svasdssvasds

ไทยเจอ "เอลนีโญ" 100% น่าห่วงเขื่อนหลักน้ำเหลือน้อย แนะประชาชนประหยัดน้ำ

ไทยเจอ "เอลนีโญ" 100%  น่าห่วงเขื่อนหลักน้ำเหลือน้อย แนะประชาชนประหยัดน้ำ

สถานการณ์เอลนีโญในไทยน่าห่วง นักวิชาการชี้ เจอเอลนีโญ 100% แล้ว พร้อมชี้แนะประชาชนประหยัดน้ำให้มากที่สุด ปรับแผนการทำเกษตร และรับมือโรคที่จะมาจากร้อนจัด

สถานการณ์เอลนีโญในไทยน่าเป็นห่วง ล่าสุด รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Witsanu Attavanich ระบุว่า เอลนีโญเต็ม 100% ! ร้อนทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง ก.ค. 66 ร้อนที่สุดเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี

โดยนักวิชาการ มองว่า เอลนีโญจะลากยาวถึง ก.ค. 67 โดยจะทำจุดสูงสุดช่วง ธ.ค.66 ส่วนฝนจะลดลงเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าในเดือนที่แล้ว เขื่อนหลักภาคเหนือ และภาคกลางต้องมาลุ้นน้ำเข้าเขื่อน ซึ่งอาจมีโอกาสน้อยกว่าเดิม โดยช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ฝนจะน้อยกว่าปกติในภาคเหนือ กลาง ตะวันตก และใต้ตอนบน ขณะที่ใต้ตอนล่างฝนจะน้อยช่วง พ.ย.66-ก.พ.67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้านองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ชี้ว่า อากาศร้อนทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. 66 โดย ก.ค. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี อุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.12°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.8 °C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกในเดือน ก.ค. สูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0 °C และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.99°C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน  ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปีโดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.40 °C

มาดูสถานการณ์น้ำในไทย  ปัจจุบันพบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 22% ของความจุ เพิ่มขึ้นจาก 17% จากเดือนที่ผ่านมา โดยเขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วง เช่น เขื่อนภูมิพล 14% เขื่อนสิริกิติ์ 15% เขื่อนสิรินธร 18% เขื่อนอุบลรัตน์ 12% เขื่อนศรีนครินทร์ 14% เขื่อนวชิราลงกรณ 28%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีนี้จากการพยากรณ์ล่าสุดภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนานถึง ก.ค. 67 ดังนั้นต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะจะต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อต่อไป

สำหรับแผนการรับมือ นักวิชาการ แนะนำว่าให้เตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาท เพราะอากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด และทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุด ทั้งในเขต และนอกเขตชลประทานเนื่องจากน้ำเหลือน้อยมาก แต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนาน

ภัยแล้งในไทยปี66 น่าเป็นห่วง

อีกทั้งแนะนำว่า ให้ขุดบ่อขนาดเล็ก และสระสาธารณะใหม่เพิ่ม หรือขุดลอกคลอง และสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำ และช่วยลดน้ำท่วมได้ อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มี และทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติ และโรคในพืชและปศุสัตว์ เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ ดังนั้นภาครัฐต้องคุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังให้ดีจากราคาข้าวที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจะปลูกข้าวกันมากขึ้น และการใช้น้ำในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น ทำให้วิกฤตขาดแคลนน้ำสาหัสมากยิ่งขึ้น

ด้านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง  และที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบพิจารณา  (ร่าง)  มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครม. เพื่อทราบ และให้หน่วยงานถือปฏิบัติต่อไป เพื่อทำงานในเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ทันต่อสถานการณ์

ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง

และมาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แบ่งเป็น 1.การใช้น้ำภาคการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ อาทิ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น 2 การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน สทนช. และทุกหน่วยงานภาครัฐ วางแผนลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ และ 3. ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน โดยการปรับรอบเวรการส่งน้ำให้สอดรับกับปริมาณความต้องการน้ำของพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการในตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2566

related