SHORT CUT
รู้หรือไม่? ไทยนำเข้า “เหล็กจีน” มากถึง 5 ล้านตัน/ในปี2567 จับตา "ทรัมป์" สกัดเหล็กจีน ทำทะลักรอบใหม่มาไทยทุบตลาดปั่นป่วนปี2568
บ้าน และตึกที่เราเห็นตั้งตระหง่านอยู่ตามเมืองใหญ่ แน่นอนว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเหล่านั้นมีความจำเป็นที่ต้องใช้เหล็กเป็นโครงสร้างในการสร้างสิ่งเหล่านั้นให้มีความแข็งแรง และล่าสุดสังคมมีการพูดถึงเรื่องเหล็กในงานก่อสร้างมากในช่วงนี้ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และตึกถล่มย่านจตุจักร ทำให้สังคมมีคำถามว่าเหล็กแบบไหนที่จะมีคุณภาพในงานก่อสร้าง
ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เผยผลตรวจตัวอย่างเหล็กตึก สตง. พบเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. เรื่องนี้ถูกเปิดเผยจาก นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นำเหล็กที่เก็บตัวอย่างมาจากตึก สตง. ถล่ม เข้าทำการทดสอบคุณภาพ ณ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยประกอบด้วยเหล็ก 7 ประเภท ได้แก่
1) เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร
2) เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร
3) เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร
4) เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร
5) เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร
6) เหล็กกลม ขนาด 9 มิลลิเมตร
7) ลวดสลิง ขนาด 15.2 มิลลิเมตร
ทั้งนี้การเข้าตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ทำการตรวจสอบโดยเริ่มจากการตัดชิ้นส่วนเหล็กทุกขนาดเพื่อนำไปตรวจมวลต่อเมตรหามวลจริงของเหล็กและส่งเหล็กไปตีให้แบน และนำไปตรวจทางเคมี เพื่อตรวจสอบส่วนประกอบของเหล็ก อาทิ คาร์บอน โบรอน ซิลิกอน ว่าอยู่ในส่วนประกอบที่เหมาะสมหรือไม่และเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. หรือไม่ โดยใช้เวลาทดสอบรวมกว่า 4 ชั่วโมง โดยผลจากการทดสอบพบว่า ชิ้นส่วนเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน คือ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร มีมวลน้ำหนักเหล็กเบากว่ามาตรฐานและเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง
"กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการผลิต นำเข้า และจำหน่าย สินค้าประเภทเหล็ก สายไฟ เพราะ เป็นสินค้าที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นเรื่องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ต้องให้เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และจะดำเนินตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น" นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย
จากเรื่องราวดังกล่าววันนี้ #SPRiNG จะพาไปดูตลาดเหล็กในไทยว่าเป็นอย่างไร โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าเหล็ก ซึ่งกระตุ้นให้ทั่วโลกกังวลภาวะเหล็กล้นตลาดทั่วโลก เรื่องนี้อาจทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทย กำลังเผชิญวิกฤติใหญ่ เนื่องจากเหล็กจีนที่ส่งออกไปอเมริกายากขึ้น มีโอกาสสุ่มเสี่ยงทะลักมาสู่ไทยเป็นจำนวนมากแทน
ทั้งนี้มาตรการภาษีทรัมป์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระแสการปกป้องทางการค้าที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วอุตสาหกรรมเหล็กโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตอบโต้ต่อการส่งออกเหล็กจากจีนที่ท่วมตลาด การปกป้องการค้าเช่นนี้ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะลูกโซ่ เนื่องจากแต่ละมาตรการใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในประเทศหนึ่งจะกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ปกป้องตนเองจากการนำเข้าสินค้าที่ถูกเปลี่ยนเส้นทาง
สำหรับไทยได้มีการกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กม้วนรีดร้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำคัญจากจีน ไว้ที่อัตรา 31% อยู่แล้ว สำหรับผู้ผลิตเหล็กในไทย ถือว่าเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้หารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดขึ้นเพื่อจำกัดการนำเข้า นอกจากนี้ไทยถือเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของจีนในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งนำเข้าเหล็กจากจีนมากกว่า 5 ล้านตันในปีที่ผ่านมา
ทั้งความกังวลในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย สะท้อนถึงความกังวลที่กว้างขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายประเภท ประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการไหลทะลักของสินค้าตั้งแต่สิ่งทอ พลาสติก หนัง ยาง ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผ่านมา โรงงานผลิตในไทยกว่า 3,500 แห่งได้ปิดตัวลงในช่วงสามปีครึ่งที่ผ่านมา
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2025 การผลิตเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน จากการผลิตเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากกิจกรรมการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่การผลิตเหล็กทรงแบนยังมีปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกับเหล็กที่ถูกระบายมาจากจีน ทั้งนี้ อุปทานเหล็กโดยรวมที่มาจากการผลิตในประเทศและการนำเข้า โดยการฟื้นตัวสอดคล้องกับความต้องการใช้งานเหล็กในประเทศ
สำหรับการผลิตเหล็กของไทยคิดเป็นสัดส่วน 33% ของอุปทานเหล็กโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากในอดีต โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือ 30% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2024 ลดลงจาก 32% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรมเหล็ก เมื่อเทียบกับในอดีตปี 2016-2021 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ราว 35-40%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง