หลังอินเดียระงับการส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และตอนนี้ราคาข้าวสารถุงของไทยก็กำลังดีดตัวขึ้นเช่นกัน วิกฤตราคาข้าวแพงนี้จะยาวนานแค่ไหนกันนะ
ราคาข้าวสารกำลังเหยียบคันเร่งแล้ว หลังอินเดียสั่งระงับส่งออกข้าว เรื่องนี้กระทบไทยอย่างไร และปัจจัยข้าวราคาแพง เป็นเพราะอินเดียอย่างเดียวจริงเหรอ?
เกิดอะไรขึ้น?
ราคาข้าวทั่วโลกกำลังสูงขึ้น กระทบต่อผู้ค้าข้าวทั่วโลก รวมถึงไทยที่เป็นอีกหนึ่งเจ้าหลักที่ส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศ
ทำไมราคาข้าวแพงขึ้นช่วงนี้
เพราะอินเดียแบนการส่งออกข้าว ซึ่งอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนถึง 40% ในตลาดโลก หรือเทียบเป็นการซื้อขายข้าว ปีนึงการซื้อจายข้าวทั่วโลกจะมีประมาณ 55 ล้านตัน อินเดียประเทศเดียวส่งออกแล้ว 22 ล้านตัน แต่อินเดียก็ไม่ได้สั่งแบนข้าวทุกชนิด เหลือไว้คือข้าวพันธุ์บาสมาติ กับข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวพรีเมียมของอินเดีย
ทำไมอินเดียระงับการส่งออก
เบื้องต้นเป็นเพราะว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวเกินหลายล้านตัน ทำให้ราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้น จนทำให้อินเดียมีสต็อกข้าวเยอะมาก และก็ได้นำข้าวสต็อกไปแจกประชาชนฟรี ๆ
แต่มาปีนี้ อินเดียได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมหนัก ซึ่งข้าวในสต็อกก็เริ่มร่อยหรอ บวกกับภัยเอลนีโญก็จะยาวนานขึ้น อินเดียเลยระงับการส่งออกเพื่อดูสถานการณ์ภายในประเทศก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราคามะเขือเทศในอินเดียพุ่ง 450% ผลพวงภัยสภาพอากาศ จนทำภาคเกษตรสั่นคลอน
ภัยแล้งเอลนีโญทำพิษ สินค้าเกษตรลด ส่งออกน้อยป้องกันอาหารในประเทศขาดแคลน
การวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวจากนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ นายเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้วิเคราะห์ว่า การที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว มีส่วนทำให้ราคาข้าวทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด เป็นผลทำให้ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม ปากีสถาน ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวดี เพราะอินเดียไม่ส่งออก
ในประกาศของอินเดีย เค้ามีเงื่อนไขอยู่ว่า หากกรณีบางประเทศร้องขอซื้อข้าว อินเดียก็พร้อมขายให้ เกิดความขัดแย้งและหยุดชะงัก แต่สถานการณ์ก็ยังเงียบอยู่เนื่องจากทุกคนรอดูความชัดเจนของอินเดีย ว่าตกลงจะขายไหม ราคาเท่าไหร่ ถ้าขายไม่แพง ราคาในตลาด ก็จะลดลงมา
หากเราเปรียบเทียบก่อนและหลังอินเดียประกาศแบน ข้าวสารมีราคาอยู่ที่ 17,000 บาทต่อตัน แต่พออินเดียแบนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็ทำให้ราคาข้าวเพิ่มเป็น 22,000 บาทต่อตัน ขึ้นมาประมาณ 5,000 บาทต่อตัน ตกกิโลละ 5 บาทถือว่าเยอะมากภายในเวลาแค่ 3 อาทิตย์
อินเดียแบนส่งออก สร้างความโกลาหลให้กับตลาด
สิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ คือความโกลาหลของตลาด เพราะมันจะเริ่มมีการผิดสัญญากันเยอะมาก ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ
นอกจากนี้ มีความเป็นได้อีกอย่างหนึ่งคือ อินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้ง ราคาข้าวในอินเดียขึ้นค่อนข้างสูง แล้วอินเดียกำลังมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายนปีหน้า เพราะฉะนั้นรัฐบาลอินเดียเอง ก็อาจต้องการที่จะกดราคาข้าวภายในประเทศให้ลดลง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน และเพื่อรักษาคะแนนเสียง
แล้วข้าวในประเทศจะแพงขึ้นไหม?
ข้อที่ 1 เราปลูกข้าวอยู่ประมาณ 34 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) ทอนมาเป็นข้าวสารได้ 20 กว่าตัน ใช้ในประเทศประมาณ 12 ล้านตัน ดังนั้นเราจะเหลือส่งออกได้ 8 ล้านตันต่อปี ปีหน้าผลผลิตอาจลดลงไปบ้าง แต่เราก็ยังมีปริมาณเหลืออยู่ดี
ข้อที่ 2 ราคาจะปรับขึ้นไหม อันนี้ก็ต้องขึ้นกับว่า Demand-Supply ของโลกว่าเป็นยังไง หากเราปลูกได้น้อยลงในปีหน้า พอ Supply มันน้อย ราคาก็จะเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้ทานข้าวแพงมากขึ้นตามความเป็นจริง
ข้าวบริโภคภายใน ในจะมีแบ่งเป็น 2 ตลาด คือ 1 ตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade Market) ก็คือข้าวที่ขายตามซูเปอร์หรือห้าง แบบที่ 2 คือตลอดนอก Modern Trade ก็คือข้าวที่ขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งตอนนี้แบบที่ 2 ราคาปรับขึ้นหมดแล้วนะ แต่ในโมเดิร์นเทรดยังราคาเก่าอยู่ ตามสัญญาที่ Modern Trade ทำกับซัพพลายเออร์ไว้ แต่เดือนหน้าราคาจะปรับขึ้นแล้ว
หากปัจจัยคือรอดูท่าทีของสภาพอากาศ หากเอลนีโญยาวนานขึ้น เราก็ต้องแพงต่อไปเรื่อย ๆ ใช่ไหม
การวิเคราะห์ของอาจารย์วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณวิษณุ ได้วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ข้าวไทยปี 66 ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ คิดว่าผลผลิตที่ออกมาจะไม่กระทบมากจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าฝนเองก็น่าจะมาเท่าค่าเฉลี่ยปกติ
แต่ถ้าเกิดมองต่อไปถึงผลผลิตข้าวนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้าจนถึงประมาณ เมษยน-พฤษภาคม ตรงนี้เป็นจุดใหญ่ที่คาดว่าผลผลิตข้าวไทยจะได้รับผลกระทบ เพราะปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนมาน้อยกว่าปกติ
สิ่งที่ต้องจับตามองคือเอลนีโญ
สิ่งที่ต้องจับตามองที่สุด คือปรากฎการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะทำระดับรุนแรงขึ้นขึ้นในเดือนธันวาคมและจะแรงขึ้นอีกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะเริ่มลดกำลังลง ทีนี้ก็ต้องจับตามองว่า การลดลงจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวมีน้ำเพียงพอหรือเปล่า ถ้าขาดแคลนต่อเนื่องผลผลิตก็จะเสียหาย ราคาข้าวก็อาจจะยังสูงขึ้น
สิ่งที่เป็นห่วง คือราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกดดันทำให้เกษตรกรไทย อยากปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็มีผลบวกและผลลบ ผลบวกก็คือถ้าปลูกข้าวได้มากขึ้น ขณะที่อินเดียระงับการส่งออก ก็จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากราคาข้าวที่สูงขึ้น
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงของข้าวนาปรัง ถ้าเกษตรกรยังคงปลูกข้าวกันอยู่ ข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะมาก และตอนนี้น้ำในเขื่อนมีน้อย เหลือแค่ 22% ของความจุ ราคาข้าวที่ดีอาจดึงดูดให้เกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้น ใช้น้ำมากขึ้น อาจกระทบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้น้ำเหมือนกัน
ล่าสุด ไทยสั่งเบรกขึ้นราคาข้าวสารบรรจุถุงแล้ว เพราะราคาข้าวเปลือกพุ่ง
วันนี้ 17 ส.ค. 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรับมนตรีและรมว.พาณิชย์ เผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกตอนนี้ปรับสูงมาก ส่งผลดีต่อเกษตรกรก็จริง แต่จะทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสารสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งสั่งการให้กรมการค้าภายใน ดูแลกำกับราคาข้าวสารไม่ให้พุ่ง กระทบต่อผู้บริโภค