SHORT CUT
ผลกระทบจากเอลนีโญ -ลานีญา พ่นพิษ สวนกล้วยน้ำว้าไทย ดันราคาพุ่งหวี 80 บาท พ่อค้าแม่ค้าตระเวนขับหาซื้อกันจ้าละหวั่น ด้านแม่ค้ากล้วยทอดโอดต้นทุนพุ่ง ขอขึ้นราคา 5-10 บาท
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเจอวิกฤตเอลนีโญอย่างหนัก ทำให้หลายพื้นที่หลายจังหวัดประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ด้วยอากาศที่ร้อนจัด และแห้งแล้งทำให้พืชเศรษฐกิจหลายชนิดใบไหม้ ต้นแห้งตาย ทำให้มีราคาสูง และผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หนึ่งนั้นใน คือ กล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยกล้วยน้ำว้ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจนอกจากจะกินผลสุกที่มีประโยชน์มากมายกับร่างกาย และยังสามารถแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆทั้งคาว และหวานได้อีกด้วย
เรียกได้ว่าเจอเอลนีโญชุดใหญ่ไฟกระพริบ ล่าสุดความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก สวนกล้วยน้ำว้าต้องเผชิญกับลานีญา ทั้งน้ำท่วม ฝนตกชุก บางพื้นที่ถูกพายุถล่มทำให้ปัจจุบันผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยมาก บางตลาดจำหน่ายกล้วยน้ำว้าราคาสูงถึงหวีละ 60-80 บาท พ่อค้าแม่ค้ากล้วยตากในจังหวัดพิษณุโลก แหล่งผลิตกล้วยตากขึ้นชื่อ ถึงขั้นต้องขับรถตระเวนหาซื้อกล้วยตามบ้าน และตามสวน เพื่อแย่งชิงกันซื้อ
ขณะที่ข้อมูลราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรกล้วยน้ำว้า กระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2563-2567) พบว่าราคากล้วยน้ำว้าจะสูงในช่วงเดือนส.ค.ของทุกปี และจะลดลงในช่วงปลายปีจนราคาตกต่ำในช่วงแล้งปีถัดไป ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยน้ำว้าเป็นพืชเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญคู่กับสังคมไทย มายาวนาน เนื่องด้วยกล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ปลูกกันเกือบทุกบ้านและที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นกล้วยที่ชาวสวนนิยมปลูกกันมากพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ทั้งนี้มีทั้งการปลูกในรูปแบบแปลง เพื่อจำหน่ายเป็นการค้าและปลูกตามหัวไร่ปลายนา โดยมีเกษตรกรที่ปลูกกล้วยน้ำว้ามาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ จำนวน 43,878 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 109,086.46 ไร่ (ข้อมูล ทบก. ปี 2566 ณ วันที่ 19 ส.ค. 67) ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมเมืองที่ขยายตัว ทำให้วิถีการปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บริเวณบ้านเปลี่ยนไป ในขณะที่ช่องทางตลาดเพื่อเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมีความสะดวกและเข้าถึงง่าย ส่งผลให้เกิดการปลูกกล้วยเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น พร้อมกับการปลูกกล้วยเพื่อบริโภคในครัวเรือนลดน้อยลง
อย่างไรก็ตามพบว่า การปลูกกล้วยน้ำว้าของเกษตรกรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในเขตเมืองยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะต้องลงทุนสูงให้ผลตอบแทนน้อย ทั้งนี้แม้ในบางช่วงของปีจะมีผลผลิตออกน้อย ด้วยปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิสูงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและในบางช่วงของฤดูกาลจะมีผลผลิตออกมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาดก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าจึงต้องแบกรับภาระ และกระจายความเสี่ยงนำกล้วยน้ำว้าไปแปรรูปสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามสภาวะการตลาดที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ราคากล้วยน้ำว้าเบอร์กลางที่ตลาดไท พบว่า ราคากล้วยน้ำว้าสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.2567 เป็นต้นมา ซึ่งปกติอายุของผลกล้วยตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือน กล้วยน้ำว้าจึงอาจออกดอกติดผลในช่วงแล้งและร้อนจัดที่ผ่านมา (เดือน มี.ค. - เม.ย. 2567) สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ทำให้ผลผลิตกล้วยน้ำว้ามีน้อย ราคาสูง ผลขนาดเล็ก และมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ผู้รับซื้อต้องการ
ในขณะที่ราคากล้วยน้ำว้าอยู่ในช่วงขาขึ้น แน่นอนว่ากระทบต่อผู้บริโภคกล้วยน้ำว้า ยังทั้งยังกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายกล้วยแขก หรือกล้วยทอด ผู้สื่อข่าว #สปริงนิวส์ ลงพื้นที่สำรวจร้านกล้วยทอดย่านบางซื่อ วงศ์สว่าง และประชานิเวศน์1 พบว่า พ่อค้าแม่ค้ากล้วยทอดต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงนี้ราคากล้วยน้ำว้าแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทันที จึงได้มีการปรับราคาขายกล้วยทอด 5-10 ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
ผลพวงจากเอลนีโญ และลานีญา ได้พ่นพิษอย่างหนักหน่วงใส่กล้วยน้ำว้าทำให้ราคาพุ่งหวี 80 บาท นับว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน และต้องจับตาดูต่อไปว่าราคาจะพุ่งไปถึงไหน เพราะขณะนี้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้แล้วต้องเริ่มกิน! "กล้วยน้ำว้า" ผลไม้บ้านๆ ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย
โลกร้อน ภัยแล้งพ่นพิษ! ผู้ปลูก "กล้วยหอม"ระทึก ผลผลิตลด คุณภาพต่ำ ดันราคาสูง