svasdssvasds

"การปฏิรูปที่ล้มเหลว" มุมมอง "สมเจตน์ บุญถนอม" สว.-สนช. 15 ปี

"การปฏิรูปที่ล้มเหลว" มุมมอง "สมเจตน์ บุญถนอม" สว.-สนช. 15 ปี

อดีต สว. และ สนช. 4 สมัยตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปอะไรบ้าง? แม้จะทำสำเร็จบ้าง แต่การเมือง-ตำรวจ ยังไม่ได้รับการปฏิรูป ประเมินการรัฐประหาร 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2549 เพื่อได้ระบอบที่เลวร้ายกว่าเดิม

SHORT CUT

  • เปิดใจ สว.สมเจตน์ บุญถนอม หลังเลือก สว. ชุดใหม่ ยอมรับทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันได้ไม่ดีเพราะเกรงใจรัฐบาล
  • รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมาล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่ปฏิรูปการเมือง แถมได้ระบอบที่เลวร้ายกว่าเดิม
  • ข้อดี สว. ที่ผ่านมาคือแก้ปัญหาประชาชน-ไม่โกง ฝากความหวัง สว. ใหม่ พิสูจน์ตัวเอง

อดีต สว. และ สนช. 4 สมัยตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปอะไรบ้าง? แม้จะทำสำเร็จบ้าง แต่การเมือง-ตำรวจ ยังไม่ได้รับการปฏิรูป ประเมินการรัฐประหาร 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2549 เพื่อได้ระบอบที่เลวร้ายกว่าเดิม

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน หลังการเลือก สว. ชุดที่ 12 และรอการรับรองผลเพื่อเปิดประชุมวุฒิสภา SPRiNG มาพูดคุยกับหนึ่งในขุมกำลังของรัฐบาลทหารและอดีต สว. รวมแล้วนั่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมา 4 สมัย 15 ปี นั่นคือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

พล.อ.สมเจตน์ เคยเป็นวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา ดำรงตำแหน่งเดือนเมษายน 2554 - พฤษภาคม 2557 และได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดือนพฤษภาคม 2562 - กรกฎาคม 2567 และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดำรงตำแหน่งเดือนตุลาคม 2549 - มีนาคม 2551 หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และดำรงตำแหน่งอีกสมัยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 - พฤษภาคม 2562 หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ผ่านมา สนช. - สว. มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเป็นสายล่อฟ้าให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาตลอด ? พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่คนที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจไป เขาย่อมไม่ชอบและต้องโจมตีว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องไม่ชอบ และที่สำคัญคือการโจมตีฐานอำนาจของคณะรัฐประหาร นั่นคือ สนช. ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย แต่เหตุที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร เพราะการเมืองไม่สุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมจนเกิดมวลชนออกมาชุมนุมเรียกร้อง ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรในปี 2549 และ กปปส. ในปี 2557 ทหารจึงจำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจเอาไว้ชั่วคราว

"เรากำเนิดมาจากไหน เราไม่ปฏิเสธที่มา แต่สิ่งที่เราทำได้คือสิ่งที่เราจะต้องทำตัวตนของเราให้เป็นตามหน้าที่ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ยอมรับว่าการทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาที่มาจากคณะปฏิวัติทำได้ไม่เต็มที่"

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

วุฒิสภาเกรงใจรัฐบาล ขาดการตรวจสอบ

พล.อ.สมเจตน์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากหลายคนมองว่าจะกลายมาเป็นการสร้างจุดอ่อนให้กับรัฐบาล จึงหลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบถ่วงดุล เป็นที่มาให้สื่อมวลชนตั้งสมญานามแบบดูถูกดูแคลน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่พอทำหน้าที่ของตัวเองไม่ได้ ก็จะโดนโจมตีตรงนั้น แต่ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องของ คสช. เช่น การทุจริตคดโกงควรจะเอามานำเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบ ถือเป็นการช่วยนายกฯ เพราะนายกฯ ไม่ได้ทราบไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคดโกง แทนไม่มีผลงาน หรือการลงมติเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนสื่อตั้งฉายาว่า "อะมีบา" "สภาใบสั่ง" ซึ่งตัวเองเห็นว่าเราต้องเอาสิ่งที่สื่อสะท้อนมาปรับปรุงตัว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีแต่ข้อเสียทั้งหมด ข้อดีคือในสภาชุดนี้ไม่มีปรากฎการใช้เงินในการลงมติหรือรับรองคุณสมบัติของตำแหน่งใดๆ ยกเว้น การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับในอดีต เช่น การเลือกประธานวุฒิสภาในปี 2557 มีการแจกเงิน สว. ที่มาจากการเลือกตั้งถึงเกือบล้านบาท และมีหลักฐานชัดเจน อีกประการหนึ่งคือ วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยังคงมีสายสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ในหน่วยงานราชการต่างๆ เวลาลงพื้นที่ สว. พบประชาชน เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนหรือพบเห็นความเดือดร้อนก็สามารถที่จะประสานงานแก้ปัญหาได้รวดเร็วทันที

 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

ทหารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ปฏิรูปทางการเมืองล้มเหลวสิ้นเชิง

พล.อ.สมเจตน์ ยอมรับว่า ทหารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แต่สิ่งที่โรงเรียนนายร้อยฯ สอนคือความเป็นผู้นำ ความกล้าตัดสินใจ ความกล้าที่จะใช้คน ความกล้าที่จะจัดการปัญหา ตรงกันข้าม วิกฤติเกิดขึ้นเพราะการเมือง และที่ประชาชนเรียกร้องทหารเข้ามาก็เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาก็ต้องเจอกับปัญหาอื่นที่ค้างมาจากรัฐบาลก่อนๆ ด้วย เช่น มาตรฐานทางการบินตกต่ำ การประมงผิดหลักสากล ปัญหาการค้ามนุษย์ ดังนั้นต้องวางคนให้ถูกกับงาน หลายคนคงเห็นว่าหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เอาทหารเข้าไปอยู่กระทรวงต่างๆ แล้วผลงานเป็นอย่างไร ?

หลายผลงานก็ทำสำเร็จ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ เส้นทางคมนาคม แต่สิ่งที่ไม่สำเร็จคือการปฏิรูปตำรวจ ผลของการแต่งตั้งโยกย้ายในสมัย คสช. ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งของตำรวจในวันนี้ ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ไม่ได้ทำเรื่องระบบชลประทานเลย มาตรการในการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น PM 2.5 น้ำทะเลท่วมสูง เป็นต้น 

พล.อ.สมเจตน์ ยังชี้ว่า สิ่งที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเมืองล้มเหลวสิ้นเชิง เราผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 เพื่อล้มล้างระบอบอำนาจทักษิณ แต่วันนี้กลับได้สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ท้าทายอำนาจยุติธรรมและไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ส่วนตัวเคยได้วางแผนทางในการปฏิรูปการเมืองเอาไว้ คือ การให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวต ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเมืองผู้สมัคร สส. ของพรรค ไม่ใช่นายทุนหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้มีอำนาจให้การส่งคนลงเลือกตั้งครั้งหน้า และให้สมาชิกพรรคเป็นเพียงแค่องค์ประกอบให้ครบตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็จะเป็นเหมือนเผด็จการ ไม่ใช่สถาบันทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล ก็กลับมาเสนอล้มกระบวนการนี้ไป อีกทั้ง กกต. และองค์กรอิสระก็ตัดสินว่าการไม่กระทำตามไพรมารีโหวตไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อหมดตรงนี้ไปแล้วอะไรคือการปฏิรูปทางการเมือง ? ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปการเมืองยังไงบ้าง ? ถ้าเราทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองก็จะทำให้คัดสรรคนที่ดีเข้ามาเป็น สส. มาบริหารประเทศได้ ปัญหาก็จะไม่เกิด 

"ปี 2549 การปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นจากการล้มล้างระบอบอำนาจของทักษิณ มาถึงวันนี้ 17-18 ปี ผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง สิ่งที่เราไปล้มล้างกับสิ่งที่เราได้ปัจจุบัน ได้ระบอบทักษิณที่เลวร้ายกว่าเดิม"

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

ก้าวข้ามความต่าง...ชีวิตต้องไปต่อ

เมื่อถามถึงการเลือก สว. ครั้งที่ผ่านมา พล.อ.สมเจตน์ บอกว่า ประเทศไทยผ่านการคัดเลือก สว. มาทุกวิธี ทั้งเลือกตั้ง แต่งตั้ง สรรหา หรือแบบผสม ต่างก็มีจุดอ่อนและถูกตำหนิติเตียนทั้งสิ้น "สภาผัว-เมีย" "สภาพี่น้อง" กรธ. ก็มีเจตนาดีแก้ไขการฮั้วกันในอดีต จึงให้มีการเลือกกันแบบไขว้จากกลุ่มอาชีพ "แต่ท่านคงลืมไปอย่างหนึ่งว่าวิธีการจะเอารัดเอาเปรียบฝ่ายอื่น ไม่พ้นฝีมือของนักการเมืองไทย นักการเมืองไทยเป็นมนุษย์พันธุ์ที่วิเศษสุดในการที่จะหาช่องว่างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ " พล.อ.สมเจตน์ ยืนยันว่า สังคมไทยไม่พอใจกับวิธีการที่ได้ สว. มา มันคือการล้มเหลวสิ้นเชิง แต่อย่าเพิ่งไปตำหนิตีตราเขาต้องรอดูว่าการทำงานมีการตรวจสอบถ่วงดุลไหมโดยเฉพาะจะกล้าตรวจสอบพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นที่มาของเขาได้หรือไม่ มีการรับกล้วยรับสินบนหรือไม่ ช่วยเหลือประชาชนได้ดีไหม พิจารณากฎหมายอย่างมีความรู้ความสามารถหรือไม่ ถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี

เมื่อถามถึงวิธีในการรับมือกับแรงกดดันทางการเมือง พล.อ.สมเจตน์ เปิดเผยว่า ปกติเป็นคนไม่เล่นโซเชียล และไม่ใส่ใจต่อคำดูหมิ่นที่ต้องเจอ เพราะส่วนตัวเชื่อมั่นว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และในชีวิตการเป็นทหาร ผ่านความเป็นความตายที่น่าหวาดกลัวมามากกว่านี้ แต่แนวคิดในการใช้ชีวิตข้างนอกคือ ถ้าไปเจอใครที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เราก็เอาเรื่องอื่นที่เห็นตรงกันมาคุย โดยเฉพาะในสังคมครอบครัวและเพื่อน ไม่คุยเรื่องที่สร้างความบาดหมาง และทะเลาะกันเพราะเรื่องคนอื่น ทั้งที่เราถูกทั้งคู่ แต่เพียงเห็นต่างกันเท่านั้น พล.อ.สมเตน์ บอกว่า ตัวเองเปรียบเหมือนสุนัขสงคราม ถูกฝึกมาให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้สำเร็จ แต่นอกเวลางานก็เป็นคนปกติที่สามารถคุยเล่นสนุกสนานได้ มีความเป็นพี่เป็นน้องเป็นลุง เพื่อให้ชีวิตไม่เครียดเกินไป

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อไปว่า ตัวเองไม่ปฏิเสธคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ดีกว่าเราเยอะ เก่งกว่าเราเยอะสมัยนี้จะเห็นอยู่ แต่บางทีวิธีคิดอย่างหลายๆ เรื่อง ในเรื่องของการทำลายวัฒนธรรม ทำลายประเพณี ทำลายสถาบันอันเป็นฐานหลักของประเทศชาติเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ถ้าประเทศชาติถูกทำลายเสาหลักแล้ว ในที่สุดประเทศชาติไม่สามารถอยู่ได้ แล้วก็ลูกหลานเราจะเป็นคนที่ไม่มีชาติ ดังนั้นการเมืองต้องเริ่มจากการดูแลเสาหลักแล้วไปต่อยอด

"ประชาธิปไตยไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 92 ปี ผ่านการเลือกตั้งโดยใช้เสียงประชาชนและการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ประชาธิปไตยยังไม่เจริญก้าวหน้าตามที่หลายคนคาดหวัง เราต้องกลับมาทบทวนกันว่าวิธีการเลือกตั้งโดยใช้เสียงของประชาชนโดยวิธีการนี้ เมื่อผลพวงออกมาแล้วไม่ดี แล้ววิธีการนี้จะถูกต้องหรือเปล่า?"

ชมเพิ่มเติม

related