การปลูกและส่งออกข้าวของโลกกำลังจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ หลังเวียดนามพลิกการเพาะปลูกข้าวในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ให้เป็นการทำนาแบบคาร์บอนต่ำ ตอบรับกระแสตลาดรักษ์โลก พร้อมประเดิมส่งออก 1 ล้านตัน
ส่องนาคาร์บอนต่ำเวียดนาม
ในขณะที่วงการข้าวไทยกำลังระส่ำกับปัญหาต้นทุนการผลิตแพง การขาดแคลนน้ำ และผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและสภาวะโลกร้อน ล่าสุดเวียดนาม 1 ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่และเป็นคู่แข่งขันของไทย กำลังเร่งพัฒนาการผลิตและส่งออกข้าวที่ล้ำหน้าไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวของเวียดนามในอนาคต ด้วยการหันไปผลักดันการปลูกข้าวแบบคาร์บอนต่ำ รับกับกระแสรักษ์โลก เพื่อตอบโจทย์ตลาดใหญ่อย่าง กลุ่มประเทศอียู สหรัฐ และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมมีการปล่อยก๊าซมีเทนเฉลี่ยราว 48% ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นโลกร้อนรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้เวียดนามได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนระหว่างปี 2021-2030 โดยการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ประกอบด้วย 13 จังหวัด มีผลผลิตข้าวคิดเป็นสัดส่วน 60% ของผลผลิตข้าวโดยรวม และสัดส่วน 90% ของการส่งออกข้าวโดยรวมของเวียดนาม
ทั้งนี้เวียดนามได้เร่งปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice) เพื่อตอบโจทย์ใน 2 เรื่อง
ขณะเดียวกันเวียดนามได้ขับเคลื่อนข้าวคาร์บอนต่ำโดยความร่วมมือจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ นโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชาวนา โดยให้เอกชนเข้ามาช่วย เช่น บริษัท Loc Troi Group สำนักงานโฮจิมินห์เข้ามาทำฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยออร์แกนิค และใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อให้ข้าวมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่บริษัท My Lan Group จัดทำระบบการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับข้าว ทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยลงไปได้ 40-60% ขณะที่เพิ่มผลผลิต 10% และลด GHG ได้ 60% และไปพัฒนาการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ทำให้นาข้าวลด GHG ได้ 40%
“ปัจจุบันเวียดนามได้ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ประมาณ 7 แสนเฮกตาร์หรือประมาณ 4.3 ล้านไร่ได้ผลผลิตออกมาแล้วประมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก (ผลผลิตข้าวเวียดนามประมาณ 1 ตันหรือ 1,000 กก.ต่อไร่) และได้ตั้งเป้าพื้นที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำไว้ที่ 1 ล้านเฮกตาร์ในปี 2030 หมายความว่าเวียดนามจะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ 6.25 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งในอีก 7 ปีข้างหน้าข้าวส่งออกของเวียดนาม 20% จะเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ หรือประมาณ 1 ล้านตัน” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
หันมามองวงการข้าวไทย
รศ.ดร. อัทธ์ กล่าวอีกว่า คาดในปี 2567 เป็นต้นไป เวียดนามจะขายข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือข้าวคาร์บอนต่ำ และข้าวสุขภาพ โดยเวียดนามจะลดปริมาณการส่งออกข้าวลงเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร จากเฉลี่ยส่งออกประมาณปีละ 7 ล้านตัน (มูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) อาจเหลือส่งออก 4 ล้านตัน แต่มูลค่าจะขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท เทียบกับประเทศไทยในปี 2565 มีการส่งออกข้าว 7.71 ล้านตันมูลค่า 1.38 แสนล้านบาท
“ดังนั้น หากไทยไม่ปรับตัวผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ อนาคตความสามารถในการแข่งขันจะลดลง และยังต้องส่งออกข้าวในปริมาณมากและรับความเสี่ยงจากราคาผันผวนต่อไป” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
เขากล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยยังมีการตื่นตัวเรื่องนี้น้อยมาก ที่สำคัญในกระบวนการในการจัดการเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวรักษ์โลกของไทย ยังไม่เป็นองค์รวมทั้งประเทศ ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่ประสานและร่วมมือกันชัดเจน ขาดหน่วยงานรับผิดชอบและรับรองคาร์บอนเครดิตหลักทั้งระบบอุตสาหกรรมข้าว ไม่มีการระบุพันธกิจชัดเจน ระยะเวลาในการสำเร็จ มีข้อจำกัดเรื่องน้ำไม่พอทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ขาดตลาดรับซื้อ และขาดข้อมูลช่องทางในการจำหน่าย ที่สำคัญไม่มีแรงจูงใจให้ชาวนาทำ เพราะไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นชัดเจน
“ทางออกของไทยในเรื่องนี้ รัฐต้องเร่งผลักดันให้เกิดตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อให้เกิดราคาจูงใจที่แตกต่างจากราคาข้าวปกติ ต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดข้าวคาร์บอนต่ำในทุกมิติของการผลิต และต้องมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานข้าวคาร์บอนต่ำ ที่เป็นที่ยอมรับของตลาดยุโรป และสหรัฐฯ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง