ผลวิจัยชี้ชัด เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเข้มข้นขึ้นจะทำให้สารอาหารในข้าวลดลง โดยเฉพาะ จากวิตามิน B 4 ชนิด และโปรตีน ธาตุเหล็ก และสังกะสี เสี่ยงทำให้คนหลายล้านต้องประสบภาวะทุพโภชนาการ
ข้าวเป็นแหล่งอาหารหลักของผู้คนมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคณะนักวิจัยนานาชาติ นำโดย Chunwu Zhu สถาบันปฐพีวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเซาท์เทอร์นควีนส์แลนด์ และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า ข้าวที่ปลูกในระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับนั้น จะทำให้ สารอาหารสำคัญในข้าว เช่น วิตามินบี 4 ชนิดจะลดลง ภายในสิ้นศตวรรษนี้
"ข้าวเป็นอาหารหลักมาเป็นเวลาหลายพันปีสำหรับประชากรจำนวนมากในเอเชีย และเป็นอาหารหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในแอฟริกา ดังนั้นการลดคุณภาพทางโภชนาการของข้าวอาจส่งผลต่อสุขภาพแม่และเด็กสำหรับผู้คนหลายล้านคน" ศาสตราจารย์ Kristie Ebi ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว
นักวิจัยได้ทำการศึกษาภาคสนามในจีนและญี่ปุ่นครอบคลุมสายพันธุ์ข้าว 18 สายพันธุ์ ผลของการวิจัยยืนยันว่ารายงานก่อนหน้านี้ว่า สารอาหารในข้าวที่ปลูกภายใต้สภาวะที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น จะลดคุณค่าของสารอาหาร เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก และสังกะสีในข้าว ลงอย่างเห็นได้ชัด
โดยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นนี้ ภายในปลายศตวรรษที่ 21 ค่าเฉลี่ยของวิตามิน B1, B2, B5 และ B9 จะลดลงเช่นเดียวกับสารอาหารอื่นๆ
โดยระดับวิตามิน B1 (ไทอามีน) ลดลง 17.1% วิตามิน B2 (ไรโบฟลาวิน) 16.6% วิตามิน B5 (กรด pantothenic) 12.7% และวิตามิน B9 (โฟเลต) 30.3% อย่างไรก็ตามทีมวิจัยรายงานว่า ระดับวิตามิน B6 หรือแคลเซียมไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ระดับวิตามิน E เพิ่มขึ้นสำหรับสายพันธุ์ส่วนใหญ่
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของวิตามินแล้ว พวกเขารายงานว่าโปรตีนลดลงโดยเฉลี่ย 10.3% ธาตุเหล็กลดลง 8% และสังกะสีลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับข้าวที่ปลูกภายใต้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน
ผลการวิจัยชี้ชัดว่า ปริมาณสารอาหารที่ลดลงของข้าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในประเทศที่ยากจนที่สุดที่ต้องพึ่งพาข้าว โดยผลกระทบต่อโภชนาการจากการคุณค่าทางอาหารที่ถดถอยเพราะผลกระทบโลกร้อนในข้าว จะเห็นชัดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้คนมากกว่า 600 ล้านคน กินข้าวทุกวันเป็นอาหารหลัก
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสารอาหารในข้าวจะส่งจะไม่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อหลายประเทศที่ปลูกข้าวและบริโภคข้าวเท่านั้น แต่พืชพรรณธัญญาหารอื่นๆของโลกก็จะประสบกับปัญหาแบบเดียวกัน
“ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การกินอาหารเสริม หรือหาทางลัดโดยการส่งเสริมพืชจีเอ็มโอซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ แต่อยู่ที่ความพยายามร่วมกันของทั้งโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สร้างระบบเกษตรเชิงนิเวศ และส่งเสริมการบริโภคพืชพรรณธัญญาหารที่หลากหลาย ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” ศาสตราจารย์ Kristie กล่าว