svasdssvasds

กรุงเทพฯ รอดต่างจังหวัดร่วง ว่าด้วยความรู้สึกหากน้ำท่วมไม่หนักถึง กทม.

กรุงเทพฯ รอดต่างจังหวัดร่วง ว่าด้วยความรู้สึกหากน้ำท่วมไม่หนักถึง กทม.

กรุงเทพฯ รอดต่างจังหวัดร่วง ว่าด้วยความรู้สึกหากน้ำท่วมไม่หนักถึง กทม. เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว

SHORT CUT

  • เคยสงสัยไหม หากน้ำยังไม่มาถึงหรือเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราว่าน้ำจะท่วมบ้านเราแล้วชาว กทม. หรือชาวปริมณฑลจะรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว
  • นั่นเพราะปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการมองว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของความเจริญ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่เน้นเสนอข่าวในพื้นที่ กทม. จิตวิทยาที่มนุษย์มักสนใจสิ่งใกล้ตัวมากกว่า รวมถึงการเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีตหรือเหตุการณ์ที่หนักกว่าปัจจุบัน
  • ส่งผลให้พื้นที่ต่างจังหวัดที่น้ำท่วมหนักไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ รอดต่างจังหวัดร่วง ว่าด้วยความรู้สึกหากน้ำท่วมไม่หนักถึง กทม. เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว

สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือของไทยนับวันหนักอย่างมาก เพราะทำให้บ้านของประชาชนในพื้นที่หลายๆ จังหวัดต้องจมอยู่ใต้น้ำ ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

แต่กระนั้นหากน้ำยังไม่มาถึงหรือเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราว่าน้ำจะท่วมบ้านเราแล้วชาว กทม. หรือชาวปริมณฑลจะรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว นั่นเป็นเพราะอะไร

SPRiNG พาไปไขปริศนาเพราะเหตุใดหากน้ำยังไม่ท่วมถึงกรุงเทพฯ เรากลับมองเป็นเรื่องไกลตัวเสียอย่างนั้น

การกระจุกตัวของความเจริญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาอะไรไม่ว่าระบบขนส่งสาธารณะหรือสิ่งอำนวยความสะดวก ย่อมต้องนึกถึงกรุงเทพฯ ก่อน

ทำให้เราให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ เป็นพิเศษ เมื่อกรุงเทพฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เราก็อาจมองข้ามปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ไป

ด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าข่าวน้ำท่วมพื้นที่อื่นๆ เราอาจไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอมีข่าวว่าน้ำท่วมหนักพาดหัวว่ากรุงเทพฯ ต้องเตรียมรับมือ หรือน้ำทะลักเข้า กทม. จังหวะนี้อาจทำให้เราสนใจข่าวน้ำท่วม เพราะมันเริ่มเข้าใกล้เมืองหลวงของเราแล้ว

สื่อมวลชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนมีผลต่อการรับรู้ข่าวสารบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์

สื่อมวลชนในประเทศไทยมักให้ความสำคัญกับข่าวสารในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ทำให้เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ดังนั้นการนำเสนอข่าวหรือในแง่ของประเด็นข่าวจึงให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ เมื่อสารที่สื่อออกไปส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจกรุงเทพฯ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ดังนั้นหากน้ำไม่ท่วมใกล้ถึงกรุงเทพฯ หรือภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ น้อยครั้งที่จะมีการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้อย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อน้ำไม่มาถึงกรุงเทพฯ เราจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวนั่นเอง

จิตวิทยา

หลักจิตวิทยานั้นมนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรามากกว่า

ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนวัยทำงานมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น เมื่อกรุงเทพฯ ยังไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เราก็อาจจะยังไม่รู้สึกถึงความเร่งด่วนในการช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ

การเปรียบเทียบ

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบเปรียบเทียบ เปรียบเปรย ยิ่งพอเรามีการใช้ตัวอักษร มีการจดบันทึก ยิ่งจดไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

หลังจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เราจึงนำสถานการณ์ ณ ปัจจุบันไปเทียบกับอดีต ซึ่งเราอาจจะเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในอดีต ทำให้รู้สึกว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่รุนแรงเท่าในอดีต ส่งผลให้เราอาจไม่สนใจน้ำท่วมมากนักหากไม่มาถึงตัวเรา

ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยที่เราปล่อยให้น้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรักษากรุงเทพมหานครเมืองหลวงของเราด้วย

ย้อนอดีตอยุธยา-สุพรรณ รับน้ำแทน กทม.

โดยเฉพาะในอยุธยาและสุพรรณบุรี ซึ่งมีลักษณะพื้นที่ลุ่มใกล้กับกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นพื้นที่รับน้ำแทนกรุงเทพฯ

อย่างเช่นในสุพรรณบุรีปี พ.ศ. 2554 น้ำจากแม่น้ำท่าจีนได้เอ่อล้นแนวเขื่อนและกระสอบทรายพังทลาย น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจของตลาดเก้าห้อง 100 ปี อำเภอบางปลาม้า กว่า 300 ห้องถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่เทศบาลร่วมกับกำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี กว่า 120 นาย เร่งหาทางกู้น้ำท่วม ได้ช่วยกันนำกระสอบทรายทำแนวเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อจะสูบระบายน้ำออก

หรือในปี พ.ศ. 2566 พื้นที่สุพรรณบุรีต้องรับน้ำมาจากเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาท เพื่อช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัด

หรือที่อยุธยาปี พ.ศ. 2554 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ส่งผลให้พืชผลการเกษตรของชาวบ้านทั้งสองอำเภอเสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถขายหรือส่งออกได้ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นยามกลางคืน ประชาชนหวั่นเกรงปัญหาโรคระบาดในพื้นที่

และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมบ้านเรือนติดกับด้านหลังวัดไชยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม ระดับน้ำสูง 2 เมตร

สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัด น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 16 อำเภอ โดยบางอำเภอน้ำท่วมจนไม่สามารถสัญจรได้ คันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง พังลง ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมโรงงานในนิคมกว่า 46 แห่ง ถนนโรจนะซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้า-ออกตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร น้ำยังไหลเข้าท่วมชุมชนเจ้าพ่อจุ้ย บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 1,000 หลังคาเรือน

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ความสูญเสียภาพรวมภาคอุตสาหกรรมอาจสูงถึงวันละ 1,000 ล้านบาท

และในปี พ.ศ. 2566 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายหลังเขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา คลองสาขา และแม่น้ำน้อย มีระดับสูงขึ้น และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ

โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสาขา และแม่น้ำน้อย ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร

โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมใต้ถุนบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำนอกแนวคั้นน้ำไปแล้วจำนวน 8 อำเภอ 66 ตำบล จำนวน 10,379 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางซ้าย อำเภอบางปะหัน ล่าสุดเพิ่มมาอีก 1 อำเภอ คืออำเภอมหาราช พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบทั้งหมด

สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ต่างจังหวัดที่ติดกรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นรับน้ำให้กรุงเทพฯ มาหลายครั้ง และทุกครั้งได้สร้างปัญหาและความเสียหายให้กับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เป็นอย่างมาก

แต่พื้นที่ที่รับน้ำแทนกรุงเทพฯ กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร กลายเป็นว่าคนเจ็บไม่มีใครเหลียวแล ขณะที่คนไม่เจ็บกับได้รับความสนใจมากกว่านั่นเอง

related