SHORT CUT
ภัยพิบัติทางธรรมชาติประกอบไปด้วย 4 ประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้ ธรณีพิบัติภัย อุทกภัย วาตภัย และ อัคคีภัย
ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร หรือเกิดขึ้นที่ประเทศไหนก็ตาม ผลลัพท์ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ทั้งเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ
พาเทียบ 3 เหตุการณ์ใหญ่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สึนามิ-น้ำท่วมกรุง-เหนือ ไม่ว่าอะไรก็เจ็บพอเท่ากัน!
ปวดร้าวทุกครั้ง! พามาเทียบ 3 เหตุการณ์ใหญ่ "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ปี’47- สึนามิถล่มใต้ ปี’54 น้ำท่วมกรุง -ปี’67 น้ำท่วมเหนือ ไม่ว่าครั้งไหนๆก็เกิดความเสียหาย ถ้าไม่รับมือโลกรวนให้ดี ครั้งต่อไปจะเจออะไร?
ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร หรือเกิดขึ้นที่ประเทศไหนก็ตาม ผลลัพธ์ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ทั้งเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของผู้คนในที่เกิดเหตุ ญาติพี่น้อง รวมไปจนถึงคนที่ได้พบเห็นเหตุการณ์ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติประกอบไปด้วย 4 ประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้
ทั้ง 4 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนๆ ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่…บางทีก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะโลกรวน ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้น ข้อมูลจากมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ระบุว่า ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงแปรปรวน และเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนก็คือก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมาก
แน่นอนว่าโลกรวน ไทยคือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดเจนในปี2567 นี้ แล้งจัด ร้อนจัด พายุฝนตกชุก น้ำท่วมเหนือ อีสาน ครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนที่ไม่ดีกับโลกของเรา หากมนุษย์ยังไม่เร่งช่วยกันรับมือเรื่อง โลกร้อน หรือการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่อจะมีความรุนแรงขึ้นเร็วๆในไม่ช้านี้
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มี 3 เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ครั้งใหญ่ที่น่าจนจำ คือ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มจังหวัดภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมาได้นำมาซึ่งความสูญเสีย ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
โดยเฉพาะ 6 จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง ภูเก็ต และสตูล ความสูญเสียดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ยังสร้างความเสียหายกระทบส่วนอื่นๆของไทยอีกมากมาย เช่น
ด้านสิ่งแวดล้อม
1. ทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับ ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์คลาดเคลื่อนไป
2. ส่งผลให้สภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
3. ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น สัตว์น้ำบางประเภทเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ด้านสังคม
1. สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เช่น บ้านเรือนเสียหาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย
2. กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน เช่น การทำประมง การค้าขายบริเวณชายหาด ธุรกิจที่พักริมทะเล
3.ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง
หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คาดการณ์ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิอีกครั้งในประเทศไทย เพราะแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันบางส่วนมีการสะสมพลังงานมาหลายร้อยปี และยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวและสึนามิ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบเตือนภัยที่เชื่อถือได้ และต้องเตรียมพร้อมที่จะอพยพหนีภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ต่อมาอีกหนึ่งเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คนไทยจะจดจำไม่มีวันลืม คือ น้ำท่วมใหญ่ปี2554 ซึ่งหลายจังหวัดถูกน้ำท่วมสูง ที่น่าตกใจ คือ กรุงเทพฯเมืองหลวงของประเทศไทย เมืองเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวที่ติดอันดับของโลกถูกน้ำท่วมด้วย
ใครจะไปคิดว่าน้ำจะท่วมเมืองหลวงได้ ทำเอาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนหยุดชะงักมาก จนทำให้ธนาคารโลก (World Bank) ถึงกับประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาทเป็นมหาอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปี ขยายตัวได้เพียง 0.1% แน่นอนว่าเพราะการติดลบอย่างหนักในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ที่เจอน้ำท่วม GDP หดตัวร้อยละ 9.0 ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท
ต่อมาคือเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือล่าสุด ปี2567 หลายจังหวัดเจอศึกหนัก เช่น น่านมีการประเมินว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี หลังน้ำลดนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ประเมินน้ำท่วมรอบนี้หนักสุดในรอบประวัติศาสตร์ที่เคยท่วมในจังหวัดน่าน เสียหายไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมใหญ่เมืองแพร่ สร้างความเสียหายมหาศาล จนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน คาดว่ามูลค่าความเสียหายช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท หรือ 0.03-0.04% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินน้ำท่วมภาคเหนือ ฉุดเศรษฐกิจเสียหาย 4,000-6,000 ล้านบาท และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ น้ำท่วมใหญ่ที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอเมืองเชียงราย ก็สร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาลเช่นกัน และสถานีต่อไป คือ หนองคาย และนครพนม รวมถึงจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงที่กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำโขงล้นตลิ่ง
ทั้งหมด คือ 3 เหตุการณ์ใหญ่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ-น้ำท่วมกรุง-น้ำท่วมเหนือ และกำลังลามไปอีสานฝั่งโขง ล้วนแต่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ปวดร้าว และถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลโลก จากนี้ไปเราจะเจอกับเหตุการณ์อะไรอีก!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัพเดต ญี่ปุ่นแจ้งเตือนสึนามิ หลังแผ่นดินไหว 7.6 สั่น อาฟเตอร์ช็อกเพียบ
เช็ก "เขื่อนใหญ่" รับน้ำได้อีกเท่าไหร่? ลุ้นกทม.จะรอด-ร่วง น้ำท่วมปี2567