svasdssvasds

เจอเหล็กไม่ได้มาตรฐาน 2 ขนาด หลังตรวจสอบไขปม ตึก สตง. ถล่ม

เจอเหล็กไม่ได้มาตรฐาน 2 ขนาด  หลังตรวจสอบไขปม ตึก สตง. ถล่ม

เปิดผลตรวจเหล็กเส้นโครงสร้าง "ตึกถล่ม" สมอ.ส่งตรวจสอบคุณภาพ อึ้ง! พบ 1 ใน 3 ยี่ห้อที่ใช้ก่อสร้าง บริษัทที่ผลิตถูกปิดโรงงาน เนื่องจากเหล็กไม่ได้คุณภาพ

"สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย" สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. นำเหล็กที่ได้จากเหตุ "ตึกถล่ม" อาคารสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนทำให้อาคารทรุดตัวและถล่มลงมา มาตรวจคุณภาพ

โดยเหล็กที่นำมาตรวจสอบในวันนี้ มีทั้งหมด 28 ชิ้น  ประกอบไปด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. 7ชิ้น/ขนาด 25 มม. 2ชิ้น /ขนาด 20 มม. 6ชิ้น /ขนาด16 มม.2ชิ้น / ขนาด 12 มม. 3ชิ้น /ลวดสลิง 5ชิ้น และเหล็กเส้น 2 ชิ้น

ผลปรากฏว่า จากตัวอย่างเหล็กทั้งหมด 7 ตัวอย่าง รวม 28 ชิ้น พบว่า 2 ตัวอย่างไม่ได้มาตรฐาน และทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากบริษัทเดียวกัน

.
น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน เปิดเผยว่า 

  • ตัวอย่างแรก คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. จาก 3 บริษัท พบว่า 1 บริษัทมีเหล็กที่ค่ากำลังรับแรงต่ำกว่ามาตรฐาน
  • ตัวอย่างที่สอง คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ที่มีน้ำหนักต่อเมตรน้อยกว่ามาตรฐาน หรือที่เรียกว่า “เหล็กมวลเบา”

ทั้งสองตัวอย่างมาจากบริษัทเดียวกัน และเป็นบริษัทที่เคยถูกสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจพบว่าเหล็กไม่ได้มาตรฐาน และเคยสั่งปิดโรงงานมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม

คาดว่าเหล็กล็อตนี้ถูกนำมาใช้สร้างอาคาร สตง. ก่อนจะถูกตรวจสอบและสั่งปิดในภายหลัง
 

รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) อธิบายเพิ่มเติมว่า

เหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. มักใช้เป็นโครงสร้างฐานเสาอาคาร หากกำลังรับแรงต่ำกว่ามาตรฐาน อาจทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักไม่ได้ตามที่ออกแบบไว้

ส่วนเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ที่น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน จะมีหน้าตัดเล็กลง ส่งผลต่อการคำนวณทางวิศวกรรม และลดความแข็งแรงของเสา

ทั้งนี้ เขาเน้นว่า เหล็กเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่อาจทำให้อาคารทรุด ยังมีเรื่องของการออกแบบ การผสมปูน และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบควบคู่กันไป
 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหล็กไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาคารทรุด เนื่องจากตัวอย่างที่เก็บได้ยังมีจำนวนน้อย จึงมีแผนจะขอเข้าพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม โดยต้องประสานกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยและทาง สตง. เพราะพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการค้นหาผู้ประสบภัย

ทาง สมอ. ยืนยันว่าจะเข้าไปตรวจสอบโรงงานที่เคยถูกสั่งปิดอีกครั้ง ว่ามีการลักลอบผลิตหรือลำเลียงเหล็กออกไปหรือไม่ หากพบการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาด ส่วนคดีเดิมยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการที่มีอัยการร่วมด้วย

related