SHORT CUT
"สุดารัตน์" ตาเจ็บ แต่ขอลุยหนองคาย ช่วยน้ำท่วม ส่งกำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพถึงหน้าบ้าน เผยอุทกภัยหลายจุดยังน่าห่วง หลายพื้นที่จมบาดาล สะท้อนความล้มเหลวการทุ่มเม็ดเงินมหาศาล โชว์ไอเดียบูรณาการแก้ปัญหาชลประทานทั้งระบบ ลุยแก้น้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
ค่ำวันที่ 15 กันยายน 2567 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย ที่ชุมชนบ้านดอนสวรรค์ หมู่ 9 ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย และพื้นที่ชุมชน ริมโขง ซึ่งขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังหลายจุด โดยระดับน้ำนั้นยังสูงกว่า 1 เมตร โดยได้ลุยน้ำเข้าไปมอบสิ่งของจำเป็นถึงหน้าบ้านพักที่ชาวบ้านยังคงอยู่เฝ้าบ้าน แม้จะไม่มีการจ่ายไฟฟ้าก็ตาม
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยเปิดเผยว่า แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาใช้สายตาทำงานอย่างหนัก แต่เมื่อเห็นความทุกข์จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวหนองคายแล้ว จึงต้องลงพื้นที่มาให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากให้ผู้ประสบภัยในวันนี้
คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่าที่ผ่านมาพี่น้องคนไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีสาน ประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาตลอด แม้รัฐไทยจะมีหน่วยงานในการจัดการน้ำมากมาย และใช้เงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปีแต่กลับขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ จึงเห็นภาพความเสียหายต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจมหาศาล พรรคไทยสร้างไทยจึงประกาศเดินหน้านโยบาย เพื่อแก้ปัญหา โขง เลย ชี มูล อย่างเป็นระบบ
ซึ่งจากการศึกษา พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือ ประมาณ 13.6% เท่านั้น ทำให้เหลือ พื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่มีระบบชลประทานมากถึง 55.16 ล้านไร่ ทั้งที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ทุ่งกุลา มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา รวมทั้งเป็นภาคที่มีประชากรสูงที่สุด แต่กลับมีระบบชลประทานน้อยที่สุด
โครงการดังกล่าว จะทำให้ระบบคลองส่งน้ำและพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด 281 อำเภอ เป็นพื้นที่ชลประทาน 31.78 ล้านไร่ คลองสายใหญ่จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 2,271 กม. เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.36 ล้านครัวเรือน หรือ 5.39 ล้านคน
ช่วยลดปัญหาภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง ลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง รวมถึงปริมาณฝนที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
\