กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์ สำหรับป้ายรับทำพาสปอร์ตแปลงสัญชาติภาษาจีนที่ตั้งอยู่ในย่านห้วยขวาง แม้ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่จะสั่งปลดป้ายดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีหลายคำถามที่ชวนคิดต่อซ่อนอยู่ในนั้น
หนึ่งคำถามในนั้นคือ ข้อความในป้ายดังกล่าว สะท้อนอะไรออกมาบ้าง?
เพราะทุกการสื่อสารย่อมต้องผ่านกระบวนการคิดและออกแบบมาแล้ว ผู้รับสารคือใคร พวกเขามองหาอะไร เพื่อให้การสื่อสารประสบความสำเร็จมากที่สุด
ทำไมคนจีนอยากเปลี่ยนสัญชาติ?
เมื่อปี 2018 สำนักข่าว Economist ได้ประเมินไว้ว่า ในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาคนจีนออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2020 คาดว่าจะสูงถึง 200 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากรจีนทั้งหมด
ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวจีนอพยพชี้ว่า สาเหตุที่คนจีนสนใจเปลี่ยนสัญชาติมาจากเหตุผล 4 ประการ
ข้อแรก โอกาสทางการศึกษา ชาดาชี้ว่าจีนยังคงมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญาและชื่อชั้นมหาวิทยาลัย ดังนั้น ในสังคมจีนจึงมีการแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย Top 5 ในระดับที่สูงมาก แต่หากเป็นเด็กสัญชาติอื่นจะง่ายขึ้นมากในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ
“มีบางคนที่เอาลูกมาเรียนที่ไทยตอน ม.ปลาย แล้วกลับไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ในจีนด้วยโควตาคนต่างประเทศ หรือตอนเราเรียนอยู่ที่จีนก็มีเพื่อนคนนึงสัญชาติแอฟริกา แต่หน้าจีน เขาบอกแม่ไปลงทุนนี่แล้วได้สัญชาติ เลยเข้ามาเรียนที่นี่ได้” ชาดาเล่า
ข้อสอง โอกาสทางเศรษฐกิจ ชาดาชี้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว และการย้ายสัญชาติมีข้อดีทางด้านภาษีและโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ
“เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของเขา อย่างเวลาเราไปจีน เขาก็มักถามว่ามีโอกาสมาเปิดธุรกิจในเมืองไทยได้ไหม เพราะคนจีนมักมองว่าทุกอย่างเป็นช่องทางการค้าของเขาหมดอยู่แล้ว เขาทำทำธุรกิจกันจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” ชาดากล่าว
ข้อสาม กฎหมาย ชาดาชี้ว่าคนจีนบางกลุ่มก็เหน็ดหน่ายกับกฎที่เข้มงวดของประเทศตัวเอง เช่น ทุก 90 วันต้องไปรายงานตัวและตอบคำถามที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ทำให้คนจีนกลุ่มนี้รู้สึกเสียเวลาและอยากย้ายสัญชาติ
ข้อสี่ การเมือง ชาดาระบุว่าคนจีนบางกลุ่ม โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้และห่างไกลจากตัวเมือง ไม่นิยมในพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะรู้สึกว่าเหมือนถูกล้างสมอง คนกลุ่มนี้มักนิยมมองหาโอกาสใหม่ในโลกที่ดีกว่า ซึ่งกลุ่มนี้ก็มักมาอาศัยอยู่ในเขตห้วยขวางนั่นเอง
มองความสัมพันธ์จีนกับสี่ประเทศในป้าย
สัญลักษณ์ที่เห็นเด่นชัดในป้ายข้อความดังกล่าวคือ พาสปอร์ตของ 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, วานูอาตู, กัมพูชา และตุรกี จึงน่าสนใจว่าทำไมบริษัทถึงเลือกหยิบประเทศเหล่านี้ขึ้นมาใส่ไว้ในแผ่นป้ายโฆษณา
อินโดนีเซีย ล่าสุดทางการอินโดเพิ่งประกาศจะเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขึ้นอีก 100 - 200% เพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ สะท้อนการตอบโต้การรุกคืบของสินค้าจีน อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียนับเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของเมกะโปรเจคท์ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road)’ โดยเมื่อปี 2013 สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนได้ประกาศนโยบาย ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ ที่จะเชื่อมท่าเรือในจีนเข้ากับท่าเรือทั่วโลก รวมถึงท่าเรือในอินโดนีเซีย
สอดคล้องกับ ตุรกี ที่ถึงแม้จีนยังไม่ได้เข้าไปลงทุนค้าขายด้วยมากนัก แต่ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียเข้ากับยุโรป ตุรกีจึงเป็นหนึ่งในหมุดสำคัญของนโยบาย One Belt, One Road ในส่วนเส้นทางสายไหมทางบก
หรือสรุปได้ว่า สำหรับคนจีน อินโดนีเซียและตุรกีเป็นสองประเทศที่น่าลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในอนาคต
วานูอาตู หากจำกันได้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกค้นบ้านของ เซา เซียนโป ‘จีนเทา’ ผู้เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายประประการ และพบว่าเซา เซียนโปมีพาสปอร์ตอยู่ 2 สัญชาติคือ จีนและวานูอาตู
วานูอาตูเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค โดยเป็นประเทศขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมจากโครงการ ‘Vanuatu Citizenship Program’ ซึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคเงินทั้งสิ้น 130,000 ดอลลาร์แก่รัฐบาลเพื่อแลกกับการได้รับสัญชาติแก่ผู้บริจาคและครอบครัว โดยข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า ในปี 2020 มีชาวจีนราว 1,200 คนจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมดที่ 2,200 คน ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวของรัฐบาลวานูอาตู
แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้ามันไม่สอดรับกับข้อมูลจาก BBC Thai ที่ระบุถึงอันดับการถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติในไทยปี 2564 ซึ่งพบว่า ชาวจีนครองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และรองลงมาคือชาววานูอาตู
กัมพูชา เว็บไซต์ The Phnom Penh Post เปิดเผยข้อมูลจากธนาคารกลางกัมพูชาว่า ในไตรมาสแรกของปี 2568 นักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากที่สุด โดยคิดเป็น 45% ของเงินลงทุนทั้งหมดจากต่างประเทศ หรือประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,631 พันล้านบาท) ยังไม่นับการให้ท้ายจากรัฐบาลกัมพูชา ที่เปิดให้นักลงทุนจีนสามารถเข้ามาเช่าที่ดินและลงทุนได้อย่างเสรีในหลายเมือง โดยเฉพาะสีหนุวิลล์ที่ถูกทิ้งให้รกร้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในรายงานของ United States Institute of Peace (USIP) ยังระบุว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางของธุรกิจสแกมเมอร์ร่วมกับเมียนมาและลาว จากรายงานยังระบุว่าแกงค์สแกมเมอร์ส่วนมากเป็นแกงชาวจีนที่ถูกรัฐบาลจีนต้อนออกจากประเทศเรื่อยๆ จนมาจบในที่นี่ในที่สุด
สุทธิสาร – จีนเทา – คอรัปชั่น
ถึงแม้ล่าสุดจะมีปลดป้ายดังกล่าวลงแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามต่อเนื่องว่า การโฆษณาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกลุ่มจีนเทาและการคอรัปชั่นของข้าราชการไทยหรือไม่?
ชาดาเริ่มต้นอธิบายว่า ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สุทธิสาร (บริเวณติดป้ายดังกล่าว) เป็นชาวจีนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากเมืองเล็กๆ ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจไม่สูง และเขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการซื้อสัญชาติ ไม่ว่าทางไหนก็ตาม
ชาดาเห็นด้วยว่าโฆษณาดังกล่าวคือการปลอมเอกสารราชการของประเทศอื่น โดยใช้ไทยเป็นสนามในการซื้อขาย ซึ่งถ้าหากเกิดเรื่องขึ้นอาจนำไปสู่คำถามต่อมาว่า ประเทศไทยปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมันมีการคอรัปชั่นของระบบราชการเกิดขึ้น
และถ้าหากปล่อยไป.. อาจเกิดกรณีเหมือนจีนเทาขึ้นอีกก็เป็นไปได้