ศธ. แจงเหตุผลคะแนน PISA อันดับเด็กไทยตกลง ผลประเมินทั่วโลกเหตุจากสถานการณ์โควิดการเรียนรู้ของเด็กอาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ และความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก เร่งตั้งคณะทำงานแก้ไข
จากกรณีข่าวที่ถูกสังคมจับตามองกับปัญหาที่ผลคะแนนการทดสอบ PISA ของเด็กนักเรียนไทยประจำปี 2022 พบว่าแย่ลงในทุกทักษะเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน ทั้งด้านคณิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดย PISA ระบุว่าในการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ คะแนนเฉลี่ยในทุกทักษะของเด็กไทยต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อน ๆ นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คะแนนของเด็กไทยลดลงไปกว่า 30 คะแนน ส่วนคะแนนด้านการอ่านลดลงไปกว่า 60 คะแนน
ล่าสุด นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือกับหน่วยงานในสังกัด รวมถึง สสวท.และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงประเด็นผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทยที่มีคะแนนต่ำลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้ง 3 ด้าน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยทั้งเรื่องของผลคะแนน PISA และผลคะแนนภาษาอังกฤษ โดยได้กำชับมายัง ศธ. ให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน
ศธ.จึงแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันดูแลแก้ไขในเรื่องดังกล่าว โดยมีปลัด ศธ. เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อหาทิศทางแก้ปัญหา พัฒนาความคิดความอ่านด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงภาษาอังกฤษ และพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการจัดการคิดวิเคราะห์ในอนาคต
สำหรับคะแนนประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA เป็นการวัดผลเกี่ยวกับเรื่องความคิดความอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งประเมินทุก 3 ปี โดยรอบล่าสุดคือปี 2022 เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ผลการประเมินที่ได้จะเป็นตัวชี้บอกถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศ รวมทั้งคุณภาพของบุคลากรในประเทศ และยังถูกใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และความน่าลงทุนของประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติสถานการณ์ โควิด 19 ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ การเรียนรู้ของเด็กอาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากการใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์จากห้องเรียนขาดหายไป และการวัดผลประเมินของ PISA จำเป็นต้องใช้ตรรกะเชิงวิเคราะห์ เด็กอาจจะตอบในเชิงเหตุผลลดลงระหว่างที่ขาดระยะการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งตัวอย่างของเด็กที่มาทดสอบเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนผลการศึกษา ถึงไม่ใช่ผลของทั้งประเทศ แต่ก็ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้
“โจทย์ใหญ่ที่ต้องเป็นมาตรการเชิงรุกในการติดตามวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การทำให้ลำดับผลประเมินของเด็กไทยกลับมาเท่าเดิมให้ได้ และคาดหวังว่าในการสอบครั้งหน้า ปี ค.ศ. 2025 ต้องทำให้ลำดับคะแนนในภาพรวมของเด็กไทยดีขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียน ครู และลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาในประเทศ”
ผอ.สสวท. กล่าวว่า จากผลการประเมินของประเทศไทย ตั้งแต่ PISA 2000 – 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ แต่หากมองในภาพรวมของผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความห้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด 19
สำหรับระบบการศึกษาไทย ยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลสอบ PISA ไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี แพ้เวียดนามทั้งคณิต วิทย์ และการอ่าน
ไอติม เผยผลสอบ PISA สะท้อนคุณภาพเด็กไทย จี้รัฐถึงเวลาปฏิรูปการศึกษา
โซเชียลเดือด ตรีนุช เทียนทอง โหวตนายก ชี้การศึกษาล้าหลังเพราะมีคนถ่วง