svasdssvasds

The Battle ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. กับแนวคิดเทคโนโลยีสุดล้ำ

The Battle ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. กับแนวคิดเทคโนโลยีสุดล้ำ

4 ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. ประชันแนวคิดเทคโนโลยีสุดล้ำ ทั้งแนวทาง Smart Enough City , อินเทอร์เน็ตฟรีทุกพื้นที่ และการนำระบบ AI เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นต้น

4 ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. นำเสนอไอเดียทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นแนวทาง Smart Enough City , การให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี ครอบคลุมทุกพื้นที่ของ กทม. , การเปลี่ยนรถทั้งหมดของ กทม. ให้เป็นรถ EV รวมถึงใช้ระบบ AI แก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น ส่วนแนวคิดของแต่ละคนจะสุดล้ำขนาดไหน ต้องไปติดตาม !

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์  

“เทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นจุดขายของผมเลย ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่า กทม. เสียโอกาสมาเยอะ เมืองอื่นเขาทำสำเร็จมาแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องอินเทอร์เน็ตฟรี ต้องเป็นสวัสดิการของคน กทม.ครับ

เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้คนเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน เด็กไทยที่เรียนออนไลน์วันนี้ พ่อแม่ต้องเสียเงินติดตั้ง WiFi 600 - 800 บาท ทำงานที่บ้านก็ต้องเสียค่า WiFi หรือแม้กระทั่งคนค้าขาย แต่ถ้าเกิดเขาสามารถเข้าถึงออนไลน์ได้ มันจะสร้างโอกาสให้อย่างมหาศาล รวมทั้งคนเฒ่าคนแก่ ถ้ามี WiFi ฟรี ก็ทำให้เขาถึงมือหมอได้อย่างรวดเร็ว การติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างฉุกเฉิน ก็ทำได้อย่างทันท่วงที

นโยบาย WiFi ฟรี 1.5 แสนจุด ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ใช่เฉพาะการบริการประชาชนทางด้านสวัสดิการพื้นฐานเท่านั้น ในส่วนของ กทม. เองก็ได้ใช้ด้วย ยกตัวอย่าง กล้องวงจรปิดในปัจจุบันของ กทม. ไม่ใช่กล้องที่ติดตั้งด้วยระบบ WiFi ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนถูกกรีดป้าย นั่นกรีดป้ายนะครับ แล้วถ้ากรีดคนจะทำอย่างไร ดังนั้นกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยน ทำให้กล้องวงจรปิดเชื่อมโยงกันด้วยระบบ WiFi เพื่อป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

และผมจะนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม หรือน้ำเน่า ที่ระบบประตูน้ำ เครื่องสูบน้ำ ยังใช้คนไปเปิดปิดอยู่เลย แต่ถ้าเป็นระบบอัตโนมัติผ่าน WIFI การปิดเปิดประตูน้ำจะมีการตอบสนองต่อฝนตกได้ทันท่วงที รวมทั้งระดับน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยา

หรือแม้กระทั่งปัญหาการจราจร วันนี้หลายเมืองทั่วโลกใช้ระบบ  AI คอมพิวเตอร์มาจัดการ กรุงเทพฯ ก็ต้องทำครับ การติดต่อกับเขต ก็สามารถใช้บริการผ่านมือถือได้ เพราะว่า WiFi ฟรีทั่วกรุงเทพฯ ก็จะช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพ ติดตามผลได้ และที่สำคัญลดปัญหาคอร์รัปชัน เพราะมีความโปร่งใสครับ

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

ในวันนี้สิ่งสำคัญที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ คือบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดี ถ้าเกิดสิ่งสำคัญที่สุดยังดีไม่ได้ แล้วคุณใส่เทคโนโลยีเข้าไป ผมคิดว่ามันจะเป็นผักชีโรยหน้า

ถ้าทางกายภาพมันยังไม่ดี เรื่องพื้นฐานมันยังไม่ดีเลย คุณเติมเทคโนโลยีเข้าไป ก็จะเสียงบประมาณ ผมว่า ณ วันนี้คนกรุงเทพฯ กลัวและขยายกับคำว่าอัจฉริยะมากนะ เพราะมันไม่อัจฉริยะจริง เหมือนกับเครื่องจักรคุณเก่ามากๆ จะพังอยู่แล้ว และคุณไปใส่เซ็นเซอร์ มันจะมีประโยชน์อะไร

ดังนั้นผมจึงคิดว่าโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะต้องทำให้ดีก่อน แต่เทคโนโลยีมันต้องทำอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การเพิ่มสิทธิในการรู้ให้กับคน กทม. เช่น ปัญหาการเกิดมลพิษในเขตต่างๆ มันต้องมีระบบสารสนเทศที่เข้าไปตรวจสอบได้ เขาจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

หรือเรื่องของข้อมูลด้านการจราจร ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม การระบายน้ำ คือผมช็อกมากๆ นะ เมื่อเห็นงบสารสนเทศที่ขอเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม ขอไป 300 ล้านบาท ถูกตัดเหลือ 60 ล้านบาท

ดังนั้นเนี่ยเทคโนโลยีเบื้องต้นคือ สิทธิที่จะรู้ ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำท่วม ท่วมแล้วจะระบายภายในกี่นาที การจราจร รถเมล์กำลังจะมาภายในกี่นาที ต้องมีความแม่นยำตรงนี้

นี่คือเบื้องต้นก่อน แล้วหลังจากนี้ ค่อยใช้ระบบ IoT หรือ  Internet of Things ในการบริหารจัดการที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การระบายน้ำ ในการบริหารเปิดปิดประตูน้ำ ให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด จะเปิดจุดไหน จะปิดจุดไหน เพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด จะต้องลงทุนในเรื่องพวกนี้ด้วยครับ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

Smart City เป็นคำที่คนพูดกันเยอะ เมืองอัจฉริยะต่างๆ แต่ผมไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งดีมาก ชื่อว่า The Smart Enough City เขียนโดย Ben Green เกี่ยวกับเมืองที่ฉลาดกำลังเหมาะ

ที่ผ่านมา คนใช้เทคโนโลยีมี 2 รูปแบบ คือเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโดย Supplier หรือ คนขายของ กับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโดยเอาคนเป็นตัวตั้ง คือต้องเอาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คน ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่สุดท้ายแล้ว ลงทุนไปก็ไม่ได้ประโยชน์

นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี โดยหลักคือว่า ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ในแต่ละ 9 ด้าน 9 ดีเนี่ย ใช้เทคโนโลยีนำทั้งหมดเลย อย่างเรื่องความปลอดภัย ก็จะใช้ CCTV ที่มีระบบ Face Recognition สามารถตรวจจับใบหน้าได้ การขอดูกล้องที่สะดวกขึ้น มีการนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มารวมกัน แล้วบอกว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง จุดไหนมีอุบัติเหตุบ่อย จุดไหนมีอาชญากรรมเยอะ เป็นต้น

หรือเรื่องสุขภาพ รามีแนวคิดใช้ระบบ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) ให้บริการด้านสุขภาพที่เข้าถึงชุมชน โดยใช้รถที่ติดตั้งจอ  มีระบบออนไลน์เชื่อมต่อไปยังหมอที่อยู่ประจำศูนย์ เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ตอบความต้องการ แต่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ

และเราจะมีอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน อสท. ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่คล่องเรื่องเทคโนโลยี แล้วคอยสอนเทคโนโลยีให้กับคนในชุมชน เช่น ถ้าชาวบ้านต้องการทำแอปฯ หาคนเย็บผ้าในชุมชน  อสท. ก็จะสอนชาวบ้านได้ เพราะที่ผ่านมา มีแอปฯ ดีๆ เยอะ แต่คนใช้ไม่เป็น

รวมทั้งเอาข้อมูลในชุมชนจัดทำเป็น Open Data เพื่อให้ว่ารู้ใครอยู่ตรงไหน ใครป่วยเป็นอะไร อสท.จะช่วยเอาข้อมูลพวกนี้ แชร์เข้ามาที่ส่วนกลางด้วยครับ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ

อันนี้สำคัญเลย เพราะผมคิดว่า ต้องมีการบริหารจัดการหรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย เพื่อให้การทำงานมันง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มอเตอร์ไซค์ขึ้นทางเท้า ที่ผ่านมาก็มีการจับกัน ช่วงที่ผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. กว่า 3 ปี มีการจับและปรับไป 46 ล้านบาท

ที่ผ่านมาใช้แรงคนอย่างเดียว เอาเทศกิจไปซุ่ม ผมซุ่มเองบ้าง แต่เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาช่วย อย่างระบบ AI หรือกล้อง มาช่วยจับ ซึ่งผมเคยเสนอไปตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ปีที่ 2 แล้ว แต่ว่ามันไม่ผ่าน พอไม่ผ่าน ก็ต้องใช้เฉพาะสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ถ้ามีเทคโนโลยีมาเสริม มันจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ครับ

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ

related