SHORT CUT
ขอแค่ขยันถูกที่ ไม่ถึง 1 ปี ก็รวยเป็นล้าน ‘ชาร์ลส์ พอนซี’ จากที่มีสตอรี่บ้านจน ชีวิตยากลำบาก สู่เส้นทาง ‘เจ้าพ่อ’ แชร์ลูกโซ่
คุณเคยไหม ? ทำงานมาหลายที่ หลายตำแหน่ง เปลี่ยนงานอยู่เรื่อยๆ แต่ต่อให้ขยันและทุ่มเทแค่ไหน ชีวิตก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ถ้าชีวิตกำลังเป็นแบบนี้อยู่ อาจเข้าคอนเซ็ปต์ประโยคปรัชญาชีวิต ‘ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย’ อันโด่งดังในบ้านเรา
ประโยคดังกล่าวคือเรื่องจริงของ ‘ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi)’ หนุ่มชาวอิตาลี ที่มาแสวงโชคในแผ่นดินอเมริกาอยู่หลายปี ก่อนพบว่าตัวเองขยันผิดที่มาตลอด เพราะหลังจากเขาหันมาเอาดีทางด้านหลอกลวงคน เขาก็ได้พลิกชีวิตจับเงินล้านภายในระยะเวลา 1 ปีแบบง่ายๆ และกลายเป็นผู้ให้กำเนิด ‘ธุรกิจแชร์ลูกโซ่’ ที่นักต้มตุ๋นรุ่นหลังเอามาเป็นแรงบันดาลใจจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประวัติของชาร์ลส์ เขาเกิดปี 1882 ในเมืองลูโก ประเทศอิตาลี เดิมที่ครอบครัวของเขามีฐานะดี แต่โชคร้ายตอนที่เขาเกิด คือขาลงของครอบครัว ซึ่งความขัดสนในชีวิตทำให้เขา แสดงพฤติกรรมทางอาชญากรรมตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะนิสัยขี้ขโมย แถมในวัยหนุ่มเขายังถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เพราะประพฤติตัวไม่ดี พ่อแม่ที่หมดหนทางกับลูกจอมเหลวแหลก จึงรวบรวมเงินส่งให้เขาไปแสวงหาอนาคนนใหม่ในสหรัฐฯ
ชาร์ลส์มีเดินทางมาถึงบอสตันในปี 1903 และมีติดตัวเพียง 2.50 ดอลลาร์ เท่านั้น แต่ด้วยความขยันเขาจึงไม่เลือกงาน ทำทุกอย่างตั้งแต่ พนักงานขายของชำ คนล้างจาน มือกลองริมถนน ช่างซ่อมจักรเย็บผ้า พนักงานในโรงงาน คนขายประกัน ไปจนถึงงานธนาคาร จึงทำให้เขามีความรู้การขายและการเงินอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะงานไหนเขาก็ทำได้ไม่นาน และถูกไล่ออกบ่อยครั้ง
ในปี 1920 หลังที่ชาร์ลส์ขยันผิดที่มา 17 ปี วันหนึ่ง เขาก็ปิ๊งไอเดียธุรกิจสุดแจ่มที่อาจขยับฐานะตัวเองได้ง่ายๆ เขารวบรวมเงินที่มีอยู่จัดตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Securities Exchange Co. โดยขายหุ้นให้กับนักลงทุน และรับปากว่า จะได้รับกำไรร้อยละ 50 หลังจากผ่านไปแค่ 90 วันเท่านั้น และจะยิ่งได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ชาร์ลส์บอกนักลงทุนว่า จะเอาเงินไปซื้อ “วิมัยบัตร” (international postal reply coupon) ซึที่สามารถแลกแสตมป์ไปรษณีย์ได้เท่ากับจำนวนที่ใช้สำหรับการส่งจดหมายให้ประเทศ สมาชิก Universal Postal Union โดยจะซื้อวิมัยบัตรจากประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินถูกๆ แล้วเอามาขายต่อในประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่า กล่าวง่ายๆ ชาร์ลส์หากำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
เดือนแรกมีลูกค้าเพียงหลักสิบคน ชาร์ลส์จึงระดมทุนได้มา 870 ดอลลาร์ แต่ 6 เดือนต่อมาก็ได้ลูกค้าเพิ่มเป็นหลักหมื่นและระดมทุนได้สูงถึง 10,000,000 ดอลลาร์ ซึ่งเหนือความคาดหมายเขาไปมาก จนต้องหาที่ซ่อนเงินกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาร์ลส์ไม่ได้บอกลูกค้าคือ เขาไม่ได้เอาเงินไปลงทุนแต่อย่างใด แค่ใช้วิธีเอาเงินนักลงทุนรายใหม่ ไปให้รายเก่าเท่านั้น
ชาร์ลส์ก็ทำแบบนี้ได้แค่ 9 เดือน ภายในปี 1920 ในที่สุดธุรกิจหลอกลวงนี้ก็ถูกเปิดโปง ชาร์ลส์ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินในข้อหาฉ้อโกง และติดคุก 5 ปี ทว่าติดจริงแค่ 3 ปีเท่านั้น และสุดท้าย วีรบุรุษนักลงทุนจอมปลอมก็เลือกไปใช้ชีวิต สมถะในบราซิล และเสียชีวิตในปี 1949 ขณะมีอายุ 67 ปี
แม้ ชาร์ลส์ พอนซี จะไม่ใช่นักแชร์ลูกโซ่รายแรก แต่คดีของเขามีผู้เสียหายหลักหมื่นคนเป็นครั้งแรก จึงทำให้ ชาร์ลส์ มีสมญานามว่า ‘บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่’ จวบจนปัจจุบัน
ที่มา : The People, Investopedia
ข่าวที่เกี่ยวข้อง