SHORT CUT
ได้ดีเพราะบารมีพ่อ ซุนกวน ผู้สืบสันดานแห่งง่อก๊ก ไม่ต้องออกแรงชกแต่ได้ขึ้นเป็นใหญ่ บ่งบอกว่าการเมืองแบบสืบสันดานมีมาตั้งแต่อดีต
ในวรรณกรรมสามก๊กเรามักจะคุ้นเคยกับเล่าปี่คือเชื้อพระวงศ์ฮั่นที่ก่อตั้งอาณาจักรจ๊กก๊ก และโจโฉ ผู้กุมราชันย์บัญชาปวงขุน เป็นผู้นำแห่งวุยก๊ก
แต่ผู้นำก๊กอีกก๊กหนึ่งที่น่าสนใจถึงแม้เขาจะไม่ใช่ผู้ที่โลดแล่นในสนามรบจนมีชื่อเสียงปรากฏจนโด่งดังและตั้งอาณาจักรเองได้ แต่ก็เป็นผู้ที่ถูกจดจำว่าเป็นผู้นำของ 1 ใน 3 สามก๊ก
คนคนนั้นมีชื่อว่า “ซุนกวน” ทายาทผู้โชคดีได้ดีเพราะบารมีพ่อที่แผ้วถางจนเขากลายเป็นผู้สืบสันดานแห่งง่อก๊กนั่นเอง
ก่อนที่เราจะรู้จักซุนกวน เราต้องทำความรู้จัก ซุนเกี๋ยน เสียก่อนเพราะเขาถือได้ว่าเป็นคนที่มีบารมี เป็นที่นับถือ และซุนกวนมีบารมีพ่อของตนเองจึงสามารถขึ้นเป็นใหญ่ได้
ซุนเกี๋ยนเป็นนักการเมือง และขุนศึกที่มีชีวิตในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน ซุนเกี๋ยนเป็นพันธมิตรกับอ้วนสุดในปี ค.ศ. 190 เมื่อเหล่าขุนศึกในภาคตะวันออกของจีนรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตรเพื่อขับไล่ตั๋งโต๊ะ เผด็จการผู้กุมพระเจ้าเหี้ยนเต้จักพรพรรดิหุ่นเชิดไว้ในอำนาจ แม้ว่าซุนเกี๋ยนจะไม่ได้ครอบครองกองกำลังและอาณาเขตมากนัก แต่ความกล้าหาญและปฏิภาณของตัวซุนเกี๋ยนก็ทำให้ตั๋งโต๊ะหวาดกลัว ยกให้ซุนเกี๋ยนมีความสำคัญในฐานะบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานั้นเทียบเท่าอ้วนเสี้ยว อ้วนสุด และเล่าเปียว หลังทัพพันธมิตรแยกสลายในปีถัด จีนตกอยู่ภาวะสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 191 ซุนเกี๋ยนถูกสังหารระหว่างการรบกับเล่าเปียว
ช่วงต้นนั้นซุนเกี๋ยนเกิดที่อำเภอฟู่ชุน เมืองง่อกุ๋น ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณเขตฟู่หยาง มณฑลเจ้อเจียง กล่าวกันว่าซุนเกี๋ยนสืบเชื้อสายมาจากซุนบู๊ ผู้เขียนพิชัยสงครามซุนจื่อ
ในวัยหนุ่ม ซุนเกี๋ยนเป็นข้าราชการในอำเภอบ้านเกิด เมื่อซุนเกี๋ยนอายุ 16 ปีได้เดินทางพร้อมกับบิดาไปยังเจียนต๋อง (เฉียนถัง) แล้วกับพบกลุ่มโจรสลัดกำลังแบ่งของที่ปล้นได้บนบก ซุนเกี๋ยนกระโดดขึ้นฝั่งพร้อมกับกระบี่ในมือและชี้ไปในทิศทางต่าง ๆ ราวกับกำลังสั่งให้กองทหารออกไปล้อมกลุ่มโจรสลัด เมื่อพวกโจรสลัดเห็นเช่นนั้นก็ถูกหลงเชื่อว่ามีทหารอยู่จริง ๆ และแตกหนีไป ซุนเกี๋ยนไล่ตามและสังหารโจรสลัดได้คนหนึ่ง ซุนเกี๋ยนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเพราะเหตุการณ์นี้
ต่อมาซุนเกี๋ยนไต่เต้าจากตำแหน่งขุนนางเล็กๆ จนเป็นเจ้าเมืองเตียงสา เข้าร่วมกับกองทัพ 18 หัวเมืองตะวันออกต้านตั๋งโต๊ะในฐานะลูกน้องของอ้วนสุด สามารถเอาชนะกองทัพของตั๋งโต๊ะจนได้รับฉายาว่า “พยัคฆ์กังตั๋ง” และกำลังจะยึดเมืองลั่วหยาง อ้วนสุดเกิดอิจฉาริษยาที่ซุนเกี๋ยนได้ชัยชนะและถ้าหากยึดเมืองลกเอี๋ยงได้ ซุนเกี๋ยนก็จะได้รับความดีความชอบไป จึงตัดสินใจแกล้งไม่ส่งเสบียงให้แก่ทัพของซุนเกี๋ยน จนในที่สุดซุนเกี๋ยนรบพ่ายแพ้และไปเอาเรื่องกับอ้วนสุด แต่อ้วนสุดกลับเอาตัวรอดได้ด้วยการโยนความผิดและประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ส่งเสบียงไป ต่อมาหลังจากตั๋งโต๊ะเผาเมืองหนีไปยังเตียงฮัน
ต่อมาหลังจากตั๋งโต๊ะเผาเมืองหนีไปยังเตียงฮัน ซุนเกี๋ยนลาดตระเวณทั่วเมืองจนกระทั่งได้พบกับตราหยกแผ่นดินโดยบังเอิญในศพหญิงรับใช้ในวังที่กระโดดบ่อน้ำตาย ลูกน้องและคนของซุนเกี๋ยนจึงสรรเสริญว่า ซุนเกี๋ยนเป็นผู้มีบุญต่อไปจะได้เป็นฮ่องเต้ ทำให้ซุนเกี๋ยนตัดสินใจออกจากกองทัพ 18 หัวเมืองเพื่อไปตั้งตนเป็นใหญ่แต่อ้วนเสี้ยวรู้เข้าจึงบีบให้ส่งตราหยกมา แต่ซุนเกี๋ยนกลับไม่ยอมให้และตีจากไป อ้วนเสี้ยวได้ส่งเล่าเปียวไปชิงตราหยกกลับคืนมาแต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นซุนเกี๋ยนและเล่าเปียวก็เป็นศัตรูกัน เวลาต่อมาซุนเกี๋ยนได้คิดที่จะสถาปนาเมืองกังตั๋งให้ขึ้นมาเข้มแข็งบ้าง ซึ่งต่อมาถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับการตั้งตัวของง่อก๊ก โดยซุนเซ็กและซุนกวน บุตรชายทั้ง 2
หลังจากนั้นอ้วนสุดมีคำสั่งให้ซุนเกี๋ยนโจมตีเมืองเกงจิ๋วของเล่าเปียว แต่ซุนเกี๋ยนเสียชีวิตในการรบในระหว่างไล่โจมตีหองจอ ลูกน้องของเล่าเปียว
เป็นการปิดตำนานขุนพลที่มักมีจุดจบคือการกระหายอำนาจ
แม้จะเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร แต่ซุนเกี๋ยนก็ได้ฝากชื่อเสียงไว้ในฐานะขุนศึกผู้กล้าหาญ และได้วางรากฐานที่สำคัญให้กับซุนกวนในการก่อตั้งง่อก๊กในภายหลัง
แต่กระนั้นลูกชายของเขาคือ ซุนเซ็กขึ้นมามีอำนาจต่อจากเขา อาศัยฐานที่มั่นของบิดาคือเมืองเตียงสา ขุนพล และที่ปรึกษา ค่อยๆ ขยายอำนาจต่อจนทำให้ขยายอำนาจในพื้นที่ตอนใต้ของจีนได้สำเร็จ
ภายหลังที่ซุนเซ็กสิ้นชีพ ซุนกวนขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งง่อก๊กแทน เรียกได้ว่าเป็นทายาทที่โชคดี เพราะพ่อและพี่ได้แผ้วถางแผ่นดินไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
รวมถึงมีขุนพลและที่ปรึกษาของพ่อและพี่ที่คอยให้คำปรึกษา พร้อมที่จะสามารถขยายฐานอำนาจได้ต่อไป
มีทั้ง อุยกาย ที่เป็นหนึ่งในแม่ทัพของง่อก๊กที่รับใช้แซ่ซุนแห่งกังตั๋งถึง 3 สมัยคือตั้งแต่ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็กและซุนกวน โดยอุยกายเป็นผู้จุดไฟเผาเรือของโจโฉในศึกผาแดง
ฮันต๋ง เป็นขุนพลแห่งง่อก๊ก รับใช้ตระกูลซุนตั้งแต่รุ่นซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก ถึงซุนกวน เข้ารับราชการกับซุนเกี๋ยนในเวลาไล่เลี่ยกับเทียเภาและอุยกาย มีความสามารถในการรบ ทำศึกมีความชอบหลายครั้ง รวมถึงการมีบทบาทในศึกผาแดงอีกด้วย
เทียเภา เป็นทหารเอกของซุนเกี๋ยน หลังจากซุนเกี๋ยนตาย ก็รับใช้ซุนเซ็กต่อ ช่วยซุนเซ็กในการยึดดินแดนง่อ มีผลงานในการรบมากมาย และมีนิสัยดีงาม
จูตี เป็นชาวกู้จัง เป็น ที่ปรึกษาของซุนเกี๋ยน ตั้งแต่เป็นเจ้าเมืองเตียงสา ช่วยเหลือกันตลอดมา เมื่อสิ้นบุญซุนเกี๋ยนแล้ว จูตีได้ให้ ความช่วยเหลือชี้ช่องทางต่างๆ จนซุนเซ็กตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ในกังตั๋ง และคอยช่วยเหลือซุนกวนผู้นำรุ่นที่ 3 แห่งง่อก๊ก
เรียกได้ว่าซุนกวนขึ้นมาเป็นใหญ่โดยมีพร้อมทั้งคนและเขตแดน โดยที่พ่อของเขาได้สร้างไว้ให้ไว้ทุกอย่างแล้ว
แต่กระนั้นภายหลังที่เขากลายเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก ก็เริ่มเสียคนตอนแก่ เพราะไม่ค่อยจะฟังที่ปรึกษาอย่างลกซุนที่สามารถทำศึกชนะเล่าปี่ได้
บวกในช่วงที่ซุนกวนอายุมากขึ้น การต่อสู้เพื่ออำนาจภายในราชวงศ์ก็อาจรุนแรงขึ้น ทำให้ซุนกวนต้องตัดสินใจที่ยากลำบากและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน
หลังจากที่ซุนกวนสิ้นพระชนม์ไปแล้ว การสืบทอดอำนาจในราชวงศ์ซุนก็เกิดความวุ่นวายขึ้น ผู้สืบทอดหลายคนขาดความสามารถในการปกครองเท่ากับซุนกวน ทำให้เกิดความอ่อนแอภายในราชวงศ์
ขุนพลและขุนนางผู้มีความสามารถหลายคนเสียชีวิตไป การขาดผู้นำที่เก่งกล้าในการนำทัพและบริหารประเทศ ทำให้ง่อก๊กขาดกำลังคนและทรัพยากรในการป้องกันประเทศ
ในช่วงปลายของง่อก๊ก ผู้ปกครองหลายคนมัวหมองกับการเสพสุขและการสนุกสนาน ทำให้การปกครองประเทศหย่อนยานลง เกิดความขัดแย้งภายในและความไม่พอใจในหมู่ประชาชน
ขณะที่ง่อก๊กกำลังอ่อนแอลง ในทางกลับกันราชวงศ์จิ้นภายใต้การนำของสุมาเอี๋ยน ก็กำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนของง่อก๊ก
รวมถึงในช่วงท้ายของง่อก๊ก ขุนนางและขุนศึกหลายคนมีความขัดแย้งกันเอง ทำให้เกิดความแตกแยกภายใน และขาดความสามัคคีในการต่อต้านศัตรูภายนอก
จึงนำไปสู่การล่มสลายของง่อก๊กที่ถูกราชวงศ์จิ้นยกทัพเข้ามาโจมตีได้ในที่สุด
สรุปแล้วเราอาจพูดได้ว่า เกิดจากปัจจัยภายในเพราะประเทศที่แข็งแกร่งจะต้องมีผู้นำที่เก่งกล้า มีการปกครองที่ดี และมีความสามัคคีภายในประเทศ เมื่อปัจจัยเหล่านี้ขาดหายไป ประเทศนั้นก็ย่อมอ่อนแอและล่มสลายได้ง่ายดาย
สามก๊กวิทยา / SilpaMag /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง