SHORT CUT
Temu หนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนที่มีดีกรีน่าสนใจ เนื่องจากได้บุกตีตลาดสหรัฐฯได้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปเป็นคู่แข่งขันกับ Walmart, Amazon ด้วยราคาที่ต่ำกว่ามาก ชวนมาทำความรู้จักว่า Temu ทำอะไรบ้าง
Temu คือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เน้นขายสินค้าราคาถูก จัดส่งโดยตรงจากผู้ผลิตในจีน ปัจจุบันได้ขยายไปแล้วกว่า 49 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ซึ่งสินค้าที่ขายบนเทมู มีหลากหลายประเภท ตั้งแต่ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเราอยากชวนมาทำความรู้จัก Temu ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
Temu เริ่มก่อตั้งขึ้นภายในปี 2022 ภายใต้บริษัท PDD Holdings หรือ Pinduoduo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในจีน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Shopee, Lazada และ TikTok Shop รวมถึงอาจส่งผลกระทบกับ SME รายย่อยในไทยด้วย
Temu ใช้สโลแกน “Shop like a billionaire” ที่ทำให้ลูกค้าทุกคนสามารถซื้อสินค้าได้ราวกับตัวเองเป็น "มหาเศรษฐี" โดยเน้นไปที่สินค้า "ราคาถูก" และส่งตรงจากโรงงาน (Direct to Consumer) เรียกได้ว่า ซื้อ 1 ชิ้น ก็สามารถจ่ายในราคาส่งได้เลย
Temu เน้นการจำหน่ายสินค้าแบบไม่มีแบรนด์ (No Brand) เน้นราคาถูกเป็นหลัก ไม่ได้เน้นตัวคุณภาพสินค้า และยังใช้กลยุทธ์การสั่งซื้อแบบกลุ่ม (Group Buying) เพื่อลดต้นทุนและประหยัดค่าขนส่งได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Temu ขายสินค้าได้ถูกกว่าคู่แข่ง
Temu ยังได้ใช้กลยุทธ์ในการตัดราคาคู่แข่งด้วยการจัดโปรโมชั่นลดสูงสุดถึง 90% และยังสามารถจัดส่งได้เร็วภายใน 4-9 วัน (Door to Door Delivery) การันตีสามารถคืนเงินได้ภายใน 90 วันด้วย
ปัจจุบัน Temu ได้มียอดขายรวมกว่า 14,000 ล้านบาทต่อเดือน ยอดเข้าชมเว็บไซต์รวมแล้วกว่า 502 ล้านครั้ง มีจำนวนแอคเคาท์กว่า 467 ล้านคน ยอดดาวน์โหลดแอปฯ Temu ทั่วโลกรวม 165 ล้านครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากจีนที่เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยนอกเหนือจาก 49 ประเทศทั่วโลก
ความสำเร็จของ Temu ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมกับแอปฯของ Temu เหนือกว่าคู่แข่ง โดยผู้ใช้ Temu ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 22 นาทีต่อวันบนแอป เทียบกับ 11 นาทีบน Amazon และ 12 นาทีบน Shein
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Temu และคู่แข่งอย่าง Shein ที่กำลังเผชิญหน้ากันในสงครามทางกฎหมายที่ดุเดือด โดยทั้งสองบริษัทต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นๆ
ทั้งสองบริษัทต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งคัดลอกภาพถ่ายและออกแบบผลิตภัณฑ์ Temu ยังได้กล่าวหาว่า Shein ใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อกดดันซัพพลายเออร์ไม่ให้ทำงานร่วมกับ Temu
ทั้งสองบริษัทต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งข่มขู่คู่ค้าทางธุรกิจ สงครามระหว่าง Temu และ Shein เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดอีคอมเมิร์ซ การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและการแข่งขันที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมนี้
Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจ ด้วยสินค้าราคาถูกและหลากหลาย แต่ลูกค้าควรระมัดระวังและทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของแพลตฟอร์มนี้ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การคืนสินค้าล่าช้า, คุณภาพสินค้าไม่ดีพอสำหรับการใช้งานจริง
ที่มา : banklinko , businessofapps, statista, Nikkei Asia, The Low Down, Pandaily, ZDNet