ที่พัดเข้ามาเป็นเพียงคลื่นลูกน้อย สึนามิทุนจีนลูกใหญ่กำลังเข้ามาไทย.. หลายคนพูดประโยคใกล้เคียงกันนี้ไว้หลายต่อหลายครั้ง
ถ้าใครติดตามข่าวสารคงเห็นประโยคประมาณนี้อยู่บ่อยๆ และคงไม่พ้นรู้สึกหวาดหวั่นกับอนาคต เพราะถ้าเทียบกันแล้ว ทุนจีนผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า มีต้นทุนมากกว่า แถมมีโมเดลการทำธุรกิจที่เด็ดขาดและเยือกเย็นกว่าธุรกิจไทย
แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ การเข้ามาของทุนจีนไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย (ถ้าเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย) แถมเป็นผลบวกต่อผู้บริโภคเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น คำถามสำคัญมีเพียงแค่ 2 ข้อคือ ภาครัฐไทยจะช่วยผู้ประกอบการในประเทศอย่างไร? และผู้ประกอบการจะปรับตัวเพื่อล้อไปกับคลื่นของทุนจีนอย่างไร?
คำถามข้อแรกเป็นของรัฐบาล แต่คำถามข้อสองบางทีอาจควรรับฟังจาก นุ – พิษณุ พลายดี เจ้าของช่องติ๊กต๊อก ‘อย่างเอาอ่ะจารย์’ นักประดิษฐ์ที่โต้ไปกับคลื่นของทุนจีนด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ และแม้ไม่ถึงกับชนะ แต่เขาก็ไม่พลาดพลั้งเสียท่าจนถูกสึนามิกลืนหายไป
เริ่มต้นจากนายหน้าสินค้าจีน
พ่อค้าออนไลน์หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ‘โต่วอิน (Douyin)’ แพลตฟอร์มวีดีโอสั้นฝาแฝดของติ๊กต๊อก (Tiktok) ที่แตกต่างกันเพียงโต่วอินเป็นแอพลิเคชั่นที่เปิดให้ใช้ในจีนโดยเฉพาะ ขณะที่ติ๊กต๊อกเปิดให้ใช้อย่างสากลทั่วโลก
“คนที่ใช้โต่วอินส่วนมากจะเป็นนักธุรกิจ โหลดมาดูกระแส โหลดมาดูว่ามีสินค้าอะไรน่าขายบ้าง” พิษณุเริ่มเล่า “เพราะถ้าฝั่งนู้น (จีน) ขายอะไรดี ส่วนมากจะขายดีฝั่งนี้ (ไทย) เหมือนกัน เพราะเป็นเอเชียเหมือนกัน”
ในช่วงเริ่มต้น พิษณุเองก็เหมือนกับพ่อค้าออนไลน์หลายคน ที่ท่องไปในโลกของโต่วอินเพื่อตามหาสินค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่มีขายในไทยแล้วพรีออเดอร์มาวางขาย โดยเทคนิคของเขาคือโหลดคลิปวีดีโอจากโต่วอินแล้วมาพากษ์เสียงไทยลงไป ก่อนลองดูท่าทีจากผู้ติดตามในติ๊กต๊อกของตนเอง ถ้าหากมีกระแสตอบรับดี ถึงจะเริ่มนำเข้าสินค้า ทั้งหมดนี้เพื่อลดวามเสี่ยงในการขาดทุน
พิษณุอยู่ในวงจรของธุรกิจแบบรับมาขายไปจนชำนาญ และเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรสินค้า จากเดิมที่เคยขายสินค้าชนิดนึงได้ประมาณ 1 ปีโดยไม่มีคู่แข่ง ระยะเวลามันเริ่มสั้นลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 1 เดือน ซึ่งเขาสรุปว่าสาเหตุมาจาก
“สมัยก่อนสินค้าประเภท รับมา – ขายไป ขายได้เป็นปี แต่ตอนนี้ 1 เดือนยอดก็เริ่มตกแล้ว เพราะทุกวันนี้ ความรู้เต็มยูทูบไปหมด คนก็เลยเข้ามาง่าย ทำให้คู่แข่งเพิ่มทวีคูณเป็นดอกเห็ดเลย” พิษณุกล่าวต่อ “แต่คู่แข่งในประเทศยังไม่น่ากลัวเท่าต่างชาติ สงครามด้านราคาเราสู้โรงงานไม่ได้เลย ไม่รวมคู่แข่งสีเทาที่มาฟอกเงินด้วย เขาจะขายของที่กำไร 1-2 บาท มันก็จะมีกลุ่มพวกนี้อยู่”
แต่ความคุ้นเคยกับสินค้าจากจีนนี่เอง ที่ทำให้เขาบังเอิญพบกับสินค้าชนิดใหม่ ที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง ฉบับที่เรียกว่าผลิตที่จีน แต่ต่อยอดพัฒนาด้วยฝีมือคนไทย
ฮาวทูไฟท์ทุนจีน — ต่อยอดสินค้าจีนด้วยไอเดียไทย
พูดได้ว่าจุดเปลี่ยนของพิษณุเกิดด้วยความบังเอิญ ผสมกับความชอบที่ชัดเจนในเรื่องรถซิ่ง เขาเริ่มต้นด้วยวิธีเดิม สั่งสินค้าหลายชนิดจากจีนมาประกอบกันเป็นที่จับโทรศัพท์รูปร่างคล้ายเบาะรถซิ่ง แล้วลองพ่นสีสินค้าตามคาแรคเตอร์ของโจ๊กเกอร์ (เขียวสว่างและม่วง) ก่อนลองอัพโหลดลงติ๊กต๊อก โดยหวังให้ผู้ติดตามลองทำตาม แต่ผลตอบรับไม่เป็นไปตามคาด
“ตอนแรกเราหวังว่าจะให้ลูกค้าพ่นตามเรา แต่ปรากฎว่าลูกค้าเขาไม่สะดวก บางคนเขาอยู่คอนโดหรืออยู่ในแหล่งชุมชนซึ่งพ่นสีไม่ได้ เขาเลยให้เราพ่นให้แลกกับยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น” พิษณุเล่า
“มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเลย จากที่เคยต้องเปลี่ยนสินค้าทุกเดือน ตอนนี้ยืนระยะมา 5 เดือนแล้ว และมันยังไปต่อได้ แถมคนสนใจไม่ใช่แค่ในประเทศเราอย่างเดียว ยังมีคนฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, อินโดนีเซียที่เข้ามาคอมเมนต์ในติ๊กต๊อกของเรา ทำให้เราคิดว่าคนไทยก็ยืนในเวทีโลกได้เหมือนกัน” พิษณุเล่าต่อ
พิษณุยังไม่หยุดแค่นั้น เขาพัฒนาสินค้าของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ผ่านแนวคิดในการ “แก้ปัญหาให้ลูกค้า” เช่น จากเดิมที่จับโทรศัพท์ต้องติดกับช่องแอร์ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ช่องแอร์หักหากรถกระแทกรุนแรง เขาจึงเปลี่ยนมาใช้โช๊กอัพติดกับบริเวณหน้ารถแทน ซึ่งนอกจากปลอดภัยมากขึ้น ยังดูดีและมี “แฟชั่น” มากขึ้นขึ้น
“ปรากฎว่ากระแสตอบรับมันเวิร์ก หนึ่งมันไม่มีใครทำ สองไม่ต้องกลัวช่องแอร์ลูกค้าหัก สามเราปรับจากที่วางมือถือเป็นแฟชั่น พอเราจับจุดได้ สมองเราเปิดโล่งเลย” พิษณุเล่าถึงการพัฒนาต่อยอดสินค้าของตัวเองด้วยไอเดียความหลงไหลในรถซิ่ง
ทริคเล็กน้อยที่พิษณุเพิ่มเติมให้เราฟังคือ การมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เขารู้ดีว่าคนไทยและต่างประเทศจำนวนมากได้อิทธิพลจากภาพยนต์ Fast and Furious และหันมานิยมการแต่งรถกันมาก โดยเฉพาะในไทยที่มีการแต่งตั้งแต่รถกระบะขนผัก เรื่อยไปจนถึงรถสิบล้อ
“ลูกค้าผมคือกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว แม่น้องออนิวส์, รถขนผัก, รถคอก, รถแบคโฮ, รถสิบล้อ ลูกค้าผมทั้งนั้น จนปัจจุบันคนกลุ่มนี้กลายเป็นนายหน้าให้ผมด้วย ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ผลงานเราสร้างรายได้ให้คนอื่น” พิษณุกล่าว
ควบคู่กันไปนั้น เขายังให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้า เช่น ในช่วงฤดูฝนที่ไม่สามารถพ่นสีได้ เขายอมส่งสินค้าที่มีตำหนิให้แก่ลูกค้าโดยไม่คิดเงิน แลกกับการที่ลูกค้าไม่ต้องรอนานและรักษาฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นเอาไว้
“บางทีเรายอมขาดทุนกับชิ้นนี้ แต่ในอนาคตเขาอาจมาซื้อสินค้าเราในวันข้างหน้าก็ได้ เพราะถ้าสินค้าดีเราไม่โกหกเขา เขาจะเป็นลูกค้าประจำของเรา ดีกว่าหาลูกค้าใหม่ๆ ไปตลอดเวลา“ พิษณุสะท้อน
เราถามทิ้งท้ายในประเด็นนี้แก่พิษณุว่า ไม่กลัวหรือ ถ้าจีนจะมาก็อปสินค้าที่ตัวเองทำ?
"ปกติจีนจะก็อปอเมริกา แต่ถ้าจีนก็อปไทย ผมถือว่าประสบความสำเร็จนะ เราต้องเข้าใจว่าการที่มีคนทำตามเราในธุรกิจ เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณจะขายของออนไลน์ คุณหนีไม่พ้นแน่อน" พิษณุตอบด้วยรอยยิ้ม
เป้าหมายอันไม่ห่างไกล
สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเช่นพิษณุ เป้าหมายของเขาไม่ได้ห่างไกลและซับซ้อน และมันมีเพียง 2 ข้อเท่านั้น
ข้อแรก ติดฉลาก Made in Thailand บนสินค้า ในปีหน้า พิษณุมุ่งมั่นจะจดทะเบียนตั้งบริษัท แล้วจะยื่นขอลิขสิทธิ์สินค้าให้ถูกต้องทั้งหมด เพราะเขาเคยมีบทเรียนกับตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ถูกพ่อค้ารายอื่นในโลกโซเชียลมีเดียดูดวีดีโอที่เขาทำและนำไปโปรโมตสินค้าของตัวเอง จนเกิดการฟ้องร้องกัน ก่อนจบด้วยชัยชนะของเขา
“สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดคือติดคำว่า ‘Made in Thailand’ บนสินค้าของผมเอง มันจะเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผมเลย” พิษณุกล่าว
ข้อสอง ผันตัวเป็นนักลงทุน ในระยะยาว พิษณุหวังว่าตัวเองจะมีเงินสักก้อน แล้วผันตัวจากนักธุรกิจกลายเป็นนักลงทุน ซึ่งถ้าวันนั้นมาถึง พิษณุยินดีที่จะมอบความรู้ในการทำสินค้าทุกอย่างให้แก่ผู้ที่สนใจ
“เป้าหมายผมคือ อยากได้เงินหนึ่งก้อนเพื่อย้ายจาก SME ไปเป็นนักลงทุน และถ้าสมมติ ผมได้เงินมาแล้วสินค้ามันยังไปได้ต่อ ใครมารับช่วงต่อผมก็ได้นะ ผมไม่มีกั๊ก ขอแค่มาถามก่อน” พิษณุกล่าวต่อ “แต่ขอนิดนึง ให้เครดิตความเป็นคนไทยและร้านนิดนึง”
ฝากถึงรัฐบาลและ ‘คนที่อยากเป็นนายตัวเอง’
ในฐานะผู้ประกอบการ SME และคนไทยคนนึง พิษณุมองเห็นทั้งโอกาสและความท้าทายจากการเข้ามาของทุนจีน เขาเชื่อว่าเราไม่ควรไปฝืนกระแสของธรรมชาติ แต่ควรล่องไปกับกระแสและต่อยอดไปด้วยกันกับมัน
“อย่าฝืนธรรมชาติให้ไหลไปตามเขา เหมือนเราเล่นเสิร์ฟ ถ้าเราอยู่หลังคลื่นเราก็หงายท้อง แต่ถ้าเราอยู่หน้าคลื่น ซัดแปปเดียวเราก็ถึงฝั่ง เวลาผมทำอะไรจะไม่ฝืนธรรมชาติ ผมจะยอมรับก่อนว่ามันเป็นแบบนี้ เหมือนถ้าเราอยากมีความรักเราต้องยอมรับว่าสักวันเราอาจจะอกหัก และถ้าทำธุรกิจมันไม่เวิร์คต้องมีแผน 2 แผน 3” พิษณุกล่าว
สิ่งที่พิษณุอยากฝากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยมีทั้งหมด 3 ข้อ
ข้อแรก เป็นด่านหน้าให้ผู้ประกอบการ เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ทุนจีนเข้ามาโดยตรง แต่มองว่าทุนจีนควรเข้ามาโดยผ่านตัวกลางที่เป็นคนไทย เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์จากกระแสทุนจีนที่เข้ามาบ้าง
ข้อสอง ปรับดอกเบี้ยให้ถูกลงสำหรับผู้ที่กู้เพื่อทำธุรกิจ เขายกประสบการณ์ตัวเองที่เคยติดหนี้กว่า 700,000 บาทจนติดเครดิตบูโร ดังนั้น เขาอยากให้รัฐบาลลดดอกเบี้ยพิเศษให้สำหรับผู้ที่กู้เพื่อทำธุรกิจ เพราะปัจจุบัน คนไทยก็มีทุนน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีดอกเบี้ยสูง ยิ่งทำให้ขยายกิจการยากยิ่งขึ้น
ข้อสาม ลงทุนกับเด็กรุ่นใหม่ พิษณุชวนให้เรามองดูสิ่งของรอบตัวว่ามีอะไรบ้างที่เป็นแบรนด์ไทย และในเมื่อแทบไม่มี สิ่งที่เราทำได้ในเฉพาะหน้าจึงมีเพียงใช้ไอเดียต่อยอดสินค้าที่มีอยู่แล้ว ส่วนในอนาตต ถ้ารัฐบาลลงทุนกับคนรุ่นใหม่ เราอาจจะได้เห็นนวัตกรรมไทยสู่สายตาคนทั่วโลกบ้าง
“ตอนนี้อยากให้ใช้ไอเดียต่อยอดสินค้าไปก่อน จนผู้ใหญ่ลงทุนกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ประเทศไทยอาจผลิตเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมออกไปสู้กับโลกได้ ถ้าเราไปกีดกันมันจะเหมือนกั๊กประเทศอื่น ดังนั้น เราพัฒนาบ้านเราให้รุกประเทศอื่นดีกว่า เปิดแข่งกันเลย คนบ้านเราจะได้ตื่นตัว” พิษณุกล่าว
พิษณุทิ้งท้ายเรื่องทุนจีนไว้อย่างน่าสนใจ เขาย้ำอยู่หลายครั้งว่าคนไทยยังได้เปรียบเพราะเมืองไทยคือ “บ้านเกิดเมืองนอนของเรา” ผู้ประกอบการยังคุ้นเคยกับรสนิยมคนไทยมากกว่าและรู้ว่าสิ่งที่คนไทยต้องการคืออะไร เพียงแต่คนไทยอาจต้องใส่ไอเดียลงไปให้มากขึ้นเท่านั้น
“จีนประกาศจะเป็นแหล่งผลิตโลก ซึ่งถ้าเราต้านทานไม่ได้ เราก็ต้องเข้าร่วมอย่างมีศิลปะ สิ่งที่เราทำได้คือเอาสิ่งที่เขาผลิตมาต่อยอด ใส่ไอเดียลงไป อยากให้ทุกคนที่มีไอเดีย อย่าเพิ่งท้อ” พิษณุกล่าวทิ้งท้าย