รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ชี้ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67 หลังพบมิ.ย.66 ร้อนสุดในรอบ 174 ปี
โดยรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Witsanu Attavanich” ระบุว่า #อัพเดทน้ำท่วมน้ำแล้ง (16 ก.ค. 66) เสี่ยงเอลนีโญระดับรุนแรง!! มิ.ย. 66 ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โอกาสเกิดเอลนีโญเฉียด 100% และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67 โดยจะทำจุดสูงสุดช่วง พ.ย.-ธ.ค.66 ใต้ เหนือตอนล่าง และกลางตอนบน ต้องเตรียมรับมือภัยแล้งและฝุ่นพิษให้ดี ลุ้นฝนตกเหนือเขื่อนเหนื่อยเพื่อเติมน้ำที่เหลือน้อย อากาศจะร้อนกว่าปกติกันจากนี้ถึงอย่างน้อย เม.ย. 67
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอลนีโญจ่อปากอ่าวไทย เสี่ยงระบบนิเวศแย่ อ.ธรณ์แนะ ทำได้แค่รับมือ-ปรับตัว
“เอลนีโญ” พ่นพิษฟิลิปปินส์ รัฐเร่งให้เก็บน้ำฝนสำรอง ไทยก็ต้องระวัง !
"เอลนีโญ" พ่นพิษทำอาหารสัตว์ขาดแคลน กระทบผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้นทุนพุ่ง
ทั้งนี้ทางองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า มิ.ย. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.05°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.5°C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0°C!! (ภาพที่ 2) และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Ocean) ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.92°C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน (Land) ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.35°C
ขณะเดียวกันองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) (ภาพที่ 3) รายงานว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้นเฉียด 100% ตามที่คาดไว้และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67! (ภาพซ้ายแท่งสีแดง) และงานวิจัยจาก CPC (NOAA) คาดว่ากำลังของเอลนีโญระดับปานกลางขึ้นไป (>1.0 °C) มีความน่าจะเป็นเกิน 70% ขึ้นไป ตั้งแต่ช่วง ส.ค.66-ม.ค.67 (ภาพขวาแท่งสีม่วง) และกำลังของเอลนีโญระดับรุนแรง (>1.5 °C) มีความน่าจะเป็นสูงสุดเท่ากับ 52% ช่วง ก.ย. – พ.ย. 66 (ภาพขวาแท่งสีแดงเข้ม)
และล่าสุด (15 ก.ค. 66) ที่ผ่านมา International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ภาพที่ 4) ได้พยากรณ์ว่าฤดูฝนปี 66 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 65 อย่างมาก โดยช่วง ส.ค.-ต.ค.66 ภาคใต้และตะวันออกตอนล่าง (ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทราตอนล่าง สระแก้วตอนล่าง) ปริมาณฝนจะลดลงเป็นเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติจากเดิมที่คาดว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย (พื้นที่สีเขียว) ในภาคเหนือตอนบน (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) อีสานบางพื้นที่ (บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์) และภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี สระแก้วตอนบน ฉะเชิงเทราตอนบน) ภาคกลาง (สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี)
สำหรับช่วง ก.ย.-พ.ย.66 ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชตอนบน ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีน้ำตาลและเหลือง) หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งเดิมในต้นปีนี้ มีโอกาสกลับมาเผชิญกับฝนน้อยกว่าปกติและภัยแล้งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ต้องระวังให้มาก ขณะที่ช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ปริมาณฝนจะเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในทุกภูมิภาค และท้ายสุดช่วง พ.ย.66-ม.ค.67 ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่นครศรีธรรมชาติลงมา และภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน (พื้นที่สีเหลือง)
สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 17% ของความจุ เขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วง (เขื่อนภูมิพล 17% เขื่อนสิริกิติ์ 8%เขื่อนสิรินธร 12% เขื่อนอุบลรัตน์ 10% เขื่อนศรีนครินทร์ 12% เขื่อนวชิราลงกรณ 11%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีนี้ ดังนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆ ไม่งั้นปี 1-2 ข้างหน้าวิกฤติแน่ ต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตามเตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ อากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีตสโตรก หรือโรคลมแดดกันด้วยนะครับ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกันนะครับ เรามีน้ำเหลือน้อยมาก แต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนาน ขุดบ่อจิ๋วและสระสาธารณะใหม่เพิ่ม ขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและช่วยลดน้ำท่วมได้ อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ ต้องลดการปลูกข้าวนาปรังอย่างจริงจัง เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มีและทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ