SHORT CUT
เปิด "กลไกทางจิตวิทยา" ที่มิจฉาชีพใช้ในการชักชวนคนเข้าสู่วงการ ก่อนจะกลายมาเป็น "เหยื่อ" ที่มีคดี "ดิไอคอน" เป็นกรณีล่าสุด และกลายเป็นสุดยอดข่าวแห่งปี พ.ศ. 2567 เพราะผู้เสียหายนับหมื่น มูลค่ารวมกันเกิน 3 พันล้านบาท
การชักชวนเข้าสู่ธุรกิจอะไรบางอย่างที่ฟังดูยากจะเข้าใจ แต่ให้ข้อมูลชัดเรื่องผลตอบแทนที่ดีมากกว่าที่ได้จากการลงทุนแบบอื่น ทั้งไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ (ถึงจะมีให้ขาย) แต่ให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะ ๆ แทน
ฟังผ่าน ๆ ก็น่าจะพอรู้กันใช่ไหมว่า นี่คือ “แชร์ลูกโซ่” ที่ทุกฝ่ายส่งเสียงเตือนกันมาเป็นสิบปี
แต่เชื่อหรือไม่ว่า 85% ของคนที่ได้รับการชักชวน ถึงจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ก็ยังกล้าที่จะเสี่ยง !!!???
ปัจจัยสำคัญมาจาก “ผลตอบแทน” ที่นำเสนอ
ยิ่งธุรกิจนั้น นำเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาช่วยการันตี พร้อมกับสร้าง story ซึ้ง ๆ จากคนเคยจนมาตั้งตัวได้เพราะการลงทุนนี้ พร้อมกับถ้อยคำเด็ด ๆ โดนใจจนติดหูผู้ฟังด้วยแล้ว – ยากมากที่เหยื่อทั้งหลายจะไม่ตก “หลุมพราง” เข้าสู่วงจรการหลอกลวงนี้ กว่าจะรู้ตัวก็เสียทรัพย์สินไปมากมาย บางคนถึงขั้นล้มละลาย เงินเก็บทั้งชีวิตหายไปในพริบตา
ปี พ.ศ. 2567 คงไม่มีข่าวไหนดังไปกว่าการทลายอาณาจักร “ดิไอคอนกรุ๊ป” ที่หลายคนคงเคยได้เห็นการโฆษณาผ่านป้ายในรถไฟฟ้า ในย่านธุรกิจสำคัญ หรือบนบิลบอร์ดยักษ์มาหลายปี พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า นี่คือธุรกิจอะไรกันแน่? นอกเหนือจากหน้าตาของดารานักแสดงชื่อดังที่ปรากฎอยู่ในนั้น
ก่อนความจริงจะมาเฉลยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ว่า นี่อาจเป็นธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” ตามคำกล่าวหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยังปฏิเสธ
ดิไอคอนฯ ก่อตั้งโดย “บอสพอล-นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล” เมื่อปี พ.ศ. 2561 อ้างว่าทำธุรกิจขายตรง จำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งเรียกกันว่า “พ่อทัพ-แม่ข่าย” แต่แทนที่จะเน้นการจำหน่ายสินค้า กลับมุ่งหาคนมาเป็น “ดาวน์ไลน์” ด้วยการเสนอสิ่งจูงใจสารพัดเพื่อให้ “เปิดบิล” ในเรต 2,500 บาท, 25,000 บาท ไปจนถึง 250,000 บาท ทั้งมีการจ้างดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น “กันต์-กันต์ กันตถาวร” “มีน-พิชญา วัฒนามนตรี” “แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี” “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” ฯลฯ
พร้อมกับวลีติดปากที่น่าจะโดนใจคนวัยทำงาน “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย!”
เมื่อพูดถึงแชร์ลูกโซ่ เรามักคิดกันว่า “ความโลภ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนจำนวนมากตกเป็น “เหยื่อ” แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ว่าจะกรณีแชร์ลูกโซ่, ฉ้อโกง, ปั่นหุ้น หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น คอลเซ็นเตอร์, โรแมนซ์สแกม ที่ลงเอยด้วยการสูญเสียทรัพย์สิน
แค่ความ “อยากได้-อยากมี” อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อ
ไม่ว่าจะรวยหรือจน ต่างก็มีโอกาส “สูญเสีย” ไม่ต่างกัน
เช่นนั้น ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้ใคร ๆ ก็อาจเป็น “เหยื่อ” ได้ – แม้กระทั่งตัวคุณเอง
ชวนติดตามไปพร้อมกัน
กับดักทางจิตวิทยา
SPRiNG รวบรวมคดี “แชร์ลูกโซ่” ที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษ หรือสื่อมวลชนพูดถึงซ้ำ ๆ นับแต่คดีแชร์แม่ชม้อย. แชร์ชาร์เตอร์, เสมาฟ้าคราม, แชร์บลิสเชอร์ มาจนถึงดิไอคอนฯ ได้กว่า 30 คดี ความเสียหายรวมกันกว่า 25,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายรวมกันอย่างน้อย 84,000 คน
ยังไม่รวมถึงคดีอื่น ที่อาจจะมีชื่อเสียงหรือเป็นข่าวน้อยกว่าใน DSI อีก 118 คดี (ช่วงปี 2547 – 2566) รวมความเสียหายอีกกว่า 42,000 ล้านบาท
หากประมวลจาก 2 แหล่งข้อมูลข้างต้น เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ทั้งสิ้นอย่างน้อย 148 คดี รวมความเสียหายกว่า 67,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 คดี สร้างความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่มหาศาลไม่น้อย
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงแชร์ลูกโซ่อื่น ที่วงยังไม่ล่มจนกลายเป็นคดีความ หรือมีมูลค่าความเสียหายไม่มาก ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากเรดาร์ของสื่อฯ หรือภาครัฐ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกมากน้อยเพียงใด
ทั้งจำนวนคดี, มูลค่าความเสียหาย, จำนวนผู้เสียหาย ที่มหาศาลทุกชุดข้อมูล ชวนให้สงสัยว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นใช้วิธีการใดในการดึงคนเข้าสู่ขั้นตอนการถูกหลอกลวงได้? ทั้งที่รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหานี้เป็น “วาระแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 พร้อมระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยหาทางออก มีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดการเงิน ให้คำอธิบายกับ SPRiNG ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ “เงิน” มันสำคัญกับชีวิตของพวกเขา และแทรกซึมในทุกอณูของจิตใจ หรือกระทั่งสัญชาตญาณ โดยเฉพาะคนที่มีความอ่อนไหวทางการเงิน
จากที่เคยให้คำปรึกษามา คนที่จะเป็นเหยื่อสามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่
• กลุ่มแรก คนที่ไม่มีความรู้ทางการเงินการลงทุน หรือมีความรู้ใน money game น้อย
• กลุ่มที่สอง คนที่ขาดประสบการณ์ในการเงินการลงทุน
• กลุ่มที่สาม คนที่ขาดความฉลาดรู้เท่าทันเกมการเงินการลงทุน คืออาจจะมีความรู้ มีภูมิต้านทานระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะทันเกม หรือคนที่มีประสบการณ์ก็อาจจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม
• กลุ่มที่สี่ คนที่ขาดการควบคุมความรู้สึก
• กลุ่มที่ห้า คนที่มีปัญหาทางการเงิน เช่น เพิ่งตกงาน อย่างเคสดิไอคอนฯ ก็มีเหยื่อหลายคนที่เพิ่งตกงานจากโควิด
• กลุ่มที่หก คนที่มีปัญหาชีวิต เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหากับลูกหลาน รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ต้องพึ่งเงินลูกหลาน ก็อาจจะเป็นเหยื่อได้
• กลุ่มที่เจ็ด การเล่นกับ “อำนาจ” หรือจุดอ่อน โดยเฉพาะการโชว์ว่ามีอำนาจเงินกว่า มีอิสรภาพทางการเงิน มีชีวิตที่ดี ซึ่งทำให้คนเหล่านั้น ถ้าไม่มี self-esteem หรือเห็นคุณค่าในตัวเอง ก็เป็นจุดที่ทำให้มิจฉาชีพเล่นงาน
“คนที่ตกเป็นเหยื่อ อาจจะมีข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อปนกันได้ มิจฉาชีพเขาจะเก่งในเรื่องการหลอกล่อมุมที่เหยื่ออ่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะอ่อนไหวไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเรื่องความโลภ บางคนเป็นเรื่องความกลัว บางคนก็จะใช้ความรัก”
บทบาทคนดังกับโซเชียลฯ ในการช่วยหลอกลวง
ทำไม มิจฉาชีพหลายรายถึงมักแสดงไลฟ์สไตล์หรูหรา โชว์ความร่ำรวย อยู่ในแวดวงไฮโซผู้มีชื่อเสียง จนแทบจะเป็น “ท่ามาตรฐาน”
ดร.รพีพงค์ให้คำอธิบายว่า มันเป็นวิธีหนึ่งในการแสดง “อำนาจ” การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีดูรวย เหมือนเป็นการ dominant เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตาม การเอาเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาโปรโมต ก็ช่วยในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ เสมือนการ “สะกดจิต” ให้เหยื่อหลงเชื่อโดยง่าย และตกเข้ามาสู่ในวังวนของขบวนการ
ในมุมของนักจิตวิทยา มี 3 ด่านที่มิจฉาชีพทางการเงิน โดยเฉพาะขบวนการแชร์ลูกโซ่จะใช้ เพื่อทะลวงเข้าไปใจจิตใจและเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นเหยื่อ
ด่านแรก “เปิดใจ” เป็นขั้นตอนที่ยากสุด ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีพูดกันปากต่อปาก หรือใช้คนใกล้ตัวมาชักชวน
ด่านที่สอง “เชื่อใจ” เมื่อลองเปิดใจแล้ว อีกวิธีที่จะช่วยให้โอกาสสำเร็จของมิจฯ มากขึ้น คือการทำให้เชื่อใจ ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการชวนไปฟังงานสัมมนา ให้เห็นความสำเร็จ ให้เชื่อว่าถ้าเข้ามาร่วมแล้วจะมีรายได้
ดร.รพีพงค์กล่าวว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นมักจะสร้าง “เรื่องราว” ที่เน้นความแฟนตาซี เพื่อให้เห็นว่าหากมาร่วมมีโอกาสประสบความสำเร็จ เช่น เคยขับวินมอเตอร์ไซค์มาร่วมลงทุนไม่นานก็ร่ำรวย พร้อมกับคดีวลีเด็ด ๆ ที่โดนใจคน อาทิ
“ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย”
“ธุรกิจนี้ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด”
“คนไม่ให้โอกาสเราอะไม่น่าเสียดายเท่าเราไม่ให้โอกาสตัวเอง”
“ถ้าเราอยากสําเร็จเราก็ต้องทําตามคนที่สําเร็จ”
ฯลฯ
ด่านสุดท้าย “ศรัทธา” ซึ่งคำว่าศรัทธา-ลุ่มหลง-งมงาม มันเป็นเส้นบางๆ แต่ใครที่เกิดความศรัทธาแล้วก็มักจะพร้อม all-in หรือทุ่มหมดหน้าตัก ยอมขายบ้าน ขายรถ หรือสร้างหนี้สินมาลงทุน เพราะศรัทธา
การใช้ดารานักแสดงหรือผู้มีชื่อเสียงก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนตกเป็นเหยื่อ
“เงินมันจะอยู่ทุกอณูของจิตใจเรา พอเวลามันไปคลิ๊กเราตรงไหนปุ๊บอ่ะ เราจะรู้สึกว่ามันอ่อนไหว แล้วเราก็รู้สึกว่ามันใช่ พอฟังบ่อย ๆ เราก็เริ่มเชื่อ เค้าถึงชอบให้เรามาฟังสัมมนา เพราะว่าเวลาฟังสัมมนาบ่อย ๆ มันซึม ยิ่งได้ดาราด้วย ความสวยหล่อของดารามันก็เป็นตัวสะกดจิตเหมือนกันนะครับ เพราะว่ามีบางคนที่ sensitive กับเรื่องความสวยหล่อ
“ถ้าสะกดจิตได้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ทำให้เปิดใจเร็วขึ้น ก่อนจะไปสู่สเต๊ปถัดไป คือเชื่อใจหรือศรัทธาตาม level สมมุติเต็มสิบ บางคนไม่ต้องถึงสิบ แค่สาม ก็เอาเงินออกจากกระเป๋าได้แล้ว แต่บางคนต้องให้ไปถึงสิบเสียก่อน มันมีเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน
“กรณีแชร์ลูกโซ่ จะ sensitive กับความโลภ เขาจึงเน้นความร่ำรวย ความลำบากในการทำงานหาเงิน เขาจะเน้นเรื่องการได้เงินง่าย ๆ สร้างแรงจูงใจให้เหยื่อมาเข้าร่วม แล้วก็ปิดเกมเหยื่อให้เร็วที่สุด” ดร.รพีพงค์กล่าว
ส่วนบทบาทของโซเชียลมีเดีย ดร.รพีพงค์มองว่า เป็น 3 ปัจจัยในการช่วยเหลือมิจฉาชีพ ทั้ง 1) ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นและในวงกว้างขึ้น 2) ช่วยให้มีข้อมูลใช้ประกอบการดึงคนเข้าสู่วงจร เช่นไปสืบข้อมูลต่าง ๆ ของเหยื่อล่วงหน้า และ 3) ใช้พรางตัวในการหลอกลวง เพราะหลายแพล็ตฟอร์มก็ไม่ได้บังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง
บทสรุป - ทางออก
หนึ่งในวิธีป้องกันเหล่ามิจฉาชีพ หลายฝ่ายมักรณรงค์ให้ประชาชนต้องรู้เท่าทัน
อย่างกระทรวงยุติธรรม ก็เคยให้ความรู้ 5 วิธีสังเกตว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่”
พร้อมกับแนะนำ tips (เคล็ดลับ) สร้างเกราะป้องกันภัย “ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่”
อีกมุมหนึ่ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้กำหนดหน่วยงานรัฐที่เป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประชาชนสับสนไปจนถึงการสร้างภาระแก่เหยื่อเมื่อถูกหลอก เช่น
- ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อ สคบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงยุติธรรมได้ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจสอบสวน
- หากจะร้องเรียนต่อ DSI ก็ต้องถึงเกณฑ์ที่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เช่น มีผู้เสียหายเกิน 300 คน หรือมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท
- จะร้องเรียนกับตำรวจหรือ ปปง. ก็ล่าช้า จนหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเสียก่อน
ไปจนถึงกฎหมายแชร์ลูกโซ่ปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน) ก็มีบทบัญญัติ “ไม่ทันสมัย” รวมไปถึงการกำหนดให้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี อาจทำให้มิจฉาชีพมองว่า “คุ้มค่าเสี่ยง” ในการหลอกลวงคนได้เป็นหลักร้อยล้านพันล้านบาท
ในมุมของ ดร.รพีพงค์มองว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่เพิ่งออกกฎหมายให้ธนาคารและบริษัทมือถือต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หากมีลูกค้าถูกหลอกให้โอนเงินออนไลน์ โดยจะเริ่มใช้ปลายปี พ.ศ. 2567
แต่การจะปรับปรุงการทำงานภาครัฐหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้ คือ การที่ทุก ๆ คน ต้องรู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่จะพัฒนาตลอดเวลา จึงต้องพัฒนาความรู้ทางการเงินของตัวเองให้เท่าทัน ที่สำคัญ คือ ต้องเพิ่ม “ความเข้มแข็งทางจิตใจ” เพราะอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เล่นกับกลไกทางจิตวิทยา เป็นเรื่องของ mind game ในการหาช่องโหว่ทางจิตใจต่าง ๆ เพื่อดึงเข้าสู่ขบวนการหลอกลวง
ตามที่ ดร.รพีพงค์ว่าไว้ข้างต้น ไม่ได้มีแค่ “ความโลภ” เท่านั้น ที่จะทำให้เรากลายเป็นเหยื่อ ยังรวมถึง “ความกลัว” “ความรัก” หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่น ที่อาจเปิดช่องให้ถูกลวงได้สักทาง
คดีดิไอคอนฯ แม้จะเป็นข่าวใหญ่สุด ๆ ของปีนี้ แต่คงไม่ใช่คดี “แชร์ลูกโซ่” สุดท้ายอย่างแน่นอน
TOP 5 คดีแชร์ลูกโซ่ ความเสียหายสูงสุด (รวบรวมโดย SPRiNG)
1.แชร์ชาร์เตอร์ ..5,000 ล้าน
2.แชร์แม่ชม้อย ..4,500 ล้าน
3.ดิไอคอน ..3,200 ล้าน
4.FOREX-3D ..2,000 ล้าน
5.เช่าพื้นที่คราวด์ ..1,600 ล้าน