svasdssvasds

ผลพวงโลกร้อนขึ้น อิตาลีหันมาปลูกมะม่วง กล้วย อะโวคาโด แทนพืชเมืองหนาว

ผลพวงโลกร้อนขึ้น อิตาลีหันมาปลูกมะม่วง กล้วย อะโวคาโด แทนพืชเมืองหนาว

เกษตรกรอิตาลีหันมาปลูกพืชเขตร้อน รับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อิตาลีร้อนขึ้น น่าหวั่นใจว่าต่อไปไทยคงจะเสียลูกค้าผลไม้ไทยอีกราย เมื่อยุโรปสามารถปลูกมะม่วง กล้วย อะโวคาโด้ได้

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้หลายๆ พื้นที่ทั่วโลกมีอากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ อิตาลีก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เช่นกัน โดยอากาศที่ร้อนขึ้นแม้ว่าส่วนหนึ่งจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากคลื่นความร้อนรุนแรง แต่ก็เปิดโอกาสให้เกษตรกรท้องถิ่นได้หันมาปลูกพืชผลเขตร้อนเช่น มะม่วง กล้วย อะโวคาโด ที่แต่เดิมต้องนำเข้าขนส่งมาจากแดนไกล ให้ปลูกในยุโรปได้

ภายใต้ร่มเงาของภูเขาไฟเอตนาในซิซิลี ทางภาคใต้ของอิตาลี อะโวคาโด มะม่วง กล้วย และเสาวรส - ผลิตผลแปลกใหม่มากมายกำลังเติบโต ในขณะที่เกษตรกรบนเกาะอิตาลีปรับตัวเข้ากับสภาวะโลกร้อน

ภาพทัศน์ดังกล่าวดูเป็นสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับเขตร้อนมากกว่ายุโรป ทั้งสวนมะม่วงและอะโวคาโดซึ่งมีทิวต้นปาล์มคั่นระหว่างภูเขาไฟและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ส่องประกายระยิบระยับ

ภูเขาไฟเอตนา และภูมิทัศน์ของเกาะซิซิลี ทางภาคใต้ของอิตาลี  Cr: Naval S

Andrea Passanisi เกษตรกรอะโวคาโดและหัวหน้าองค์กรเกษตรกรรม Coldiretti ในเมืองคาตาเนีย เมืองใหญ่อันดับสองของซิซิลี กล่าวว่า "ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเกษตรส่วนใหม่ทั้งหมดได้ถือกำเนิดขึ้น"

ในระหว่างการเยือนบราซิลในช่วงทศวรรษปี 2000 Passanisi สังเกตว่าสภาพอากาศเขตร้อนที่บราซิลคล้ายคลึงกับซิซิลีมาก โดยเกาะซิซิลีแต่เดิมก็ขึ้นชื่อในเรื่องส้มและมะนาวท้องถิ่นอยู่แล้ว เขาจึงคิดที่จะปลูกผลไม้เขตร้อนแปลกใหม่ที่บ้านเกิดในอิตาลี

Passanisi กล่าวว่า ดินที่อุดมสมบูรณ์รอบๆ Etna สภาพอากาศที่ร้อนและชื้นขึ้น รวมถึงความแปรผันของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่จำกัด กลายเป็นสภาพแวดล้อมในอุดมคติสำหรับการปลูกพืชเขตร้อนบนผืนดินยุโรป

อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้อิตาลีมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมขึ้นในการปลูกผลไม้เขตร้อน

เขากล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรมากกว่า 40 รายกำลังปลูกผลไม้เขตร้อนบนพื้นที่หลายร้อยเฮกตาร์ทั่วภูมิภาค ผู้ผลิตเหล่านี้ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภค โดยส่งผลไม้ไปทั่วอิตาลีและทั่วยุโรปด้วย

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในซิซิลีคือ "โอกาสในการเพาะปลูกพืชผลใหม่ๆ" Carla Cassaniti อีกหนึ่งเกษตรกรชาวซิซิลี ที่เปลี่ยนหันมาปลูกผลไม้เมืองร้อน กล่าว

“เนื่องจากผลไม้เหล่านี้เป็นผลไม้พื้นเมืองในภูมิอากาศเขตร้อน พวกมันต้องการน้ำในช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูก แต่เมื่อปลูกแล้ว พวกมันก็สามารถต้านทานความแห้งแล้งได้ดี” Cassaniti กล่าว

ช่วงสี่ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบสองศตวรรษในอิตาลี โดยอุณหภูมิสูงสุดในยุโรปอยู่ที่เกือบ 49 องศาเซลเซียสบนเกาะซิซิลีในปี 2564 ขณะที่สภาพอากาศในปีนี้ก็ร้อนแรงเช่นกัน อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 0.67 องศา จากข้อมูลของสภาวิจัยแห่งชาติอิตาลี

ผลไม้จากไทยเป็นอีกหนึ่งแหล่งของผลไม้ส่งออกไปยังตลาดยุโรป

เธอยังเชื่อด้วยว่าการปลูกผลไม้เมืองร้อนสำหรับตลาดอิตาลียังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน โดยการปลูกผลไม้เมืองร้อนในท้องถิ่นเลย ไม่ต้องขนส่งนำเข้าจากประเทศเขตร้อนที่อยู่ห่างไกล

“การบริโภคผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้ากล้วยจากบราซิล หรือประเทศเขตร้อนอื่นๆ” เธอกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related