svasdssvasds

ผลพวงโลกร้อนทำกล้วยงอมไวขายไม่ออก เกษตรกรมาลาวีหัวใสนำมาผลิตไวน์เสียเลย

ผลพวงโลกร้อนทำกล้วยงอมไวขายไม่ออก เกษตรกรมาลาวีหัวใสนำมาผลิตไวน์เสียเลย

หลายประเทศในแอฟริกากลายมาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด ทั้งที่เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลก

SHORT CUT

  • ประเทศมาลาวีเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลก แต่กลับได้รับผลกระทบเลวร้ายจากโลกร้อน
  • มาลาวี เจอภัยพิบัติ คลื่นความร้อน น้ำท่วม โรคระบาด ส่งผลการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง
  • อากาศร้อนมาก ทำให้กล้วยงอมเร็ว ไม่สามารถขายได้ นำกล้วยที่สุกงอมมาทำไวน์

หลายประเทศในแอฟริกากลายมาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด ทั้งที่เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลก

แต่ด้วยความยากจนทำให้ประเทศเปราะบางต่อภัยธรรมชาติ อย่างที่มาลาวี เกษตรกรเองก็ต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่แปรปรวนมาหลายปี จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

เครดิต : Comsip Cooperative Union Limited

สำนักข่าวอัลจาซีราห์รายงานว่า เรจีนา มูคันดาไวร์ เป็นเกษตรกร เพาะปลูกต้นกล้วยในฟาร์มเล็กๆแห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือของประเทศมาลาวี ประเทศเล็กๆในแอฟริกามานานกว่า 16 ปีแล้ว แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม อีกทั้งโรคระบาดต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบในมาลาวีมาตั้งแต่ปี 2010 ทำให้เธอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง โดยเธอบอกว่า ถ้าหากอากาศร้อนมาก กล้วยก็จะงอมเร็วมาก หมายความว่า เธอไม่สามารถขายพวกมันได้ และถ้าหากมีน้ำท่วม ต้นกล้วยก็ได้รับผลกระทบ พายุที่รุนแรงสามารถทำลายทั้งฟาร์มได้เลย

เครดิต : Comsip Cooperative Union Limited

มาลาวีกำลังได้รับผลกระทบเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลกก็ตาม โดยอากาศที่แห้งแล้งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ระหว่างปี 2016-2017 ซึ่งครั้งนั้นส่งผลทำให้ราวหนึ่งในสามของประชากร 18 ล้านคนทั่วประเทศตกอยู่ในความหิวโหย ต้องรอคอยความช่วยเหลือทางอาหาร

เมื่ออากาศแปรปรวนหนัก กล้วยก็ได้รับผลกระทบ เกษตรกรชายหญิงจากหมู่บ้านดังกล่าวก็เริ่มต้นที่จะนำกล้วยที่สุกงอมมากมาทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไวน์

เครดิต : Comsip Cooperative Union Limited

พวกเขาเริ่มต้นในปี 2012 เกษตรกรจำนวนหนึ่งรวมตัวในชื่อกลุ่ม Twitule Cooperative ซึ่งเรจีนาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง และได้รับการอบรมจากสหภาพความร่วมมือ COMSIP เพื่อจัดตั้งโครงการให้แก่ชุมชน หวังให้ชุมชนในมาลาวีต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

ทางกลุ่มเปิดเผยว่า สามารถขายไวน์กล้วยที่มีรสชาติหวานได้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศ และพวกเขาเองก็กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างซิมบับเว แซมเบีย แทนซาเนีย

เกษตรกรกลุ่มนี้ยังเล่าว่า พวกเขาไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรหรูหราเป็นพิเศษ โรงงานผลิตไวน์ของพวกเขาคือห้องขนาดเล็กที่ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา คนงานจะใช้ถังพลาสติกขนาด 20 และ 50 ลิตรในการผสม พวกเขาสามารถผลิตไวน์กล้วยได้ขั้นต่ำวันละ 50 ขวด และขายพวกมันในราคาขวดละ 1.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 63.95 บาท

จริงๆ แล้วพวกเขาไม่มีอุปกรณ์ในการบรรจุขวดไวน์ด้วย ดังนั้นสหภาพจึงซื้อไวน์มาเป็นถังแล้วช่วยในการบรรจุขวด เพื่อช่วยทำการตลาด หวังให้ขายได้ราคาดีขึ้น

แต่ในประเทศมาลาวี ซึ่งประชากรกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในความยากจน รายได้จากไวน์กล้วยเหล่านี้ถือว่ามีคุณค่ามาก อย่างเรจีนา ซึ่งสามีตกงาน ตอนนี้เธอกลายมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวจากธุรกิจไวน์กล้วย

 

ที่มา : Aljazeera

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :