svasdssvasds

แจงยิบ! ส.ก.ดอนเมือง ตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง

แจงยิบ! ส.ก.ดอนเมือง ตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง

“กนกนุช” ส.ก.ดอนเมือง แจงปมตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง เผยเอกสารโครงการขาดความชัดเจน ไม่ระบุวัตถุประสงค์ หวั่นใช้งบแล้วไม่เกิดประโยชน์

“กนกนุช” แจงปมตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง ปี 2568

นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ชี้แจงกรณีตัดงบประมาณสำหรับเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง ซึ่งถูกเสนอไว้ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดแผ่นดินไหว  

ที่กลายเป็นประเด็นในสังคม โดยเฉพาะหลังมีการเผยแพร่คลิปในโลกโซเชียล ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภากรุงเทพมหานคร

แจงยิบ! ส.ก.ดอนเมือง ตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง

เธอระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่เธอปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาทุกโครงการที่เข้าสู่การกลั่นกรอง ไม่ว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารที่ผ่านความเห็นของคณะอนุกรรมการวิสามัญฝ่ายโยธาแล้ว

แจงยิบ! ส.ก.ดอนเมือง ตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง เหตุผลหลักที่งบประมาณ 9 ล้านบาทไม่ผ่าน

สำหรับโครงการที่ถูกวิจารณ์นั้น แม้จะผ่านขั้นตอนจากคณะอนุกรรมการโยธามาแล้ว แต่คณะกรรมการวิสามัญยังพบจุดอ่อนหลายประการ โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนในรายละเอียด ขอบเขตการดำเนินงาน และวัตถุประสงค์ใน TOR ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าผลการประเมินจะถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร จึงมีความกังวลว่า หากอนุมัติงบประมาณไป อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะโครงสร้างการใช้งบ 9 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย:

  • ค่าบุคลากร 3.5 ล้านบาท (เกือบ 40%)
  • ค่าติดตั้งอุปกรณ์ 3 ล้านบาท
  • ค่าสำรวจและวิเคราะห์ 2.4 ล้านบาท
  • ค่าจัดทำรายงาน 79,000 บาท

อีกประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ พบคือ เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนนี้ไม่มีขายทั่วไป ต้องผลิตขึ้นโดยเฉพาะ และใช้ติดตั้งในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญ เครื่องนี้ไม่ได้มีหน้าที่เตือนล่วงหน้าเมื่อจะเกิดแผ่นดินไหว แต่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนย่อมต้องหาทางเอาตัวรอดมากกว่าหันไปดูค่าการสั่นสะเทือนจากเครื่องวัด

จึงอยากให้สังคมเข้าใจว่า การพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานครดำเนินการตามกระบวนการที่รอบคอบ บนพื้นฐานของข้อมูลที่มี และเน้นความโปร่งใสเป็นหลัก

พร้อมสนับสนุนหากโครงการมีเป้าหมายที่ชัดเจน

หากโครงการสามารถปรับปรุงรายละเอียด โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนขึ้น ก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

และหากฝ่ายบริหารมีการเสนอแผนงานที่เกี่ยวกับระบบเตือนภัยล่วงหน้าอย่างครบถ้วน ทั้งในมิติของการแจ้งเตือน บรรเทาภัย และการจัดการหลังเกิดเหตุ คณะกรรมการก็พร้อมให้การอนุมัติ เพราะให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

ท้ายที่สุด นางกนกนุช ย้ำว่า การรายงานข้อมูลในที่ประชุมเป็นไปตามบทบาทในฐานะประธานคณะกรรมการฯ และหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการใด สามารถขอตรวจสอบข้อมูลได้ที่สภากรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาชิกสภาทุกคนยินดีชี้แจง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มากกว่าการบิดเบือนประเด็นเพื่อหวังผลทางการเมือง

เพราะเงินงบประมาณที่ใช้นั้นล้วนเป็นภาษีของประชาชน ที่ต้องบริหารอย่างโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ
 

related