svasdssvasds

เปิดเงื่อนไข "ขอสัญชาติไทย" พาสปอร์ตไทยซื้อได้? หลังธุรกิจจีนย้ายประเทศ

เปิดเงื่อนไข "ขอสัญชาติไทย" พาสปอร์ตไทยซื้อได้? หลังธุรกิจจีนย้ายประเทศ

การที่คนต่างด้าว หรือต่างประเทศ มาอยู่เมืองไทยแล้วอยากได้สัญชาติไทยเป็นคนไทยนั้นสามารถทำได้จริง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

SHORT CUT

  • ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะต้องพบเจอกับอุปสรรคในเรื่องต่างๆ ทั้งการขอยืดระยะเวลาอยู่ในประเทศไทย
  • ธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยราบรื่น และไม่เจอกับอุปสรรคคือการแปลงสัญชาติเป็นคนไทย
  • ระเบียบใหม่กำหนดให้ชาวต่างชาติที่ต้องการขอสัญชาติไทยจะต้องมีทักษะด้านภาษาไทย โดยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้

การที่คนต่างด้าว หรือต่างประเทศ มาอยู่เมืองไทยแล้วอยากได้สัญชาติไทยเป็นคนไทยนั้นสามารถทำได้จริง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดเผยและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนเชิญชวนซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ ซึ่งมีทั้ง อินโดนีเซีย, วานูอาตู, กัมพูชา และตุรกี พร้อมรับประกัน 30 วันได้สัญชาติทันที ปลอดภัยเป็นความลับ และรับสมัครตัวแทนทั่วโลก อยู่บริเวณกลางสี่แยกห้วยขวาง ถ.รัชดาภิเษก

ป้ายโฆษณาภาษาจีนเชิญชวนซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้ทราบถึงกรณีที่เป็นกระแสข่าว ได้สั่งการให้มีการนำป้ายโฆษณาดังกล่าวลงทันทีในช่วงเช้าที่ผ่านมา พร้อมได้กำชับให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ว่าป้ายโฆษณาดังกล่าวได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าของผู้โฆษณาประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายหรือไม่ และนำข้อเท็จจริงที่ได้ทั้งหมดเปิดเผยให้ประชาชนทราบอย่างโปร่งใส

หากพบมีการกระทำที่ผิดกฎหมายให้เร่งสอบขยายผลไปถึงต้นตอผู้กระทำผิดและลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด 

การได้มาซึ่งสัญชาติไทย ของคนไทยภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย

หลักการมี 2 ลักษณะใหญ่คือ 

  • ได้สัญชาติโดยการเกิด แบ่งเป็น 2 กรณี 
  1. ได้โดยหลักสายโลหิต คือ บิดาหรือมารดาผู้ให้กำเนิดเป็นผู้มีสัญชาติไทย ในขณะที่บุตรเกิดทั้งเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
  2. ได้โดยหลักดินแดน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักร โดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวจำแนกได้ หลายกรณี เช่น

        1.2.1 บิดา มารดา มีถิ่นพำนักถาวรในราชอาณาจักร (มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่) บุตรเกิดในราชอาณาจักรจะได้ สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด
        1.2.2 ถ้าบิดามารดาไม่มีถิ่นพำนักในราชอาณาจักร (มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่) บุตรเกิดในราชอาณาจักรจะได้ สัญชาติไทยต่อเมื่อต้องยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

  • ได้สัญชาติไทยโดยกระบวนการของกฎหมาย ได้แก่ “การยื่นเรื่องและพิจารณา” ของบุคคลนั้น

แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

  1. ภรรยาคนต่างด้าวขอถือสัญชาติตามสามีไทย
  2. คนต่างด้าวขอแปลงสัญชาติเป็นไทย
  3. คนต่างด้าวขอกลับคืนสัญชาติ (คนสัญชาติไทยสละสัญชาติเพื่อสมรสกับคนต่างด้าว/คนสัญชาติไทยเสียสัญชาติตามบิดามารดาก่อนบรรลุนิติภาวะ)

ทั้งนี้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะต้องพบเจอกับอุปสรรคในเรื่องต่างๆ ทั้งการขอยืดระยะเวลาอยู่ในประเทศไทย การเปิดบริษัท การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยราบรื่นขึ้น และไม่เจอกับอุปสรรคเหล่านี้อีกคือการแปลงสัญชาติเป็นคนไทย

การได้มาซึ่งสัญชาติไทย ของคนไทยภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย

กฎหมายและระเบียบการขอสัญชาติไทยปี 2566

ผู้ประสงค์จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายประเทศไทย (อายุ 20 ปี) และกฎหมายที่ผู้สมัครมีสัญชาติ
  2. ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย โดยมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร
  3. อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี จากวันที่ระบุไว้ในใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือทะเบียนราษฎร
  4. มีอาชีพสุจริต โดยมีใบอนุญาตทำงาน/หนังสือรับรองการประกอบอาชีพที่ออกโดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยมีรายได้ขั้นต่ำดังนี้
  • กรณีที่ผู้สมัครไม่มีความสัมพันธ์ใดกับประเทศไทย จะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 80,000 บาท/เดือน
  • กรณีที่ผู้สมัครมีคามสัมพันธ์กับประเทศไทย เช่นแต่งงานกับชาวไทย หรือมีบุตรที่มีสัญชาติไทย หรือจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันศึกษาในประเทศไทย จะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท/เดือน

    5. มีหลักฐานการจ่ายภาษีเงินได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี

    6. มีความประพฤติดี โดยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

    7. มีความรู้ด้านภาษาไทย (สามารถร้องเพลงชาติไทย และเพลงสรรเสริญพระบารมีได้)

ปรับกฎกระทรวงใหม่ ให้ชาวต่างชาติต้องสอบภาษาไทยเพื่อให้ได้สัญชาติ 

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับปรับปรุง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แบบการขอสัญชาติไทย การแปลงสัญชาติเป็นไทย การสละสัญชาติไทย การกลับคืนสัญชาติไทย และค่าธรรมเนียม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 

ระเบียบใหม่นี้กำหนดให้ชาวต่างชาติที่ต้องการขอสัญชาติไทยจะต้องมีทักษะด้านภาษาไทย โดยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอสัญชาติจะต้องผ่านการทดสอบภาษาไทยจากคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการไตร่ตรองด้านสัญชาติ หรือจะต้องมีเอกสารรับรองจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง ว่าผู้ยื่นขอสัญชาติได้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประถมจากโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้สมัครขอสัญชาติเพียงแค่ต้องสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีกำหนดว่าต้องผ่านการทดสอบ

สถานที่ยื่นใบสมัครเพื่อขอสัญชาติไทย, แปลงสัญชาติเป็นไทย, สละสัญชาติไทย และกลับคืนสัญชาติไทย

  • ผู้สมัครที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรในกทม. สามารถยื่นเอกสารได้ที่กรมการปกครอง
  • ผู้สมัครที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรในต่างจังหวัด สามารถยื่นเอกสารได้ที่จังหวัด
  • ผู้สมัครที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศสามารถยื่นเอกสารได้ที่สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศนั้นๆ 

เอกสารที่ใช้ในการยื่นใบสมัคร

  • หญิงต่างชาติที่แต่งงานกับสามีชาวไทยที่ต้องการยื่นขอสัญชาติไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช.1 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบทะเบียนสมรส และรูปถ่าย เป็นต้น
  • ชาวต่างชาติที่ต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช.2 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่าย หลักฐานการทำงาน หลักฐานวุฒิการศึกษา เป็นต้น
  • ผู้ที่ต้องการยื่นสมัครขอแปลงสัญชาติให้กับชาวต่างชาติที่เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้เยาว์ หรือผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีสัญชาติไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช. 3 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล หรือหลักฐานการเป็นผู้ไร้ความสามารถ

ค่าธรรมเนียมการแปลงสัญชาติเป็นไทย

  • ค่าธรรมเนียมการแปลงสัญชาติเป็นไทยสำหรับผู้ใหญ่ 10,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการแปลงสัญชาติเป็นไทยสำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้แปลงสัญชาติ 5,000 บาท จากเดิม 2,500 บาท
  • ค่าหนังสือรับรองแปลงสัญชาติเป็นไทย 1,000 บาท จากเดิม 500 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการกลับคืนสัญชาติไทย ครั้งละ 2,000 บาท จากเดิม 1,000 บาท 

ระยะเวลาในการตรวจสอบและพิจารณาเอกสารจะต้องอยู่ภายใน 90 วัน และในกรณีที่มีการยื่นใบสมัครในต่างประเทศ จะใช้เวลาไม่เกิน 120 วัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สามารถขอยืดเวลาพิจารณาเอกสารได้สองครั้ง แต่ละครั้งจะต้องไม่เกิน 30 วัน หากมีเหตุผลที่เหมาะสม 

ด้านพล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2 โฆษก สตม. เปิดเผยถึงการซื้อขายหนังสือเดินทางทั้ง 4 สัญชาติ ทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายไทยหรือไม่ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า หนังสือเดินทาง คือเอกสารรับรองการมีตัวตนในสัญชาตินั้นๆ ซึ่งบุคคลนั้น ต้องได้เป็น บุคคลที่เป็น Citizen ของชาตินั้นๆก่อน

ดังนั้น ในกรณีนี้ ต้องดูว่า รัฐบาลทั้ง 4 สัญชาติ ยินยอมให้บุคคลต่างชาติใช้สัญชาติของประเทศตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของประเทศนั้นๆ เราคงไม่สามารถชี้แจงแทนประเทศนั้นๆ ได้ และการซื้อขายหนังสือเดินทางตามที่กล่าวอ้าง ก็ต้องหมายถึง การซื้อสัญชาตินั้นด้วย จึงจะออกหนังสือเดินทางชาตินั้นๆได้ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐบาลชาติดังกล่าวอีก ว่า สามารถอนุญาตให้ซื้อขายได้จริงหรือไม่ ?

ส่วนการโฆษณาเช่นนี้ ผิดกฎหมายหรือไม่ พล.ต.ต.เชิงรณ กล่าวว่า ประเด็นนี้ ต้องดูว่า การโฆษณานี้นั้น เข้าลักษณะหลอกลวงหรือไม่ เช่น พอมีลูกค้าจ่ายเงินแล้ว แต่ไม่มีการรับบุคคลนั้นเป็น citizen หรือ ไม่สามารถทำหนังสือเดินทางให้ได้จริง ก็อาจเข้าข่ายการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ และฉ้อโกงตามแต่พฤติกรรมที่ปรากฏ

ซึ่งต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ หรือ กรณีออกหนังสือเดินทางปลอมให้ ก็เข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร ฯ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดต้องดูตามข้อเท็จจริง ส่วนการขึ้นป้ายสาธารณะนั้น เป็นกฎหมายที่มีหน่วยงาน เขตพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยตรง กำกับควบคุมดูแลและอนุญาตติดตั้ง ต้องให้หน่วยงานนั้นชี้แจงในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้การเผยแพร่จำหน่ายหนังสือเดินทาง ลักษณะดังกล่าวมีข้อสงสัยว่า บุคคลที่ต้องการซื้อหนังสือเดินทางสัญชาติอื่น ทั้งที่ตนมีสัญชาติอยู่แล้ว มีเจตนาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้มอบหมายฝ่ายสืบสวนทำการตรวจสอบกับสถานกงสุล และสถานทูตทั้ง 4 สัญชาติดังกล่าว ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อขยายผลต่อไป หากพบว่ามีเจตนาที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทำผิดกฎหมาย จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. เปิดเผยว่า การซื้อขายสัญชาติมีอยู่จริงในโลก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีประชากรน้อย และเชิญชวนชาวต่างชาติไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้น ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศ

แต่สำหรับในประเทศไทย ยืนยันว่าไม่มีการซื้อขายสัญชาติแบบนี้แน่นอน และกรณีที่เกิดขึ้นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการซื้อขายจริงหรือไม่ หรือหากมีการกระทำจริง จะเข้าข่ายความผิดทางกฎหมายของไทยในข้อไหน จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

ที่มา : Siam Legal , กระทรวงมหาดไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related