SHORT CUT
"วุฒิสภา" ชุดปัจจุบัน มีมติเอกฉันท์ 101 ต่อ 10 เสียง ตั้ง กมธ.ตรวจสอบการเลือกวุฒิสภา ด้าน สว.เสรี อภิปรายไม่เห็นด้วย ลั่น "นี่คือหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะต้องใจกว้าง และยอมรับว่าหมดวาระของเราแล้ว"
วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา การประชุมวุฒิสภา วาระการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกวุฒิสภา (สว.) ที่นายสมชาย แสวงการ เป็นผู้เสนอ เพื่อตรวจสอบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่
ช่วงหนึ่ง นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า การอภิปรายแสดงความคิดเห็นของตนอาจไม่ตรงกับเพื่อนสมาชิก ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอความเห็นต่อกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไป ว่าเป็นกระบวนการที่ผิดปกติ ที่ กกต.ควรนำมาพิจารณา แต่เนื้อความที่เสนอไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ กกต. คำว่าองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 ที่บัญญัติว่าองค์กรอิสระตั้งขึ้นมาให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งหาก กกต. ทุจริตและทำผิดต่อหน้าที่ ก็มีโอกาสที่ต้องรับผิดชอบและต้องติดคุกได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109 ได้บัญญัติไว้ว่าให้สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่จนกว่า จะมีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่อยากให้พ้นจากหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาไปแล้วต้องมีคดีอาญาติดตัว
ที่ผ่านมาตน ไม่ค่อยเสนอความเห็นหรือให้กรรมาธิการไปทำในเรื่องของการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพราะกฎหมายกำกับไว้ว่าการเป็น ส.ว. ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. เพราะอย่างน้อยมีส่วนได้เสีย หลายคนที่มองว่าเป็นส่วนได้เสียที่จะต้องทำนั้นหากไม่ได้ชุดใหม่ขึ้นมาก็ต้องอยู่ต่อไป แม้เจตนาของทุกคนไม่มีเจตนาอยู่ต่อ แต่โดยสถานการณ์และเหตุการณ์มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนได้เสีย เมื่อมีอำนาจอยู่ก็กลายเป็นแทรกแซงและก้าวก่ายจึงเป็นเรื่องในข้อกฎหมายว่าเมื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างที่รักษาการอยู่ เป็นหน้าที่ของส.ว. หรือไม่ในเมื่อการตั้งกรรมาธิการการศึกษาขึ้นมา
“นี่คือหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะต้องใจกว้าง และยอมรับว่าหมดวาระของเราแล้ว และชุดใหม่เข้ามาแล้วด้วยคุณสมบัติอะไร หากไม่ได้ขัดตามรัฐธรรมนูญ หรือไปว่าเขาขายก๋วยเตี๋ยว ขายกล้วยแขก หรือขับรถ เป็นคุณสมบัติที่น่ายินดีให้คนเหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา” นายเสรี กล่าว
ขณะที่นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สว. อภิปรายสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามที่นายสมชาย แสวงการ เสนอ แต่ขอให้การตั้งกรรมาธิการนี้เป็นการให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การการกดดันหรือก้าวก่ายการทำงานของกันและกัน
อีกทั้งได้เสนอทางออก ให้กกต. ดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 3 แนวทางประกอบด้วย ให้การเลือกส.ว. ครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และการเลือกใหม่ทุกระดับ โดยใช้ผู้สมัครชุดเดิม แต่ให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ทุกคนอย่างละเอียด ยอมรับว่าการเลือกใหม่ทุกระดับอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1,500 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะได้ส.ว. ที่เป็นที่ยอมรับ
แนวทางที่สอง ให้เป็นโมฆะเฉพาะการเลือกในระดับประเทศ และการตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ผ่านเข้ารอบมาทั้งหมดใหม่อย่างละเอียด และให้ประกาศผลโดยเร็ว
แนวทางที่สาม ไม่ต้องให้มีการเลือกใหม่แต่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ 800 คนสุดท้ายที่ผ่านผ่านเข้ารอบมา อย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าตรงตามกลุ่มที่สมัครหรือไม่ หาก 200 คนผ่านการคัดเลือก รวมถึง 100 คนบัญชีสำรอง คนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติ ให้นำผู้ที่มีคุณสมบัติในลำดับถัดไปขึ้นมาแทน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมได้มีมติเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกวุฒิสภา (สว.) ด้วยคะแนน 101 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง