svasdssvasds

นักวิจัยอิสระชี้ คะแนน PISA ไม่มีทางดีขึ้น ถ้ายังสนับสนุนแค่เด็กเรียนเก่ง

นักวิจัยอิสระชี้ คะแนน PISA ไม่มีทางดีขึ้น ถ้ายังสนับสนุนแค่เด็กเรียนเก่ง

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ ชี้ "ไม่มีทางที่คะแนน PISA จะดีขึ้นได้ ถ้าเราพอใจกับเด็กเก่งแค่หยิบมือเดียว และละเลยเด็กส่วนใหญ่ที่ยังต้องการการสนับสนุน"

สืบเนื่องจากกรณีผลสอบ PISA เด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำทั้ง 3 ด้าน ซึ่งแพ้ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทย

ทีมข่าว SPRiNG สัมภาษณ์พิเศษ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ที่ติดตามประเด็นดังกล่าว โดยเธอระบุว่า คะแนน PISA ของเด็กไทยแย่ลงตั้งแต่ปี 2018 แล้ว แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 คะแนนเลยยิ่งร่วงหนักเข้าไปอีก

“คะแนนทุกประเทศตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์”

คุณณิชากล่าวว่า ถ้ามองภาพรวม คะแนนเฉลี่ยของทุกประเทศ "ตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์" โดยที่หนักคือด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ส่วนวิทยาศาสตร์ยังค่อนข้างทรงตัว ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นเพราะการระบาดของ โควิด 19 แต่ประเทศที่ทำได้ดียังคงเป็นประเทศเดิมๆ ในฝั่งเอเชีย อย่างสิงคโปร์ จีน (บางจังหวัด) ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ส่วนยุโรปมีเอสโตเนีย ที่พอจะโผล่มาแข่งได้

ส่วนเหตุผลที่ประเทศไทยคะแนนต่ำลง ส่วนตัวเรามองว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว และจากคะแนนสอบเราเห็นว่ามีเด็กเก่งแค่หยิบมือเดียว ส่วนเด็กกลุ่มใหญ่ที่เข้าร่วมสอบยังทำคะแนนได้น้อย จึงทำให้คะแนนเฉลี่ยของเราต่ำกว่ามาตรฐานในทุกทักษะ

“ข้อสอบ PISA ยากไหม”

คุณณิชา มองว่า PISA เป็นข้อสอบที่ยากพอสมควร และมีความแตกต่างจากข้อสอบอื่นๆ ในระบบการศึกษาไทย เนื่องจากเน้นคิดวิเคราะห์ สื่อสาร และต้องอธิบายเยอะมาก โดยมีโจทย์ที่เชื่อมโยงกับ ปรากฏการณ์ในโลกความจริง ซึ่งข้อสอบก็มีทั้ง ‘อัตนัย’ และ ‘ปรนัย’ ที่บางข้อผู้ใหญ่ยังตอบให้ถูกได้ยากเลย

คุณณิชาเสริมว่า หากเด็กไทยไม่คุ้นเคยกับการอ่านจับใจความยาวๆ หรือไม่มีสมาธิมากพอ คะแนนเด็กไทยจะแย่แน่นอน

"การสอบ PISA วัดอะไร?"

PISA ในส่วนแรกคือการทำแบบทดสอบ 3 วิชา โดยโจทย์ข้อสอบมีการแปลภาษาให้เด็กประเทศนั้นๆ มาเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่สองคือเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของเด็กนักเรียน ทั้งด้านคุณภาพชีวิตในโรงเรียน และสถานะครอบครัวที่เขาอยู่เพื่อหาคำตอบว่า สภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนกับเรื่องคะแนนสอบมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง โดยการประเมินนี้ใช้วิธีสุ่มเลือกจากเด็กจากทั่วประเทศ จากโรงเรียนสังกัดต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพตัวแทนของคุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศ

หากเราดูที่คะแนน PISA อย่างเดียวมันก็แค่บอกว่าประเทศนั้นได้เยอะ ประเทศนี้ได้น้อย ซึ่งจะทำให้เรามองข้ามจุดอื่นๆ ที่บอกว่าเด็กกลุ่มไหนต้องการความช่วยเหลือ หรือระบบอะไรที่ควรพัฒนาต่อ จึงอยากให้มองให้กว้างขึ้นมากกว่าแค่คะแนนสอบ

นักวิจัยอิสระชี้ คะแนน PISA ไม่มีทางดีขึ้น ถ้ายังสนับสนุนแค่เด็กเรียนเก่ง

"อะไรที่เด็กไทยทำได้ดี?"

คุณณิชาชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ PISA สำรวจคือ “Resilient students” หมายถึงนักเรียนที่ยากจนแต่มีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับสูง

ปกติแล้วในประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงอย่างไทย สถานะครอบครัวส่งผลต่อคะแนนพอสมควร กล่าวคือ ถ้าเด็กมาจากครอบครัวร่ำรวยก็มีแนวโน้มจะมีคะแนนสูงไปด้วย แต่ประเทศไทยมีนักเรียนที่เป็น resilient student ถึง 15% นับเป็นอันดับที่ 9 ของทุกประเทศที่เข้าสอบ ซึ่งแสดงว่า จริงๆ เด็กทุกคนแม้ในครอบครัวยากจนก็มีศักยภาพอย่างมากที่จะเรียนรู้ให้ดีได้ ถ้าระบบการศึกษาเราช่วยสนับสนุนเด็กยากจนมากกว่านี้ พวกเขาจะไปได้ไกลขนาดไหน

"สิ่งที่น่าเป็นห่วง?"

คุณณิชากล่าวว่า PISA ให้ความสำคัญกับการติดตามเรื่องความเหลื่อมล้ำมาก ซึ่งวิธีหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศคือ ผลการเรียนของเด็กคนหนึ่งขึ้นกับพื้นเพที่บ้านแค่ไหน ถ้าขึ้นกับพื้นเพมากก็แปลว่าเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมาก กับ อีกวิธีหนึ่งคือ ดูว่า ในประเทศหนึ่งๆ มีสัดส่วนเด็กที่ ทำคะแนนได้ดีเท่าไหร่ และ เด็กที่ทำคะแนนได้น้อยเท่าเท่าไหร่ ซึ่งถ้ามีเด็กที่ ทำคะแนนได้ดีจำนวนน้อย และเด็กที่ทำคะแนนได้น้อยจำนวนมาก จะเกิดภาวะ“เก่งกระจุก อ่อนกระจาย” อันนี้ก็แสดงว่าระบบการศึกษามีความเหลื่อมล้ำมาก

ถ้าดูข้อมูลประเทศไทย จะพบเรื่องที่น่าตกใจคือ มีเด็กไทยที่มีทักษะอยู่ในระดับสูง (high-performer) แค่ 1.3% ส่วนอีก 46.3% เป็น เด็กที่ทำคะแนนได้น้อย มีทักษะต่ำกว่าที่เด็กวัย 15 ปีควรจะทำได้ (low performer) ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศคะแนนอันดับหนึ่งอย่างสิงคโปร์ จะพบว่าเด็กส่วนใหญ่ถึง 44.5% เป็น high performer และมีเด็กที่เป็น low performer แค่ 4 % เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้ ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยไม่ได้ต่างจากปีก่อนๆ เนื่องจาก เด็กส่วนใหญ่คะแนนตกลงทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน

นอกจากนี้ อีกข้อมูลหนึ่งที่น่ากังวลใจมากกว่าคะแนนสอบรวม คือ สัดส่วนเด็กที่กำลังอดมื้อกินมื้อ คำถามหนึ่งในแบบสอบถาม ถามนักเรียนว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา เคยต้องอดอาหารเพราะไม่มีเงินบ้างไหม ผลปรากฏว่า เด็กไทยเกือบ 30% ตอบว่าเคย ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่เข้าสอบ ซถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเราไม่คิดว่านักเรียนจำนวนมากในประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะนี้ และถ้าเด็กท้องว่าง พวกเขาจะมีกะจิตกะใจสอบได้ยังไง

"เพราะเด็กไทยมองว่าการสอบ PISA ไม่สำคัญหรือเปล่า?"

คุณณิชา บอกว่าเรื่องอาจมีส่วน เพราะการสอบ PISA ไม่ได้มีผลได้ผลเสียกับนักเรียน และเด็กส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะทำให้ดี หากเขามีเรื่องในชีวิตที่สนใจมากกว่า  ทว่า ที่น่าคิดมากกว่าคือ เด็กประเทศอื่นก็น่าจะคิดเหมือนกัน แต่ทำไมพวกเขาถึงตทำให้คะแนนออกมาดีได้ สิ่งนี้สะท้อนว่าเด็กไทยไม่ได้อยากจะทดลองประเมินศักยภาพตัวเองหรือเปล่า

สมมุติถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจกับการเรียน เราจะตระหนักดีว่าการสอบ PISA คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เรารู้ศักยภาพตัวเอง แต่ถ้าเด็กไทยยังมองว่าไม่เกี่ยวกับชีวิต และยังคงทำแบบส่งๆ ไป มันก็บ่งบอกคุณภาพของการศึกษาเราได้เหมือนกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจสรุปว่าเพราะเด็กไม่ตั้งใจสอบเลยทำข้อสอบไม่ได้ คิดว่าสาเหตุที่ใหญ่กว่านั้นคือ ข้อสอบ PISA เน้นทักษะการคิดขั้นสูง ทั้งการอ่านจับใจความ การวิเคราะห์ การเขียนตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งต่างจากรูปแบบการเรียนในระบบการศึกษาไทย

ระบบการศึกษาไทย

"ข้อเสนอแนะ"

คุณณิชากล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว ตอนนี้ไทยต้องการระบบการศึกษาที่เป็น “Resilient system” คือ “ล้มแล้วลุกได้” มีความสามารถที่จะเผชิญวิกฤต ต่างๆ เพราะนอกจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โรงเรียนเปิดสอนไม่ได้ และยังมีความเปลี่ยนแปลงอื่นอีกอย่างเทคโนโลยีที่เข้ามากระทบการศึกษาและชีวิตของเด็กอีก

ข้อเสนอแนะเร่งด่วนอย่างแรกคือ เด็กไทยต้องมีความมั่นคงทางอาหาร คือให้เด็กอิ่มท้องก่อนเข้าเรียน ซึ่งเข้าใจว่าที่ผ่านมามีการเพิ่มงบไปบ้างแล้ว แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ และเราอยากให้การดูแลเรื่องอาหารกลางวันขยายไปถึงระดับชั้น ม.3 เลย ส่วนเด็กยากจนต้องมีการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

เร่งด่วนที่สองคือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ช่วย ผลักดันกลุ่มเด็กเรียนอ่อน ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราต้องยกระดับเขาขึ้นมา อันนี้ต้องดูตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่เขามีพื้นที่ให้ทบทวนหลังเลิกเรียน โดยอาจจะมีครูหรืออาสาสมัครเข้ามาช่วย นอกจากต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และไม่ควรแยกห้องเด็กเก่ง หรือเด็กอ่อนออกจากกัน เพราะเด็กจะไม่ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งยิ่งเพิ่มช่องความเหลื่อมล้ำให้ใหญ่ขึ้นเข้าไปอีก

นอกจากนี้ เรื่องพื้นฐานที่ต้องพัฒนาคือ ศักยภาพครู เพราะในบริบทของเมืองไทยมันมีเรื่องภาระงานครู เราจะพัฒนาครูไม่ได้เลยถ้าครูยังต้องมานอนเวร ทำเอกสารธุรกรรม ทำเรื่องเบิกค่าอาหารกลางวัน ซึ่งต่างจากในประเทศอื่นที่ครูมีหน้าที่สอนและหาทางเพิ่มศักยภาพการเรียนของเด็กเท่านั้น

คุณณิชาทิ้งท้ายว่า จริงๆ เรามีเด็กจำนวนหนึ่งที่เรียนเก่งไม่แพ้เด็กสิงคโปร์ แต่ปัญหาคือนับเป็นสัดส่วนน้อยไปหน่อย ซึ่งประเทศเราไม่มีทางพัฒนาได้ด้วยคนเก่งเพียงหยิบมือเดียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related