SHORT CUT
โรงเรียนสถานที่อบอวลไปด้วยความทรงจำของใครหลายคน ย้อนคิดถึงก็อบอุ่นเหมือนแดดเช้าที่ลอดผ่านหน้าต่าง แต่สำหรับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โรงเรียนคือฤดูหนาวอันมืดมิดไร้แสงตะวัน และเต็มไปด้วยพิษภัยจากปีศาจร้ายที่หน้าตาดูเหมือนมนุษย์
หญิง (นามสมมติ) เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ เธอเข้ามาพร้อมเรื่องเล่าว่า เคยถูกทำอนาจารและเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพื่อนรอบข้างหันหลัง ตั้งกำแพงกับเธอ แปะป้ายเด็กไม่ดีให้ เธอจมดิ่งในความเศร้า ทำร้ายตัวเอง
โมงยามโดดเดี่ยวแบบนั้นเองที่ ครูจอร์ช (นามสมมติ) ยื่นมือเข้ามาหาหญิง เขาเป็นทั้งครูจำชั้นและครูประจำชมรม เขาเข้าใกล้ ให้โอกาส ทำให้รู้สึกพิเศษ และไว้ใจจนนับถือเขาไม่ต่างจาก “พ่อ”
แต่ไม่นาน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จอร์ชเริ่มแตะเนื้อต้องตัวหญิง กอดจูบลูบหัวเลยเถิดไปจนถึงจับหน้าอกและบังคับให้เธอทำออรัลเซ็กซ์ให้
“พอถึงจุดนั้น เราเพิ่งรู้ว่ามันหนีไม่ได้แล้ว พ่อแม่เราไว้ใจเขา เพื่อนเราไว้ใจเขา เขาเช็กโทรศัพท์ไม่ให้เรายุ่งกับใคร เขาให้เราอยู่แต่ในห้องชมรมที่ไม่มีใครเลย เหมือนอยู่เพื่อทำไอ้นี่ (ออรัลเซ็กซ์) ให้เขา แค่นั้นเลยค่ะ” หญิงเริ่มเล่า
“เขาคือคนเดียวที่เราไว้ใจ เขาทําให้เรารู้สึกว่าเรายังมีใคร ตอนนั้นหนูเป็นซึมเศร้าด้วย มันทําให้เรารู้สึกว่าเขาคือคนเดียวที่ให้ค่าเรา แล้วเขาก็บอกว่าหนูไม่มีค่ากับใครแล้ว ชีวิตหนูเป็นของเขา” หญิงเล่าต่อ
คดีการล่วงละเมิดทางเพศมักมีมิติซับซ้อน โดยเฉพาะมิติเรื่องอำนาจ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับหญิงมีความคล้ายกับกรณีนี้ที่เกิดในโรงเรียนานาชาติใน จ.สมุทรปราการ และคล้ายกับผู้ที่มีสถานะเหนือกว่าไม่ว่า พระ, นักบวชในคริสต์ศาสนา หรือครอบครัวมักใช้กับผู้เยาว์ เป็นกระบวนการ กรูมมิ่ง (grooming) สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพิเศษ ก่อนลงมือล่วงละเมิดทางเพศ และคอยควบคุมบังคับภายหลัง
คดีของหญิงเดินมาถึงชั้นศาลแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้ครูจอร์ชจำคุก 16 ปี แต่กำลังอยู่ในชั้นยื่นอุทธรณ์ ต้องขอบคุณความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และโชคดีที่ทำให้มาพบกับ ครูยุทธ – ยุทธ ขวัญเมืองแก้ว ครูประจำโรงเรียนและสมาชิกกลุ่มก่อการครู ทำให้เธอพบกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่ติดตามเรื่องนี้อยู่
ต้องพูดว่าเป็น ‘โชคดี’ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ยังอยู่ในเงื้อมมือของอาชญากร และน่าจะมีอีกมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ข้างใน..
“คิดว่ามีอีก ปัจจุบันเขาน่าจะรู้เรื่องนี้กัน (การล่วงละเมิดทางเพศ) แล้ว แต่ไม่ยอมพูดออกมา ส่วนเด็ก ม.ต้นน่าจะมีอยู่ หนูเข้าใจ เขาเป็นครูเราเป็นเด็ก เราก็ไม่กล้าพูดอะไรหรอก” หญิงสะท้อน
คำบอกเล่าของหญิงสะท้อนคำถามสำคัญว่า ระบบศึกษาไทยใส่ใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศแค่ไหน?
โรงเรียนไทยสอนสุขศึกษาอย่างไร
ตัวเลขจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชี้ว่า ระหว่างปี 2564 - 2566 มีเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ 1,097 ราย หรือถ้าคิดง่ายๆ คือทุก 1 วันจะมีเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ 1 คน และคาดว่ามีอีกมากกว่าครึ่งที่ไม่ได้เข้าแจ้งความหรือร้องเรียนกับหน่วยงานใด
เมื่อสถิติดังกล่าวน่ากังวลขนาดนี้ คำถามคือโรงเรียนในฐานะหน่วยงานที่ให้ความรู้และเป็นพื้นที่ทดลองใช้ชีวิตของเด็ก ได้สอนให้เด็กตระหนักและเข้าใจปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน?
ในหลักสูตรวิชาสุขศึกษาของ สพฐ. ปี 2551 ได้มีการกำหนดให้มีการสอนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ 2 ครั้งคือ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยในหนังสือสุขศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ 20 หน้า และมีเนื้อหาอาทินิยามการล่วงละเมิดทางเพศ การป้องกันตัวด้วยทักษะต่อสู้ประชิดตัว การใช้อุปกรณ์ เช่น ร่มเพื่อจัดการกับคนร้าย รวมถึงสายด่วนกรณีเกิดเหตุ
“ถ้าอยากจะให้เด็กมีความรู้ มีทักษะในการป้องกันตัวเอง มันก็ควรจะพูดต่อเนื่องไหม มันไม่ควรจะสอนตอน ป.3 ข้ามไปเรื่องอื่น แล้วกลับมาอีกทีตอน ม.1 เขาจะจําได้ไหมว่าเคยเรียนเรื่องนี้” ครูยุทธแสดงความเห็น ตัวเขาเองเคยได้รับทุนจาก Save the Children เพื่อจัดอบรมเรื่องสิทธิเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน แต่ก็ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ถูกผลักดันให้สานต่อ
ความเห็นของครูยุทธตรงกับคำบอกเล่าของหญิง ที่กล่าวว่าในความทรงจำของเธอกับวิชาสุขศึกษา มีแต่เนื้อหาชีววิทยาเกี่ยวกับ “ระบบสืบพันธุ์” ไม่มีความทรงจำเรื่องเพศศึกษาที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ว่าการป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
“วิชานี้ต้องสอนต่อเนื่องทุกปี ไม่ใช่ว่าสอนแค่ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วไปสอนเรื่องอื่น มันต้องค่อยๆ ยกระดับ เด็กประถมที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเพศอาจจะสอนทักษะการปฏิเสธเมื่อผู้ใหญ่มาสัมผัสบางจุด ระดับมัธยมอาจมาคุยกันว่าทำไมถึงไม่ควรสัมผัสบางจุด” ครูยุทธเสนอ
เรื่องสำคัญที่ครูก็ไม่ได้เรียน
ไม่ใช่เพียงแต่เด็กเท่านั้น ครูในโรงเรียนส่วนใหญก็ไม่เคยได้รับการอบรมเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เข้าใจปัญหา ไม่รู้วิธีวางตัว และไม่รู้ว่าจะช่วยเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร
“เราไม่เคยถูกสอนให้รับมือกับเรื่องแบบนี้ ตอนผมเรียนใบประกอบวิชาชีพครู เขาไม่ได้สอนเราเรื่องนี้เลย” ครูยุทธเล่าประสบการณ์ตัวเอง
ครูยุทธเล่าว่าตอนที่ได้ทราบเรื่องจากหญิง เขาไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไร ถ้ากันเด็กออกมาผู้ก่อเหตุจะรู้ตัวและทำลายหลักฐานหรือเปล่า ถ้าบอกฝ่ายบริหารและถ้ามันทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง มันจะเงียบหายไปไหม หลายคำถามวนเวียนอยู่ในหัวของครูยุทธ เขาตัดสินใจหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง และลองใช้กลไกสายด่วนร้องเรียนของศึกษาธิการ แต่ก็ผิดหวัง เพราะมีแต่เสียงตำหนิเรื่องเอกสารและการโยนไปมาระหว่างหน่วยงานราชการ
ความเครียดทำให้ครูยุทธล้มป่วย และได้เวลาทบทวนถึงเพื่อนในกลุ่มก่อการครู ก่อนตัดสินใจติดต่อขอความช่วยเหลือ และได้รู้จักกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำไปสู่การฟ้องร้องคดีความในเวลาต่อมา
“มันต้องเริ่มมาตั้งแต่สถาบันฝึกหัดครูเลย ครูทั่วไปแทบไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ เราไม่มีการสอนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ไ่ม่ได้สอนว่ามันเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกโรงเรียน ไม่เคยสอนว่าถ้าเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไรได้บ้าง” ครูยุทธเสนอ
“ส่วนครูปัจจุบันที่ยังไม่รู้ อาจจะมีการเปิดอบรมสําหรับครูในเรื่องนี้ จะป้องกันยังไง จะแก้ไขยังไงเมื่อเหตุเกิด มันต้องทำให้ครูทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ไม่ว่ากับใคร” ครูยุทธกล่าวต่อ
ศธ. เตรียมปรับหลักสูตรลูกเสือ เพิ่มวิชาความปลอดภัยทางเพศ
“เนื้อหาที่เรียนมันไม่สัมพันธ์กับจำนวนเวลาในโรงเรียน ดังนั้น เนื้อหาวิชาเหล่านี้จะต้องไปสอดแทรกในวิชาอื่นๆ เช่น เป็นฐานกิจกรรม หรืออบรม“ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีศึกษาธิการเริ่มจากปัญหาภาพใหญ่
สิริพงศ์อธิบายว่าแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการคือ การปรับหลักสูตรวิชาลูกเสือใหม่ทั้งหมด โดยจะสอดแทรกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเข้าไปในหลักสูตรความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของวิชาลูกเสือ คู่ไปกับวิชาแผนเผชิญเหตุจากกรณีรถบัสโรงเรียนไฟไหม้ที่เกิดขึ้น
“เรากำลังปรับวิชาลูกเสือให้ทันสมัยมากขึ้น จะมีการสอนเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์, ความรู้ทางการเงิน และความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งความปลอดภัยเรื่องเพศจะอยู่ในซับเซ็ทนี้” สิริพงศ์ยืนยัน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำยืนยันว่าการปรับหลักสูตรนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ มีเพียงคำยืนยันว่า ”เรากำลังทำ“
ทางด้านการสอนครู สิริพงศ์กล่าวว่ามีความยากในการทำงานร่วมกับสถาบันสร้างครูหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกับทปอ. (ที่ประชุมอธิบการบดีแห่งประเทศไทย) เพื่อออกแบบหลักสูตรครูใหม่แล้วเช่นกัน
“แต่เราการันตีไม่ได้นะครับ ว่าสุดท้ายมันจะมีหรือไม่มีการสอนเรื่องพวกนี้ในสถาบันครู” สิริพงศ์ยอมรับ
รับปาก โละรื้อระบบร้องเรียน
แม้แต่ตัวของสิริพงศ์เองก็ยอมรับว่ากลไกร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศของศึกษาธิการเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถใช้ได้จริง และต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
“สํานักปลัดศึกษาธิการไม่มีอัตรากําลัง และไม่สามารถที่จะไปสั่งหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการได้ มันไม่เกิดการเอ็มพาวเวอร์เด็ก มันไม่สามารถใช้งานได้จริง มันแค่รับเรื่องร้องเรียนแล้วส่งต่อไปหน่วยงานอื่น แต่กี่ต่อกว่าจะถึง สพฐ.” สิริพงศ์กล่าว
แต่เรื่องนี้สิริพงศ์รับปากว่ากระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งแก้ไข โดยเขาอธิบายว่าระบบใหม่จะคล้ายทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) โดยมี สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบเอง ผู้เสียหายสามารถเข้ามาร้องเรียนได้ผ่านเว็บไซต์ และติดตามสถานะของกรณีตัวเองได้ตลอด
สิริพงศ์เสริมว่าระบบใหม่จะมีการใช้ AI เพื่อเก็บรวบรวมสถิติอย่างเป็นระบบ มีการใช้ AI เพื่อแสกนข้อมูลในโลกโซเชียล มีเดีย ในกรณีที่ผู้เสียหายเลือกจะโพสต์ประสบการณ์ลงในโลกออนไลน์มากกว่าร้องเรียน
“ศธ. วางแผนใช้งบประมาณที่เหลือเริ่มดำเนินการในปีนี้” สิริพงศ์ยืนยัน
4 ข้อเสนอจากก่อการสิทธิเด็ก
ในฐานะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ช่วยเหลือนักเรียนมาแล้ว ครูยุทธมองว่าศึกษาธิการควรแก้ไขเรื่องกลไกร้องเรียนตามลำดับ ดังนี้
ข้อแรก เปลี่ยนความคิด จากประสบการณ์ของครูยุทธที่ล้มเลิกการร้องเรียนผ่ารสายด่วนกระทรวงศึกษาธิการ เขาชี้ว่าอันดับแรกกระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมากกว่านี้ ทำให้กลไกเข้าถึงง่ายขึ้น และ “เชื่อในตัวคนที่มาขอความช่วยเหลือก่อน”
“คนที่รับเรื่องจะต้องมีความรู้แล้วและเข้าใจในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะถ้าเขาเข้าใจ เขาจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ การดําเนินการมันจะเร็วขึ้น จะไม่ปล่อยเวลาให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ และจะทำให้การร้องเรียนง่ายขึ้น” ครูยุทธเสริม
ข้อสอง เยียวยาก่อน สืบทีหลัง ครูยุทธเสนอว่าศึกษาธิการควรเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก เขายกตัวอย่างตัวเองที่ล้มป่วยเป็นต้น เพื่อให้ทุดคนแข็งแรงพร้อมก้าวสู่กระบวนการสืบหาความจริงไปพร้อมกัน
ข้อสาม อย่าซ้ำเติมเหยื่อผ่านการกระบวนการยุติธรรม หญิงเปรียบเทียบการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของตัวเองว่า “เหมือนถูกเอามีดแทงแผลเดิม” เพราะนอกจากวิธีการตั้งคำถามจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมแล้ว การสอบสวนยังดำเนินหลายครั้งนับไม่ถ้วน
“ในขั้นตอนการสืบสวนหาความจริง ขอให้ทุกหน่วยงานมาพร้อมกันในวันเดียว อยากรู้อะไรเอาให้มันจบในครั้งเดียว เพราะคนที่เขาเผชิญเรื่องนี้มา เวลาต้องพูดซ้ำไปซ้ำมา มันคือการลงโทษเขานะ” ครูยุทธเสริม
ข้อสี่ ปรับบทลงโทษ ข้อเสนอสุดท้ายของครูยุทธคือขอให้กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนบทลงโทษผู้ถูกกล่าวหา จากย้ายเข้าส่วนกลางเป็นพักราชการไว้ก่อน เพื่อสร้างความสบายใจให้ผู้เสียหายว่าจะไม่มีการคุกคาม ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน และคุ้มครองความรู้สึกของผู้เสียหาย
“ในมุมของครู การย้ายผู้ถูกกล่าวหาเข้าเขตเหมือนให้รางวัลเขาเลย มันทำให้เขาใหญ่ขึ้น ได้รับมีข้อมูลลึกๆ เพิ่มขึ้น และจากประสบการณ์ ผู้เสียหายเขารู้สึกไม่สบายใจ เขากังวลว่าจะมีการฟ้องกลับไหม จะให้คุณให้โทษเพิ่มกับเราได้ไหม” ครูยุทธเล่า
“กระทรวงศึกษาควรพักงานไว้ก่อนเลย ไม่ต้องย้ายไปไหนทั้งสิ้น แต่เพื่อความยุติธรรมอาจจะมีการให้เงินเดือนเขาตามปกติ จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะสิ้นสุด” ครูยุทธเสนอ
ถ้าเราเห็นตรงกันว่าโรงเรียนคือสถานที่สอนให้นักเรียนใช้ชีวิต มากกว่าโรงงานผลิตคนป้อนระบบตลาด กระทรวงศึกษาธิการต้องครุ่นคิดถึงปัญหานี้ให้หนัก เพราะเมื่อการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นแล้ว บาดแผลจะคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะล้างหรือเย็บแผลดีแค่ไหนก็ตาม
และระบบราชการไทยต้องไม่ลืมว่า คนที่เจ็บปวดที่สุดคือเหยื่อเสมอ เป็นเช่นนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง
สัมภาษณ์: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล & ภูมิสิริ ทองทรัพย์
ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา
ภาพปก: สุรัสวดี มณีวงษ์