SHORT CUT
ตำนานน้ำท่วม เพราะความรัก “ผาแดงนางไอ่” ตำนานน้ำท่วมแถบอีสานสะท้อนความเชื่อเรื่องธรรมชาติและมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน
ตำนานหนองหานล่มเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในภาคอีสานของประเทศไทย โดยเชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในอดีตที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน จนกลายเป็นตำนานที่ใช้เตือนใจคนรุ่นหลังให้ระมัดระวังภัยธรรมชาติ และในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ตำนานหนองหานล่มก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันในหลายแง่มุม
เมืองหนองหานอยู่ที่ไหน
เมืองหนองหานเดิมทีมีพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมหลายอำเภอในปัจจุบัน โดยหลายคนเชื่อว่าที่ตั้งของเมืองในอดีตตั้งอยู่บริเวณเมืองสกลนคร
เมื่อเมืองหานตามตำนานมีการคาดการณ์กันว่าอยู่บริเวณจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน โดยลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง
ด้านทิศเหนือของจังหวัด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มลอนคลื่นไม่สม่ำเสมอกัน ใช้น้ำจากลำห้วยสาขาในการทำนา ทิศเหนือของอำเภออากาศอำนวยเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง เนื่องจากติดกับแม่น้ำสงคราม ทำให้เหมาะแก่การทำนากว่าพื้นที่โดยรอบ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าทาม ที่ขึ้นริมน้ำและปล่อยรกร้างว่างเปล่า
ส่วนทางตอนใต้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ เรียกว่าแอ่งสกลนคร จุดต่ำสุดของแอ่งคือ ทะเลสาบหนองหาน อำเภอเมืองสกลนคร และหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม
นอกจากนี้ยังมีทิวเขาภูพานทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้บริเวณอำเภอภูพานและอำเภอกุดบาก มีลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขาสูงสลับกับที่ราบลูกคลื่นที่อยู่ช่วงกลางระหว่างทิวเขาภูพานในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดสกลนคร
สะท้อนให้เห็นว่าสกลนครเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย เพราะมีพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำประกอบกับมีพื้นที่เป็นแอ่งทำให้เกิดน้ำท่วมได้
ตำนานเมืองหนองหานนั้นเป็นเรื่องของความรักและความแค้นที่สามารถทำให้เมืองล่มได้
เรื่องมีอยู่ว่าครั้งหนึ่ง ยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ “นครเอกชะทีตา” มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองมีพระธิดานามว่า “นางไอ่คำ” พระยาขอมได้สร้างปราสาท 7 ชั้น พร้อมเหล่าสนมกำนัลคอยอารักขาพระธิดาของตน
และมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ “เมืองผาโพง” มีเจ้าชายนามว่า “ท้าวผาแดง” เป็นกษัตริย์ เมื่อท้าวผาแดง ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของนางไอ่คำ จึงใคร่อยากจะเห็นหน้า เลยปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจรเข้าไปในนครเอกชะทีตา และให้นางสนมกำนัลนำของขวัญเข้าไปให้นางไอ่คำในปราสาท จนในที่สุดปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองก็ทวีเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความรัก
เมื่อเวลาผ่านไป พระยาขอมแก่งเมืองเอกชะทีตานคร จัดงานบุญเดือน 6 ประเพณีโบราณของเมืองที่จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน พระยาขอมจึงประกาศไปยังหัวเมืองต่างๆ ว่างานบุญเดือน 6 ปีนี้ จะทำการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยนั่งนครเอกชะทีตานครต่อจากพระองค์ จึงขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟเพื่อมาจุดแข่งขัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษกกับพระธิดาไอ่คำ
ครั้นเมื่อข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ หัวเมืองน้อยใหญ่เจ้าชายจากเมืองต่างๆ ได้ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขันจากหลายหัวเมือง เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง
ขณะนั้งเองก็ยังมี “ท้าวพังคี” ผู้เป็นพญานาค พระราชบุตรของพระยาศรีสุทโธแห่งเมืองบาดาล ชายผู้เป็นรักครั้งเก่าของนางไอ่คำตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็ได้ยินคำประกาศของพระยาขอมเช่นเดียวกัน ด้วยความปรารถนาครวญคร่ำถึงรักเก่า ท้าวพังคีจึงได้ปลอมตัวเป็นกระฮอกด่อน (กระรอกสีเผือก) เพื่อติดตามเชยชมนางไอ่คำอยู่ห่างๆ ในงานบุญบั้งไฟ
เมื่อถึงวันแข่งขันจุดบั้งไฟ ปรากฏว่าบั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ท้าวผาแดงสิ้นหวังที่จะครองเมืองคู่นางไอ่ ขณะเดียวกันท้าวพังคีกระฮอกด่อนที่ฮ้อยกระดิ่งผูกคอ ได้ไต่เต้นไปมาอยู่บนยอดไม้ และปรากฏร่างให้นางไอ่คำเห็นนางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง นางจึงมีรับสั่งให้นายพรานตามยิงเอาตัวกระฮอกมาให้ได้ ในที่สุดท้าวพังคีก็ถูกยิงจนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า “ขอให้เนื้อของเขามีถึงแปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง” จากนั้นร่างของพังคีก็ได้ขยายใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่น จากนั้นชาวเมืองจึงจัดการแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั้ง 2 เมือง เว้นแต่พวกแม่ม่ายที่ไม่ถูกแบ่งเนื้อให้กิน
เมื่อพระยาศรีสุทโธทราบข่าวว่าพระราชบุตรถูกมนุษย์ฆ่าตายและแล่เนื้อไปกินทั้ง 2 เมือง จึงโกรธแค้นยิ่งนัก
ทันใดนั้นท้องฟ้ามืดสงัด ขณะที่ชาวเมืองชะทีตากำลังหลับไหล เหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วยพายุ ฝนฟ้าได้กระหน่ำลงมาอย่างหนัก แผ่นดินเริ่มถล่มยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตายเหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่นนับแสนตัวถล่มเมืองชะทีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3 – 4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระฮอกด่อนจึงรอดตาย
เมื่อสถานการณ์มหันตภัยนี้ ได้กระทบถึงวังของท้าวผาแดง ท้าวผาแดงจึงเร่งควบม้าที่ชื่อ “บักสาม” หนีออกจากเมืองพร้อมกับเดินทางไปรับพระธิดาไอ่คำ แม้จะเร่งฝีเท้าม้าเท่าใดก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มอย่างประชิดทั้งสองพระองค์
ในที่สุดผืนพสุธาก็ได้กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำพร้อมม้าบักสามจมหายสู้ใต้ผืนพิภพ รุ่งเช้าจากเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองก็ได้จมหายกลายสิ้นเป็นพื้นน้ำสุดหูสุดตา ทุกสรรพสิ่งจมสู่ใต้บาดาลจนหมดสิ้นเหลือไว้เพียงแม่ม่ายบนเกาะร้าง 3 – 4 แห่ง ต่อมาพื้นที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่าหนองหานจนถึงปัจจุบัน
นี่เป็นตำนานเมืองหนองหาน ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของคน อารมณ์ความรู้สึกและธรรมชาติอยู่ร่วมกัน
แม้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในตำนานหนองหานล่มจะเป็นเรื่องราวในอดีต แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบันได้หลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ ทั้งตำนานและเหตุการณ์ปัจจุบันล้วนเกิดจากภัยธรรมชาติที่รุนแรง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในตำนานและความเป็นจริง น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างร้ายแรง ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน สูญเสียที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิน
มีบทเรียนที่ได้ ทั้งสองเหตุการณ์สอนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล
สะท้อนให้เห็นว่าแต่ครั้งอดีตนั้นมนุษย์ไม่สามารถชนะธรรมชาติได้ สิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดได้คือการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มากกว่าจะฝืนธรรมชาตินั่นเอง
อ้างอิง
Theisaanrecord / Nation /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง