สอบจนพบเครือข่ายเจ้าของเว็บพนันและพบเส้นทางการเงินเกี่ยวกับข้าราชการตำรวจหลายนาย รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล จนศาลมีคำสั่งออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ วันที่ 2 เม.ย. 2567 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช อดีตรอง ผบ.ตร. สมัยนั้นเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตรวจสอบพบความผิดเข้าข่ายดำเนินการวินัยร้ายแรง ก่อนเกษียณราชการ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มอบ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. เป็นประธานสอบสวนวินัยร้ายแรง มีความเห็นเสนอ ผบ.ตร. ก่อนมอบให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อเสนอแนะการลงโทษที่มี พล.ต.อ.ไกรบุญ เป็นประธานประชุมสรุปความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เพื่อลงนามคำสั่ง

ล่าสุดวานนี้ (7 มี.ค. 68) คณะกรรมการพิจารณาโทษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ไล่ออก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ "บิ๊กโจ๊ก" อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยจะเสนอให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามคำสั่งต่อไป ซึ่งโทษดังกล่าวถือเป็นการลงดาบขั้นสูงสุดในทางวินัย ส่งผลให้หมดสิทธิ์รับบำเหน็จบำนาญ

 

 

มติเอกฉันท์ 'ไล่ออก' ส่งผลให้ทางรอดเหลือน้อย

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโทษ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคนร่วมเป็นกรรมการ ยกเว้น พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

จากผลการประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ลงโทษไล่ออก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งถือเป็นบทลงโทษขั้นสูงสุดในทางวินัยร้ายแรง โดยผลของการถูกไล่ออกจะทำให้ "บิ๊กโจ๊ก" ไม่มีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญใดๆ ต่างจากกรณีปลดออกที่ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าว

กระบวนการพิจารณาโทษวินัยร้ายแรง

ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 125 กำหนดให้การลงโทษวินัยร้ายแรงแก่ข้าราชการตำรวจมี 2 สถาน คือ ปลดออก และไล่ออก โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้มีอำนาจไม่สามารถสั่งลงโทษได้ทันที จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษเพื่อเสนอแนะก่อน

ประเภทของความผิดวินัยร้ายแรง ประกอบด้วย

  • ประพฤติชั่ว คือ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์การเป็นข้าราชการตำรวจ
  • ประพฤติชั่วร้ายแรง คือ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์การเป็นข้าราชการตำรวจ และต่อหน่วยงานราชการ

ความผิดวินัยร้ายแรงที่ "บิ๊กโจ๊ก" ถูกพิจารณาเข้าข่ายประพฤติชั่วร้ายแรง ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์การเป็นข้าราชการตำรวจ และส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการ

'บิ๊กโจ๊ก' มีโอกาสสู้ต่อใน 3 ขั้นตอน 

  1. อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. โดยสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)
  2. ฟ้องศาลปกครองสูงสุด หาก ก.พ.ค.ตร. ยืนยันตามมติคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและคณะกรรมการกลั่นกรองโทษ "บิ๊กโจ๊ก" ยังสามารถใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้
  3. การพิจารณาถอดยศ หากศาลปกครองสูงสุดยืนตามมติ ก.พ.ค.ตร. คดีในส่วนของโทษทางวินัยจะถึงที่สุด และจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาถอดยศตำรวจต่อไป

นอกจากนี้ "บิ๊กโจ๊ก" ยังมีอีกหนึ่งคดีที่ค้างการพิจารณาในศาลปกครองสูงสุด คือการร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งแม้จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไว้แล้ว แต่ "บิ๊กโจ๊ก" ได้ยื่นคำร้องต่อ ก.พ.ค.ตร. 

อย่างไรก็ตาม ก.พ.ค.ตร. มีมติว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ "บิ๊กโจ๊ก" ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดได้ตีตกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไปแล้ว

แม้จะมีมติเอกฉันท์ไล่ออก แต่ "ชีวิตที่ 10" ของ "บิ๊กโจ๊ก" ยังอาจมีลุ้นได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งการอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. และการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด แม้โอกาสจะเหลือน้อยลงไปมากแล้วก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related